เช็คก่อนตื่นตระหนก! ไข้หวัด VS ไข้หวัดใหญ่ VS ภูมิแพ้ VS โควิด-19 อาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่คล้ายกัน
ตั้งแต่ทั่วโลกต้องตกอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสสายพันธ์ุใหม่ โควิด-19 เชื่อแน่ว่าทุกคนต่างมีความกังวลใจไม่น้อย และมีความคิดไปต่างๆ นานาว่า “ฉันติดโควิด-19 แล้วหรือยัง?!” ทั้งๆ ที่อาจเป็นเพียงอาการของโรคประจำตัว ภูมิแพ้ หรืออาการ ไข้หวัด ในขณะที่อากาศเปลี่ยนแปลง แม้แต่ ไข้หวัดใหญ่ อาการต่างๆ อาจมีความคล้ายคลึงกัน ด้วยเป็นอาการระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกัน สำหรับไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และภูมิแพ้นั้น เป็นโรคที่อุบัติขึ้นมานานแล้ว และสามารถทำการรักษาให้หายได้ ไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้เกิดการเสียชีวิต รวมถึงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับหนึ่ง สำหรับ โควิด-19 เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และพัฒนาสายพันธ์ุไปมากมายในหลายประเทศทั่วโลก วัคซีนจึงเป็นความหวังเดียวของการรักษา ที่คนทั่วโลกต่างรอคอย
อะราวด์รวบรวมอาการของทั้ง 4 โรค จากบทความของ พญ. ลินน่า งามตระกูลพานิช ที่กล่าวในเว็บไซต์ของโรงพยาบาลกรุงเทพไว้อย่างน่าสนใจ และเป็นประโยชน์อย่างมากช่วยคลายความข้องใจ สามารถแยกแยะอาการแตกต่างของโรคออกจากกันได้ เพื่อลดความวิตกกังวล และเฝ้าระวังตนเองแบบตระหนักรู้และไม่ตื่นตระหนกเกินไป
โรคภูมิแพ้
ภูมิแพ้ เป็นอาการที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกาย ที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการผิดปกติกับอวัยวะที่สัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกัน และความรุนแรงไม่เท่ากัน เพราะชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับ และการตอบสนองของร่างกายแต่ละบุคคลต่างกัน อาการของผู้ป่วยภูมิแพ้ จะเกิดตามอวัยวะที่มีการอักเสบจากการกระตุ้นของสารก่อภูมิแพ้ ได้แก่ ผื่นคัน คันจมูก จาม มีน้ำมูก คัดจมูก ไปจนถึงไอ หอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่คล่อง ในคนที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว หากถามว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าปกติหรือไม่ ต้องบอกว่าไม่ได้มีความเสี่ยงมากกว่าปกติ แต่หากดูแลป้องกันตัวเองไม่ดีพอ ก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ การรักษาควรดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ รวมถึงใช้ยาตามแพทย์สั่ง อาจล้างจมูก และพ่นยาจมูก เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบได้ แต่หากเป็นภูมิแพ้และสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาความเสี่ยง
👉อาการสำคัญของภูมิแพ้: จาม, น้ำตาไหล, คันตา, คันจมูกรวมไปถึงอาการคัดจมูก, อาจมีน้ำมูกไหล และเกิดผื่นแพ้ต่างๆ ได้ง่าย
———-😷———-
โรคไข้หวัด
ไข้หวัด เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อย เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มักพบในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ความรุนแรงของโรคไม่มาก และสามารถหายเองได้ภายในไม่กี่วัน สามารถติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อละอองในอากาศที่กระจายจากการไอ จาม หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคจากน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยมาสัมผัสมือ จมูก หรือตา รวมไปถึงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย สำหรับอาการทั่วไปอาจมีแค่คัดจมูกและน้ำมูกไหล มีไข้ (ยกเว้นผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคทางเดินหายใจ) จะพบอาการที่มากขึ้น ซึ่งปกติจะแสดงอาการราว 2 – 5 วัน แต่อาจมีน้ำมูกไหลนาน 10 – 14 วัน
👉อาการสำคัญของไข้หวัด: จาม, คัดจมูก, น้ำมูกลักษณะใส, ไอมีเสหะ, เจ็บคอ, เสียงแหบ และอาจมีไข้ต่ำๆ ร่วมกับปวดศีรษะ
———-😷———-
โรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) ตามฤดูกาล เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบกันมานานแล้ว อาการมักจะไม่รุนแรง และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล พบปะปนกับสายพันธุ์ต่างๆ ทั่วไปอีกด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก แต่ที่แตกต่างกันคือ มักจะไม่มีอาการทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก เมื่ออาการมีความคล้ายคลึงกันในระยะเริ่มต้น เวลาที่ไปพบแพทย์จะทำการส่งตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่อนอันดับแรก เพื่อตัดประเด็นความคล้ายคลึงกันของอาการออกไปทีละอย่าง
👉อาการสำคัญของไข้หวัดใหญ่: มีไข้สูงติดต่อกันหลายวัน, ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, จาม, ไอแห้งๆ, เจ็บคอ และบางครั้งมีน้ำมูก
———-😷———-
โรคโควิด-19
โควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่ร่างกายของมนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ทำให้เวลาที่เชื้อเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ เชื้อโรคจะลามเข้าไปสู่ปอด ส่งผลให้เกิดอาการปอดบวม ปอดอักเสบ โดยเฉพาะในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ สุขภาพไม่แข็งแรง และมีโรคประจำตัว แต่สำหรับบางคนอาจมีอาการรุนแรงไม่มาก เหมือนเป็นไข้หวัดทั่วไปและสามารถหายได้เอง รูปแบบการรักษาเป็นไปตามอาการที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล การทำความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ จะช่วยให้การดูแลสุขภาพ สุขอนามัย และสามารถป้องกันตนเองได้อย่างถูกวิธี
👉อาการสำคัญของผู้ป่วยโรคโควิด-19: มีไข้, รู้สึกเมื่อยล้า, ไอแห้งๆ, หายใจได้ลำบาก, บางครั้งอาจมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นปอดเสียหายได้
———-😷———-
ดังนั้นการป้องกันตัวที่ดีที่สุด นั่นคือ ต้องทำความสะอาดล้างมือบ่อยๆ ไม่เอามือไปสัมผัสหน้าตา หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย รวมไปถึงหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนแออัดในช่วงที่มีการระบาด เดินทางต้องเว้นระยะห่าง (Social Distancing) อย่างน้อย 2-3 เมตร สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและเด็ก ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ห่างไกลโรค แต่สำหรับผู้ที่มีอาการดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั้น และไม่แน่ใจตนเองว่าเป็นอาการป่วยของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่นั้น ให้เดินทางไปรับการรักษาและพบแพทย์จะดีที่สุด
เว็บไซต์ประเมินความเสี่ยงโรคโควิด-19
เราสามารถประเมินความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ได้ โดยไม่ต้องออกนอกบ้าน แบบประเมินที่สามารถกรอกรายละเอียดการประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จาก 5 แบบประเมิน ดังนี้
- แบบประเมิน BKK COVID-19 เว็บไซต์ทางการที่ทางกรุงเทพมหานครจัดทำขึ้น เฉพาะคนกรุงเทพมหานคร 👉http://bkkcovid19.bangkok.go.th/covid/frontend/web/
- แบบประเมิน จาก กรมสุขภาพจิต 👉https://www.dmh.go.th/covid19/test/covid19/
- แบบประเมิน โรงพยาบาลราชวิถี 👉https://covid19.rajavithi.go.th/test/th_index.php
- แบบประเมิน ศูนย์สุขภาพจิตที่ 2 และ โรงพยาบาลจิตเวชพิษณุโลก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข 👉https://www.mhc2.go.th/covid19/
- แบบประเมิน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 👉https://cmsdm.net/Self-Screening/
หากพบว่ามีความเสี่ยงหลังการทำแบบประเมิน สามารถเดินทางไปที่โรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อขอรับการตรวจคัดกรอง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ด้วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดสรรงบประมาณไปที่โรงพยาบาลสนับสนุนค่าตรวจ ให้ประชาชนคนไทยใช้บริการได้ทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม https://bit.ly/36lx3HZ