TOP

สุดล้ำ! แก๊งหุ่นยนต์อัจฉริยะ FACO สัญชาติไทย ผู้ช่วยแพทย์พิชิตโควิด-19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ ทำให้ได้เห็นน้ำใจของกลุ่มคนมากมายหลากหลายสาขาอาชีพ หลั่งไหลไม่ขาดสายให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากทีมแพทย์และพยาบาลที่เป็นดั่งนักรบเสื้อกาวน์แนวหน้า ต้องตะลุยสู้กับเชื้อโรคระบาดอย่างผู้เสียสละดูแลรักษาผู้ป่วย จนหลายท่านติดเชื้อตามไปด้วยแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่บางส่วนปฏิบัติหน้าที่เป็นกองสนับสนุนการทำงานในโรงพยาบาล ก็กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อฯ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น พนักงานทำความสะอาด หรือเจ้าหน้าที่ส่งอาหาร เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงลดงานหนักของคุณหมอ พยาบาล ทำให้เกิดไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรม “หุ่นยนต์” ทำหน้าที่บางส่วนแทนคนจริง ซึ่งมันได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศจีนที่เป็นผู้นำ นักวิจัยชาวจีนได้ถ่ายทอดประสบการณ์การรับมือกับโควิด-19 ผ่านการตีพิมพ์ในวารสารวิจัย มีการแนะนำให้ประเทศต่างๆ ศึกษาความเป็นไปได้ ของการนำหุ่นยนต์มาใช้ช่วยสังคมในด้านต่างๆ อย่าง Social Robot เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพจิต ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสภาวการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ หรือแม้แต่ประเทศอิตาลี ในโรงพยาบาล Circolo เมืองวาเรซี แคว้นลอมบาเดียร์ ได้นำเอาหุ่นยนต์ 6 ตัว มาสลับใช้เฝ้าดูอาการของคนไข้ ทดแทนการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนได้ดีอีกด้วย

ประเทศไทยเราขณะนี้ ก็ได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ทางการแพทย์ ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยเช่นกัน เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ในการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ รวมทั้งลดการปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อ ใน โครงการ “FIBO AGAINST COVID-19: FACO” หรือเรียกสั้นว่า “FACO” ร่วมกับภาคีเครือข่าย 4 หน่วยงานภาคเอกชนชั้นนำ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ( ฟีโบ้ – FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), บริษัท ฟอร์มส์ ซินทรอน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) สร้างสรรค์แก๊งหุ่นยนต์ FACO สัญชาติไทยขึ้น เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ได้จริง 3 รูปแบบ

 

CARVER-Cab 2020a

หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (Free Navigate) ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย รับน้ำหนักสูงสุดได้ถึง 150 กิโลกรัม สามารถบรรจุถาดอาหารได้ถึง 20 ถาด ในคราวเดียว พร้อมฟังก์ชั่นฟอกอากาศ และฆ่าเชื้อไวรัส ตลอดการปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator
.

 

SOFA

หุ่นยนต์บริการที่ติดตั้งจอแสดงผล ที่สามารถแสดงข้อมูลการรักษา หรือผลการตรวจที่เชื่่อมโยงข้อมูลกับระบบของโรงพยาบาล โดยแพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลาง ให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย มีกล้องถ่ายความร้อน (Thermal Camera) เพื่อจับอุณหภูมิร่างกาย กล้องความละเอียดสูงที่สามารถขยายได้ถึง 20 เท่า ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจอาการจากสภาพภายนอกของผู้ป่วย อาทิ ตา ลิ้น ได้จากระยะไกล รวมถึงสามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบวิดีโอคอล

.

Service Robot

หุ่นยนต์ส่งยาและอาหารเฉพาะจุด สำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ สามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้อัตโนมัติ โดยการควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลาง ผู้ป่วยสามารถพูดกับหุ่นยนต์เพื่อเรียกแพทย์หรือพยาบาลได้

หุ่นยนต์ทั้งหมดเชื่อมต่อผ่านระบบไวไฟหลักของโรงพยาบาล และในอนาคตจะนำเทคโนโลยี 5G 2600 MHz มาเสริมความสามารถให้กับหุ่นยนต์ และข้อมูลส่งผ่านขึ้นคลาวน์ด้วย 5G 26-28 GHz

 

**************

เครดิตภาพ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

อ้างอิง: [1]Yang GZ, Nelson BJ, Murphy RR, Choset H, Christensen H, Collins SH, et. al. COVID-19 may drive sustained research in robotics to address risks of infectious diseases. Sci Robot 2020;5(40):eabb5589. doi:10.1126/scirobotics.abb5589.

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด