ความสุขที่สะสมได้ ของ “โตโต้ – อัฏฐนัน หงษ์มณี”
ถึงแม้จะไม่รู้ว่า ‘ความสุข’ หน้าตาเป็นเช่นไร หากแต่เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้แล้วว่า ‘สิ่ง’ ไหนจะทำให้เรามีความสุข เมื่อนั้นคุณก็อาจเก็บเกี่ยว…สะสมความสุขของตัวเองได้เช่นเดียวกับที่ คุณโตโต้ – อัฏฐนัน หงษ์มณี เจ้าของแบรนด์กระเป๋าสุดเก๋ Aristotle ได้ค้นพบแล้วว่า การสะสมจาน ชาม และเครื่องแก้วคือสิ่งที่ทำให้มีความสุข นั่นจึงทำให้เขาค่อยๆ เก็บเกี่ยวสะสมความสุขเรื่อยมา โดยหากจะถามถึงจุดเริ่มต้นคงต้องย้อนกลับไปราว 10 ปีที่แล้ว
“โต้เป็นคนชอบจาน ชอบลายของจาน ชอบ Blue & White ดังนั้นชิ้นแรกๆ ที่เริ่มสะสมก็น่าจะเป็นจานฟ้าขาวก่อน ซึ่งจาน Blue & White นี้ก็จะมีหลายประเทศ อย่างทางฝั่งของไทยก็มีเป็นเบญจรงค์ หรือทางของจีนก็มี ส่วนถ้าเป็นทางฝรั่งก็จะมีเป็นวิคตอเรียน ซึ่งโต้จะชอบทางฝรั่ง เลยเริ่มเก็บมาทุกวันนี้ชิ้นแรกๆ ที่เริ่มเก็บก็ยังอยู่ แต่ว่าจะเป็นยี่ห้อไม่ได้แพงมาก ถ้าจำไม่ผิดคิดว่าเป็น Spode โดยส่วนใหญ่โต้เน้นจานที่ใช้ได้จริง คือเป็นจานที่สามารถใส่อาหารได้ ยกเว้นเซ็ต Wedgwood ตัว Jasperwear เป็นตัวที่โชว์ คือมีอันเดียวเลย ที่เป็นตัวโชว์ที่เก็บจริงๆ จังๆ ส่วนมากที่เหลือก็จะเป็นจานที่ใช้กินข้าวได้ เพราะรู้สึกว่าชอบเห็นเวลาที่มันอยู่บนโต๊ะอาหาร ทำให้ดูสวยงามดี ซึ่งความแตกต่างระหว่างจานชามที่ใช้ได้จริง กับแบบตั้งโชว์จะแตกต่างกันที่วิธีการเพ้นท์ หรือการอบหลังจากเพ้นท์ โดยจานที่ผ่านความร้อนสูงๆ สีจะไม่ละลาย จึงสามารถเอามาใส่อาหารที่มีความร้อนได้ ดังนั้นก็ต้องดูด้วย ส่วนจานโชว์โดยเฉพาะจะมีแท่น หรือตัวติดที่เอาไว้ติดกับผนังข้างหลัง ถ้าเป็นจานเก่าๆ ที่เจอตามตลาดเก่า ส่วนใหญ่เราก็จะ assume ได้ว่าเป็นจานสำหรับโชว์ หรือบางเจ้าก็จะเขียนบอกว่าเป็นจานโชว์บอกไว้อยู่ แต่ถ้าไม่มีเลย แล้วเป็นยี่ห้อดัง เราก็จะรู้ว่าจานนี้ใช้ใส่อาหารได้”
จากจุดเริ่มต้นที่เกิดขึ้นจากการซื้อเพราะชอบ มาถึงวันนี้ที่กว่าจะรู้ตัว จานชามและเครื่องแก้วเหล่านี้ ก็กลายมาเป็นของสะสมในที่สุด
“ตั้งแต่นั้นก็ซื้อมาเรื่อยๆ มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่มีเยอะแล้วนี่ละค่ะ (หัวเราะ) ด้วยความที่เราจะชอบซื้อมาแล้วเก็บ แต่ไม่ได้เอาออกมาโชว์เลย เพราะคิดว่าเดี๋ยวอีกหน่อยมีบ้านก็ค่อยแกะออกมา ช่วงที่ตกใจก็เป็นตอนช่วงที่เรามีแพลนทำบ้านแล้ว ก็เลยเริ่มเอาของส่วนต่างๆ ที่เก็บไว้ออกมา เพื่อที่จะดูว่าอันไหนจะใช้ได้จริงกับบ้านเรา หรือจะใช้โชว์ ตั้งแต่วันที่เริ่มเอาของออกมาจนทุกวันนี้ ก็ยังแกะไม่หมดเลย” (หัวเราะ) แม้ว่าจะมีจาน ชาม และเครื่องแก้วต่างๆ กว่า 500 ชิ้น”
แต่หากจะถามถึงชิ้นที่รักที่สุด คุณโตโต้ก็ตอบได้อย่างไม่ลังเล
“สำหรับชิ้นที่รักที่สุดอย่าง Wedgwood ก็ใช้เวลาสะสมประมาณ 6 ปี ด้วยความที่เราเห็นเรื่อยๆ เพราะจะชอบเดินตลาด ถ้าเป็นที่ไทยเราก็จะชอบเดินตลาดที่เขาเอาของจากยุโรป หรือของต่างประเทศมาขาย พอเห็นผ่านตาเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าน่ารักดี เพราะปกติแล้วโต้จะชอบอะไรที่ค่อนข้างหวาน แล้วก็คลาสสิกแบบเรียบหน่อย คือไม่ใช่คลาสสิกแบบฟุ้งมาก ดอกไม้เยอะๆ แบบนั้นไม่ใช่ แต่จะหวานแบบพอดี เวลามองไปแล้วรู้สึกว่ามันสามารถอยู่ได้นาน อย่างเซ็ต Wedgwood ที่เป็น Jesperwear โต้ว่ามันดูคลาสสิก โทนสีก็ไม่ได้ฉูดฉาดมากมาย แต่โดยรวมแล้วยังดูโรแมนติก หลังจากนั้นเวลามีโอกาสได้ไปเที่ยวทางฝั่งยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ เราก็จะหาโอกาสเดินตลาดเก่าทุกรอบที่ไป ก็เหมือนเริ่มทยอยเก็บไปเรื่อยๆ จนพอไปเจอชิ้นใหญ่ ก็เลยรู้สึกถูกใจมาก เพราะชิ้นเล็กๆ ก็เริ่มมีเยอะแล้ว โต้จะเริ่มสะสมจากสีฟ้าก่อน ซึ่งน่าจะเป็นสีพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่เริ่มเก็บของ Wedgwood ในรุ่นนี้ ระดับความหาง่ายก็จะเริ่มจากสีฟ้า แล้วก็ไปสีเขียว แล้วก็ค่อยไปพวกสีชมพู สีดำ พอเรามีสีฟ้าเยอะแล้ว ก็ไปเก็บสีเขียวได้สักพักหนึ่ง ก็เริ่มสีต่อไป คือตอนที่จะเริ่มเก็บสีต่อไป เราก็มีความคิดอยู่ว่าไม่อยากเริ่ม เพราะถ้าเริ่มแล้วต้องไปยาวเลย ซึ่งจริงๆ แล้ว Wedgwood นี่มีหลายสีมาก แต่สีฮอตฮิตเลยก็คือสีฟ้า ฉะนั้นของโต้สีฟ้าจะมีรูปทรงเล็กใหญ่เยอะกว่าสีอื่น ส่วนพวกที่เป็นสีแปลกๆ อย่างสีมิ้นต์ สีม่วงไลแลค พวกนี้ชิ้นใหญ่ก็จะไม่เยอะ เป็นชิ้นที่ทำออกมาเป็นโอกาสพิเศษ ก็พอมีบ้างไม่มาก เพราะไม่อยากจะเริ่มเยอะ”
สิ่งที่ยากในการสะสมนอกเหนือจากการตามหาให้ได้มาซึ่งของชิ้นนั้นๆ แล้ว การขนส่งก็ยังเป็นอีกเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายเลย
“ของบางชิ้นกว่าจะได้มาก็ยากมากเลย มีทั้งต้องไปประมูล ซึ่งส่วนใหญ่โต้ก็จะประมูลผ่านทาง ebay นี่ล่ะ แต่พอประมูลได้แล้ว การจะเอากลับมาก็ยากอีกเช่นกัน ยกตัวอย่าง โถใหญ่ๆ 3 อันที่เป็นอันใหญ่สุด เดิมโต้มีชิ้นหนึ่งได้จากที่เมืองไทย แต่อีกชิ้นหนึ่งต้องไปประมูล ebay ซึ่งการประมูลทาง ebay นี่พอประมูลเสร็จ เขาไม่ส่งมาที่ไทย เราก็เลยต้องให้ไปส่งบ้านเพื่อนที่อยู่อังกฤษ ทีนี้ความยากคือเราต้องรอเวลาที่เราไปอังกฤษ ถึงจะเอากลับมาได้ เพราะถึงแม้ว่าเพื่อนจะเดินทางไปบ่อยก็จริง แต่เราก็ไม่อยากจะวานใครให้ถือมาให้ เพราะว่าเสี่ยงที่จะแตก แล้วไซส์ใหญ่ด้วย ของเราซื้อมาก็มีราคา เลยไม่อยากส่ง ทำให้ต้องรอ ซึ่งก็ใช้เวลาประมาณเกือบปี กว่าที่เราจะได้มีโอกาสกลับไปอังกฤษอีกรอบหนึ่งก็ค่อยไปเอามา แล้วถือขึ้นเครื่องเอง”
ไม่ใช่แค่ชุดจานชาม และเครื่องแก้วเท่านั้นที่เจ้าของแบรนด์กระเป๋าสุดสร้างสรรค์ผู้นี้เลือกที่จะสะสม แต่ยังมีฟิกเกอร์หมี Be@rbrick สุดฮิต โดยจะเน้นเฉพาะรุ่นที่เป็นเซรามิกกับไม้เท่านั้น และแม้ว่าของแต่ละชิ้นกว่าจะได้มาอาจไม่ง่ายนัก แต่ด้วยคุณค่าทางจิตใจและความสุขที่ได้รับ ก็ทำให้คุณโตโต้มองข้ามความยากลำบากนั้นไป “แต่ละชิ้นมันทำให้เราจำได้ว่าได้มาจากที่ไหน ไปเที่ยวที่ไหนมา ทำให้เราจำได้ว่าชิ้นนี้ได้มาจากประเทศไหน แล้วพอทุกครั้งที่เห็น เราก็จะ remind ถึงทริปนั้นว่า ทริปนั้นไปสนุกมาก แล้วมีความยากลำบากแค่ไหนกว่าเราจะเอาของชิ้นนั้นกลับมาได้ อีกอย่างพอเราเก็บไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ว่าเราเป็นคนสไตล์ไหน มีความชอบที่ชัดเจนแน่นอน เพราะโต้คิดว่าของสะสมมันจะบอกตัวตนของคนๆ นั้นได้ดี คือเราจะรู้จักตัวเองมากขึ้นจากของที่เราเก็บ ว่าแบบไหนเราชอบ ไม่ชอบ อย่างไร ทำให้สไตล์ของเราไม่ว่าจะเป็นการแต่งบ้าน แต่งตัว หรือว่างานที่เราทำหลายๆ อย่าง ก็จะไม่สะเปะสะปะ เพราะเรารู้จักตัวตนเรามากขึ้น นี่คือเสน่ห์ของของสะสม”
“นอกจากนี้สำหรับโต้ ยังได้แรงบันดาลใจในการทำงานออกแบบจากของที่สะสมด้วย อย่าง Wedgwood รุ่น Jesperwear นี้ ทำให้พอเราทำงาน เราจะรู้ว่าจริตของเรามันพอดีที่จุดไหน งานที่ออกมาก็จะสะท้อนถึงความพอดีกับจริตของเรา แล้วก็มาดูว่าสองสิ่งนี้ไปผนวกกับความชอบของลูกค้าได้ไหม เช่นส่วนตัวแล้วงานของโต้จะเป็นสายหวาน แต่ก็จะเป็นหวานในทิศทางที่คลาสสิก สามารถใช้ได้ตลอดเรื่อยๆ ไม่ว่าจะ 10 ปี 20 ปี ก็ยังเอากลับมาใช้ได้ นี่คือเสน่ห์ของความคลาสสิกที่เป็น Timeless ฉะนั้นกระเป๋าที่เราออกแบบก็จะไม่ซีซันนอลเกินไป บางที 10 ปีหยิบมาใช้ ก็ยังสามารถเข้ากับลุค ณ เวลานั้นได้อยู่”
Where the treasure is…
📍 Oedo Antique Market ตลาดของเก่าใกล้สถานี Yurakucho กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยร้านค้ากว่า 250 ร้าน ที่นักสะสมจะสามารถหาของได้มากมาย ตั้งแต่หนังสือ ตุ๊กตา เครื่องเงิน ไปจนถึงสิ่งของตั้งแต่สมัยเอโดะ จัดขึ้นเดือนละครั้ง
📍 Grande Braderie de Lille ตลาดวินเทจที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป จัดขึ้นปีละครั้งที่เมืองลีลทางตอนเหนือของฝรั่งเศส โดยทั้งเมืองจะปิดถนนให้คนจากทั่วยุโรปมาออกร้านรวมนับหมื่นร้านค้า มีการแบ่งพื้นที่จัดโซนชัดเจนจึงไม่ต้องกลัวจะหาของที่ต้องการไม่เจอ
📍 Panjiayuan Flea Market ตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ประกอบด้วยร้านค้ากว่า 3,000 ร้าน เรียกว่าเป็นตลาดที่สามารถหาของจากทั่วประเทศได้ในที่เดียว โดยเฉพาะสิ่งของที่เกี่ยวกับประธาน เหมา เจ๋า ตุง แนะนำว่าควรมาในวันเสาร์ – อาทิตย์ เพราะจะมีร้านค้าให้เลือกมากกว่า
📍 Chor Bazaar ตลาดนัดเก่าแก่กว่า 150 ปี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมือง Mumbai ประเทศอินเดีย ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของผู้ที่ชื่นชอบของ Antique และ Vintage อย่างแท้จริง เพราะมีเฟอร์นิเจอร์ยุค Victorian ให้ได้สะสม รวมถึงโปสเตอร์เก่าของหนัง Bollywood เปิดทุกวัน ยกเว้นวันศุกร์
📍 Rose Bowl Flea Market แหล่งซื้อขายของวินเทจในเมืองแอลเอ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นี่คุณจะได้พบกับสินค้าประเภทกางเกงยีนส์ แจ็กเก็ตทหาร หรือของอเมริกันสไตล์ทั้งใหม่และเก่า จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ที่สองของเดือน และต้องซื้อตั๋วเข้า ซึ่งจะมีราคาแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา
****************************
เรื่อง : จักรีรัตน์ อัสดรวุฒิไกร