บัตรโดยสารร่วม ใบเดียวท่องทั่วกรุง ใช้ทุกระบบขนส่งมวลชน มิถุนา 2563 มาแน่!
หลังจากที่ได้มี นโยบายบริหารจัดการพัฒนาตั๋วโดยสารร่วม ให้เป็นระบบ 4.0 (ระบบเปิด) และมีการหารือกันมานานแรมปี ล่าสุดปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดให้ทุกหน่ายงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งด่วน โดยมี ตัวแทนจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า MRT, การรถไฟแห่งประเทสไทย (รฟท.) ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า BTS, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ, สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ, ธนาคารแห่งประเทสไทย, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เร่งพัฒนาระบบหัวอ่าน ให้สามารถอ่านข้อมูลของบัตรโดยสารรถไฟฟ้าแบบครอบคลุมระบบหลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร ถือบัตรเดียวสามารถใช้ข้ามระบบ โดยในทางเทคนิคจะต้องพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่เครื่องอ่านบัตรของแต่ละประตูทางเข้าออกสถานี, ระบบคอมพิวเตอร์ของแต่ละสถานี, Clearing House ของแต่ละหน่วยงาน ขีดเส้นให้ดำเนินการแล้วเสร็จ ภายในเดือนพฤษภาคม 2563 และคาดว่าจะใช้ตั๋วโดยสารร่วม ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 นี้ เป็นต้นไป
จากที่ผ่านมา รฟม. ได้รับมอบหมายให้พัฒนาระบบตั๋วโดยสาร EMV อันจะต้องมีความเชื่อมโยงกับธุรกรรมการเงินผ่าน (Euro / Master / Visa Card) บัตรเครดิตและอีมันนี้ต่างๆ ซึ่งมีความล่าช้ามาเกือบ 2 ปีแล้วนั้น ทางหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ยังขอยืดระยะเวลาออกไปอีกถึงเดือนเมษายน 2564 ทางมติเห็นว่าใช้เวลานานเกินไป
ทั้งนี้จึงมีความเห็นว่า ให้ดำเนินการปรับและพัฒนา จากบัตรโดยสารที่ได้ให้บริการประชาชนอยู่แล้วในปัจจุบันก่อน ซึ่ง บัตรรถไฟฟ้าเดิมมี 4 รูปแบบ นั่นคือ 1.บัตรแรบบิท (Rabbit Card) ของบีทีเอส ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรแรบบิท ใช้บริการกับรถไฟฟ้าบีทีเอส 12 ล้านใบ, 2. บัตรแมงมุม ของ สนข, มีผู้ถือบัตร จำนวน 2 แสนใบ, 3. บัตรเอ็มอาร์ทีพลัส ( MRT plus) ของ รฟม. ที่ใช้กับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน มีผู้ถือบัตร 2.2 ล้านใบ และ 4. บัตร Smart Pass ของ รฟท. ที่ใช้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีผู้ถือบัตร 4 แสนใบ รวมทั้งสิ้น 14.6 ล้านใบ โดยพัฒนาระบบซอร์ฟแวร์หัวอ่าน ให้บัตรโดยสารแต่ละระบบขนส่งสาธารณะ สามารถใช้ข้ามระบบได้ โดยภายใน 4 เดือนหลังจากนี้ แต่ละหน่วยงานต้องกลับไปหารือร่วมกัน เรื่องการออกแบบและพัฒนาระบบ, ข้อตกลงทางธุรกิจ, ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบ และการทดสอบการใช้งาน ในส่วนบัตร EMV ที่ รฟม. ดำเนินการอยู่ก็ยังจะดำเนินการต่อไป
ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะมีการพัฒนาระบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ให้เข้ากับระบบบัตรโดยสารร่่วม และศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง เพื่อให้สามารถรองรับบัตรได้ทั้ง 3 รูปแบบ รวมถึง รฟม.จะพัฒนาระบบตั๋วร่วมแบบที่ผูกกับบัญชีในลักษณะของ Account Based Ticketing หรือ ABT เพื่อรองรับบัตรประเภทอื่นๆ เช่น บัตร EMV หรือ QR Code ได้ด้วยเลย และทุกหน่วยงานกำลังเร่งดำเนินการ
ในส่วนการดำเนินงานระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (ETCS) ได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หารือกับ กรมทางหลวง (ทล.) และ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อพัมนาระบบ ETCS ให้เป็นระบบไร้ไม้กั้นอีกด้วย ซึ่ง สนข. จะผลักดันให้มีการพิจารณาจัดทำบันทึกความร่วมมือระหว้่างกระทรวงคมนาคม กับสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อศึกษาและจัดทำมาตราฐานกลางระบบ ETCS ของประเทสไทยให้เป็นมาตราฐาน
ถือเป็นข่าวดีที่พวกเราประชาชนคนกรุงต่างรอคอย ไม่ต้องเสียเวลาเข้าแถวต่อคิวยาวเหยียด ช่วยลดปัญหาการคับคั่งของมหาชนในชั่วโมงเร่งด่วน ทำให้การเดินทางคล่องตัว ใช้บัตรใบเดียวเดินทางทั่วกรุง ถึงเวลานั้นเมื่อไหร่ เดือนมิถุนายน เรามาลุ้นดูกันอีกทีว่าหน้าตาของบัตรจะเป็นอย่างไร และทำอะไรได้บ้าง