TOP

พระราชหัตถเลขา ร.7 พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก แก่ปวงชนชาวไทย

หากเราเดินทางผ่านไปมาแถวเกาะรัตนโกสินทร์ บริเวณวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินกลางกับถนนดินสอ จะเห็นที่ตั้งของ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” อนุสรณ์สถานที่โดดเด่นอยู่กลางวงเวียน ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้รำลึกถึงความสำคัญของประชาธิปไตย ที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก่เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

ก่อนที่ราชอาณาจักรไทยจะมีรัฐธรรมนูญ มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาก่อน ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญยิ่งในเชิงการเมืองการปกครองของประวัติศาสตร์ไทย เมื่อ “คณะราษฎร” ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการสายทหารบก ทหารเรือ และสายพลเรือน จำนวน 99 คน ภายใต้แกนนำของพระยาพหลพลพยุหเสนา ร่วมกันยึดอำนาจการปกครองประเทศจากพระมหากษัตริย์ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้เป็น “ระบอบประชาธิปไตย”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) จึงได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก่ เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 หลังจากนั้น ทรงสละราชสมบัติ ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ขณะทรงประทับอยู่ที่สหราชอาณาจักร หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงปีเศษ โดยทรงมีเหตุผลในการตัดสินพระทัย ตามความในพระราชหัตถเลขา (ต้นฉบับ) ดังนี้

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้า ให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้า ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียง ในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เปนอันหมดหนทาง ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เปนต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเปนของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เปนพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวง อันเปนของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์”

คณะราษฎรได้สร้างสัญลักษณ์เพื่อเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงความสำเร็จ ที่ได้ก่อกำเนิดประชาธิปไตยให้กับสังคมไทย ภายใต้รูปแบบของ ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ ที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ก่อสร้างขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 จากดำริการก่อสร้างของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ต้องการให้มีอนุสรณ์สถาน ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงความสำคัญของประชาธิปไตย และมีการมอบหมายให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุมและดูแลการก่อสร้างอนุสาวรีย์ ซึ่งปัจจุบันรัฐธรรมนูญล่าสุด “ในหลวง รัชกาลที่ 10″ ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

 

AROUND ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้ทรงพระปรมาภิไธย ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุด พระราชทานรัฐธรรมนูญ “ฉบับแรกอันเป็นฉบับถาวร” เพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ จึงได้ถือเป็นวันที่ระลึกถึงความสำคัญของชาติวันหนึ่ง

 

Photo Credit : https://twitter.com

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด