‘ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ’ ต่อยอดผ้าถิ่นไทยสู่ระดับสากล
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชทานเหรียญรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทานระดับประเทศ และทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าชนะการประกวด นิทรรศการเหรียญพระราชทานและแฟชั่นโชว์ “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ในงาน OTOP MIDYEAR 2021 CELEBRATE THAI CULTURE โดย “กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย” ร่วมกับ “สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” ได้สนองแนวพระดำริ ภายใต้แนวคิด “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เป็นที่นิยมในทุกเพศทุกวัย ทุกโอกาส และสร้างรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย และสร้างศิลปินช่างทอผ้ารุ่นใหม่
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของไทย ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ นำไปสู่การประกวดลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ซึ่งดำเนินการมาถึงรอบตัดสิน ซึ่งตลอดระยะเพียง 8 เดือน ที่มีการเริ่มดำเนินโครงการมีผู้ประกอบการ ช่างทอผ้าส่งผ้าเข้าประกวดใน 15 ประเภท รวม 3,214 ผืน และมีผ้าที่ผ่านเข้ารอบระดับประเทศ 11 ประเภท รวม 50 ผืน จากผู้เข้าประกวด 46 คน
โดยภายในงาน ยังได้จัดนิทรรศการผ้าชนะการประกวดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และนิทรรศการเหรียญพระราชทาน สำหรับผู้ชนะการประกวดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ แบ่งออกเป็น 5 โซน ได้แก่ 1. โซนแสดงพระฉายาลักษณ์และพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงให้ความสำคัญและทุ่มเทพระวรกายในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างผ้าไทย 2. โซนแสดงผ้าลายพระราชทานที่เข้ารอบจำนวน 150 ผืน และจัดแสดงผ้าที่ได้รับรางวัล 3. โซนแสดงเสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าทอของผู้เข้าประกวด มาตัดเย็บเป็นชุดที่มีดีไซน์ทันสมัยจากแบรนด์ไทยดีไซเนอร์ดัง 4. โซนนิทรรศการใยไหม จุดแสดงกระบวนการผลิตผ้าทอมือ 5. นิทรรศการเหรียญพระราชทานฯ ประกอบด้วย เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ นายศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ศิลปินและประติมากร ผู้มีชื่อเสียงด้านการวาดภาพบุคคล ออกแบบเหรียญสำหรับพระราชทาน
ทั้งนี้หลังจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และนำคำพระราชทานเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาต่อยอด ที่ครอบคลุมในทุกมิติทั้งด้านคุณภาพของสี โทนสี คุณภาพเส้นใย และเทรนด์ที่จะสามารถโดดเด่นอยู่ในแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ในอนาคต รวมถึงวัสดุที่เลือกใช้ลวดลายและเทคนิคการทอผ้าแบบต่างๆ นำไปอธิบายสู่กลุ่มศิลปินทอผ้า พร้อมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการโดยผู้เชี่ยวชาญผ้าไทย กูรูด้านแฟชั่นและดีไซเนอร์ชื่อดังร่วมมาให้ความรู้ กลุ่มศิลปินทอผ้าได้นำความรู้ไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตนเองต่อไป ก่อให้เกิดรายได้แก่กลุ่มทอผ้า โดยเฉพาะผ้าลายขอมากถึง 300 ล้านบาท และช่วยกระตุ้นยอดขายแก่ผ้าลวดลายต่างๆ เป็นอย่างมาก แม้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็ตาม
นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เผยว่า ภายในงานยังได้จัดแฟชั่นโชว์ผลงานของ 12 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชื่อดัง ได้แก่ SIRIVANNAVARI Couture, HOOK’S by PRAPAKAS, THEATRE, ISSUE, WISHARAWISH, IRADA, TIRAPAN, ASAVA, SANSHAI, VATIT ITTHI, ARCHIVE026, SSAP โดยนำผ้าทอของผู้เข้าประกวดมาตัดเย็บเป็นชุดที่มีดีไซน์ทันสมัย ภายใต้แนวคิด “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” สะท้อนมุมมองของผ้าไทยในอีกมิติหนึ่ง และเห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาลายผ้าทอ ให้เข้ากับยุคสมัยแต่ยังคงอัตลักษณ์ เสน่ห์ของความเป็นไทยไว้
ในการนี้พระราชทานรางวัลเหรียญทองพร้อมของรางวัลแก่ นายมีชัย แต้สุจริยา บ้านคําปุน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับรางวัล The Best of The Best จากผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ และพระราชทานรางวัลเหรียญทอง ให้แก่ นายธงชัย พันธุ์สง่า จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับ รางวัลสีเทรนด์บุ๊ค จากประเภทผ้ายกเล็ก และพระราชทานเหรียญรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดลายผ้าพระราชทาน ประเภทผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ, ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป, ผ้าขิด, ผ้าจกทั้งผืน, ผ้ายกเล็ก, ผ้าแพรวา, ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์, ผ้าบาติก-ผ้ามัดย้อม และ ประเภทผ้าเทคนิคสร้างสรรค์
นายมีชัย แต้สุจริยา ผู้ชนะเลิศรางวัล The Best of The Best กล่าวว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ โดยผ้าทอผืนนี้ได้รวมเทคนิคการทอผ้าขั้นสูงเอาไว้ถึง 5 แบบในผืนเดียว โดยนำ 4 เทคนิคของวิธีการทอผ้ากาบบัว ซึ่งคิดค้นขึ้นเอง อย่าง ‘ผ้าปูม’ หรือ ผ้ามัดหมี่, ขิด หรือ ยก, มับไม (ไหมเกลียวหางกระรอก) มารวมกันในผ้าผืนเดียว กลายเป็นผ้าทอชนิดใหม่ ซึ่งตั้งชื่อว่า ผ้ากาบบัว สร้างเอกลักษณ์ให้กับผ้าทออุบลราชธานี กลายเป็นผ้าทอประจำจังหวัด ในปี พ.ศ. 2543 มาผสานกับเทคนิคการ จก และย้อมสีด้วยครั่ง เนื่องจากสีที่ได้จะคงทนที่สุดในบรรดาสีธรรมชาติ