เจอกันพฤษภาคม 63 นี้! สวนสาธารณะลอยฟ้า ‘พระปกเกล้า สกายปาร์ก’ แลนด์มาร์กสีเขียวแห่งใหม่ของชาวกรุงเทพฯ
หลังกรุงเทพมหานครได้ประกาศเจตนารมณ์ในการผลักดันให้เมืองหลวงของไทยเป็น ‘กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว’ ในโครงการ Green Bangkok 2030 คณะทำงาน นำโดย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ร่วมกับภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย อาทิ กลุ่ม We Park และ กลุ่ม Big Tree ได้เดินหน้าตามแผน ที่จะทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพและยั่งยืนอย่างเต็มกำลัง โดยมีเป้าหมายสามประการ คือ
1. ระยะการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวไม่เกิน 400 เมตร
2. อัตราเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรเพิ่มจากปัจจุบัน 6.9 ตารางเมตรต่อคน เป็น 10 ตารางเมตรต่อคน
3. พื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมือง เพิ่มจากปัจจุบันร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 30 ซึ่งเป็นที่มาของสวนสาธารณะแห่งใหม่ จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปถึงปี 2573
กรุงเทพฯ ยิ่งน่าอยู่ กับสวนสาธารณะลอยฟ้า พระปกเกล้าสกายปาร์ก’
แค่เพียงช่วงต้นของปี 2563 พื้นที่สีเขียวในหลายมุมของกรุงเทพฯ ก็เริ่มก่อตัวให้เห็นถึงแนวโน้มว่าในปี 2573 ความเขียวขจีร่มรื่น จะมีให้พบเห็นอย่างหนาตา
และสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสวนสาธารณะที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของคุณภาพชีวิตพลเมือง และหนึ่งในสวนสาธารณะที่น่าจับตามองที่สุด
และจะกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน นั่นคือ ‘สวนสาธารณะลอยฟ้า พระปกเกล้าสกายปาร์ก’ โดยโครงการนี้ได้เริ่มต้นก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2562 ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า ให้เป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า ที่พร้อมด้วยมุมพักผ่อน ทางเดิน และทางจักรยานที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนคร กับฝั่งธนบุรี มีไฮไลท์เป็นจุดชมวิวที่งดงามกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้บนสะพาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมภูมิทัศน์ย่านกะดีจีน-คลองสาน และยังเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ดำเนินการค้างไว้อีกด้วย
ปัจจุบันโครงการปรับปรุง “สะพานพระปกเกล้าสกายปาร์ก” เป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า คืบหน้าไปกว่าร้อยละ 60 โดยส่วนที่จะเสร็จสิ้นก่อน คือปลายสะพานฝั่งพระนคร เหนือสวนสมเด็จพระปกเกล้า เขตพระนคร ตามด้วยปลายสะพานฝั่งธนบุรี เหนือสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ เขตคลองสาน รวมระยะทางประมาณ 280 เมตร ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ในเดือนพฤษภาคม 2563 สำหรับชื่ออย่างเป็นทางการของสวนสาธารณะลอยฟ้าพระปกเกล้าสกายปาร์ก ทางกรุงเทพมหานครได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตั้งชื่อ ผ่านเว็บไซต์ http://cpd.bangkok.go.th โดยเน้นการสื่อความหมายที่ชัดเจน และแสดงอัตลักษณ์ของสะพานแห่งนี้ โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 15,000 บาท ซึ่งได้ปิดการเสนอชื่อไปเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา และจะประกาศชื่อสะพานที่ได้รับเลือกให้ทราบต่อไป
11 ปอดแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ
นอกจากสวนสาธารณะลอยฟ้า “พระปกเกล้าสกายปาร์ก” แล้ว ยังมีพื้นที่สีเขียวใหม่อีก 11 แห่ง ที่รอให้คนกรุงเทพฯ ได้ไปใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในโครงการ Green Bangkok 2030 ได้แก่
1. สวนสาธารณะบริเวณทางแยกต่างระดับ ถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหารเขตลาดกระบัง พื้นที่ 18 ไร่
2. สวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร (ถนนบางขุนเทียนชายทะเล) เขตบางขุนเทียน พื้นที่ 37 ไร่
3. สวนปิยะภิรมย์ เขตบางกะปิ พื้นที่ 10 ไร่
4. สวนสันติพร เขตพระนคร พื้นที่ 2.5 ไร่
5. สวนชุมชน เขตบางรัก พื้นที่ 0.5 ไร่
6, สวนภายในซอยวิภาวดี 18 แยก 3 เขตจตุจักร พื้นที่ 3 ไร่
7. พื้นที่ภายในศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช เขตลาดกระบัง พื้นที่ 20 ไร่
8. พื้นที่สีเขียวภายใน ปตท. สำนักงานใหญ่ (ถนนวิภาวดีรังสิต) เขตจตุจักร
9. ภูมิทัศน์ทางเท้าริมถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร
10.พื้นที่ใต้ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก (บริเวณหน้าสถานีรถไฟฟ้าบางซ่อน) เขตบางซื่อ
11.พื้นที่ใต้ทางด่วนฉลองรัช (บริเวณซอยปรีดีพนมยงค์ 2) เขตวัฒนา
โดยสวนสาธารณะ พื้นที่ และทางเท้าเหล่านี้ จะเสร็จสมบูรณ์ภายในเวลาประมาณ 3 ปี สำหรับพื้นที่นำร่องลำดับที่ 1-7 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 ส่วนลำดับที่ 8 – 11 คาดว่าจะแล้วเสร็จในระหว่างปี 2564 และ 2565 ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเพิ่มปอดให้คนกรุงอย่างเป็นรูปธรรม และแน่นอนว่าจะต้องมีอีกหลายพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯ ที่รอ
ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่เพียงกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานต่างๆ ที่มาร่วมมือกันสร้าง ‘กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว’
ประชาชนหรือผู้ที่สนใจ ล้วนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ Green Bangkok 2030 ได้ หากมีพื้นที่ที่พร้อมมอบให้กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ ศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค็อก หรือที่ เฟซบุ๊กเพจ ‘Green Bangkok 2030’ เชื่อว่า…นี่จะเป็นอีกปรากฏการณ์แห่งความร่วมมือจากทุกหน่วยของสังคม ที่มาช่วยกันปลูกพืชพันธุ์พร้อมไปกับปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้เติบโตไปอีกหลายชั่วอายุคน แค่เพียงเปลี่ยน ‘ฉัน’ และเปลี่ยน ‘เรา’ ก็จะส่งผลให้เปลี่ยน ‘เมือง’ ก่อเกิดความแตกต่างด้วยสีเขียวจากหัวใจของทุกคน
เรื่อง : ปริม แสงอรุณ
ที่มา : กรุงเทพมหานคร | Bangkok News