TOP

9 โรคหน้าฝน ที่ควรเฝ้าระวัง!

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ ฝนมาฟ้าครึ้มเรียกว่าไม่เลือกเวลา แม้ว่าจะทำให้อากาศเย็นฉ่ำผ่อนร้อนให้คลาย แต่ก็ไม่วายพาเอาสารพัดโรคมาสู่เราให้เจ็บป่วยได้ง่าย และควรเฝ้าระวังตัวเองป้องกันไว้ก่อนคือดี แต่ถ้ามีอาการบางอย่างที่เข้าข่ายใน 9 โรคนี้แล้วล่ะก็ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

9 โรคหน้าฝน ที่ควรเฝ้าระวัง!

 

<1> โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส

โรคหวัดหลายสายพันธ์ุที่พัฒนา ทำให้เกิดอาการคออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม มักเกิดจากการที่ร่างกายอ่อนแอ เพราะอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง จนติดเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศ หรือในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยที่ไอ จาม ออกมา

 

อาการที่พบได้บ่อย หาก มีไข้ ไอ หายใจเร็ว หรือหอบเหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ ผู้สูงอายุ และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

 

การดูแลรักษา สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปากและจมูก เมื่อ ไอ จาม หมั่นล้างมือบ่อยๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจไปสัมผัสมา หลีกเลี่ยงการคลุกคลี หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

และโรคจากไวรัส ที่มักจะเกิดขึ้นในหน้าฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นฤดูฝน นอกจากจะทำให้เป็นโรคไข้หวัดแล้ว ยังมีแนวโน้มเกิดเป็น โรคตาแดง และโรคคอติดเชื้อ โดยจะแสดงอาการเจ็บคอเป็นหลัก จากนั้นจะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัวอาจมีนํ้ามูกร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษา เพื่อไม่ให้อาการเรื้อรัง

 

<2> โรคท้องเสีย อาหารเป็นพิษ 

โรคที่ติดต่อทางน้ำ และทางอาหารเป็นพิษ 
ที่เป็นได้ทั้งโรคอุจจาระร่วง โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ และตับอักเสบ เป็นต้น เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำ ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพ หรือเชื้ออีโคไล ที่ก่อให้ลำไส้อักเสบติดเชื้อ เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารตามมา โดยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูก หรือเลือดปนอุจจาระได้

 

อาการที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีไข้ ปวดบิดในท้อง หากติดเชื้อบิด อาจมีมูก หรือเลือดปนอุจจาระได้ ผู้ที่มีอาการตับอักเสบ จะมีไข้ อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลืองหรือดีซ่าน คลื่นไส้อาเจียน

 

การดูแลรักษา ระมัดระวังเรื่องอาหารที่กินเข้าไป กินแต่อาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด และใช้ช้อนกลาง ไม่กินอาหารที่ปรุงค้างไว้นานเกิน 6 ชั่วโมง เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้น เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค

 

<3> โรคผิวหนังอักเสบ น้ำกัดเท้า

เกิดจากเชื้อรา มักมีสาเหตุจากต้องเดินลุยน้ำสกปรก เป็นแหล่งของเชื้อโรคทำให้เกิดแผลติดเชื้อ คันตุ่มหนอง ควรล้างมือ ล้างเท้าบ่อยๆ หลังจากกลับเข้าบ้าน

 

อาการที่พบได้บ่อย ผิวหนังตรงส่วนซอกนิ้วเท้าแดง ขอบนูนเป็นวงกลม คัน เมื่อเกาแผลจะแตก และมีน้ำเหลืองเยิ้มออกมา

 

การดูแลรักษา หลีกเลี่ยงการเดินในที่ที่มีน้ำขังหรือน้ำท่วมสูง แต่หากจำเป็น ควรต้องหารองเท้าบูทมาใส่ รีบล้างเท้าและเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้ง หากผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน ซอกนิ้วเท้าแดง มีขอบนูน หรือมีบาดแผล ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการดังกล่าว ก่อนจะลุกลามจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน

 

<4>โรคเท้าเหม็น

เป็นโรคของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นนอกสุดของฝ่าเท้า ทำให้มีเท้าลอกและมีกลิ่นเหม็น พบได้บ่อยในผู้ที่ใส่รองเท้าหุ้มส้นเป็นเวลานาน ทำให้มีความอับชื้น อันเอื้อให้เกิดสภาวะเหมาะสมต่อการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย แต่จะมีความแตกต่างจากโรคน้ำกัดเท้า ตรงที่โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากเชื้อรา และมักมีอาการคันร่วมด้วย โรคเท้าเหม็นพบได้บ่อยในเขตร้อนและเขตศูนย์สูตร ประมาณ 95% ของผู้ ป่วยเป็นเพศชาย เนื่องจากผู้ชายมักมีเหงื่อออกมากกว่าผู้หญิง

 

อาการที่พบบ่อย เท้าเหม็นมักไม่มีอาการคัน แต่มีเท้าลอก ผิวหนังดูชื้นแฉะ มีกลิ่นเหม็น และโรคเริ่มเกิดที่ฝ่าเท้าก่อน และมักพบในผู้ชายที่มีเหงื่อเยอะ หรือสวมใส่ถุงเท้าที่ทำจากใยสังเคราะห์หนาๆ และยิ่งเป็นช่วงหน้าฝนที่ทั้งชื้นแฉะ ซึ่งเวลาถอดรองเท้าอาจมีกลิ่นเหม็นโชยออกมาเกินปกติ

 

การดูแลรักษา  

ต้องพบแพทย์เท่านั้น เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค มี 2 ประการคือ เชื้อแบคทีเรีย และภาวะอับชื้นของเท้า จึงต้องใช้เป็นยาฆ่าเชื้อชนิดทา โดยหมอจะวินิจฉัยอาการและจัดยาตามในลักษณะช่วยให้ผิวหนังที่ฝ่าเท้าลอกตัว สร้างเซลล์ผิวหนังใหม่ ไปพร้อมกับยาที่ออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ และควรหลีกเลี่ยงรองเท้าที่หุ้มส้น หรืออาจต้องถอดรองเท้าบ่อยๆ และหากต้องใส่ถุงเท้า ควรเลือกถุงเท้าที่มีการระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย 100% แต่หากมีเหงื่อออกมาก ควรเปลี่ยนถุงเท้าระหว่างวัน เพื่อลดความอับชื้น และใช้แป้งผงโรยเท้าวันละ 1-2 ครั้ง ตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำ

 

<6> โรคผื่นภูมิแพ้

เมื่ออากาศเปลี่ยนในฤดูกาลที่มีความชื้นสูง ผู้ที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้มักมีประวัติแพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หอบหืดหรือเยื่อบุตาอักเสบ โดยเฉพาะเวลาที่อากาศรอบตัวเปลี่ยนแปลง คนในครอบครัวของผู้ป่วยมักมีประวัติ โรคภูมิแพ้ เช่น แพ้อากาศ ไอ จามบ่อยๆ หอบหืด หรือผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวเลยก็เป็นโรคนี้ได้ นอกจากพันธุกรรมแล้วปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญคือ สิ่งแวดล้อมเช่น อาหาร ไรฝุ่น สารก่อการระคาย หรือสารก่อภูมิแพ้ผิวหนังของผู้ป่วยจะไว (sensitive) ต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวทั้งสภาพทางกายภาพ เช่น ภาวะอากาศร้อนเกินไป เย็นเกินไป แห้ง ชื้นไป สารเคมีที่ระคายผิวหนัง และสิ่งมีีชีวิตต่างๆ เช่น แมลง เชื้อโรค เป็นต้น

 

อาการที่พบได้บ่อย ผิวหนังโดยทั่วไปของผู้ป่วยจะค่อนข้างแห้ง มักพบผื่นบริเวณรอบคอ ข้อพับแขนขา คล้ายที่พบในเด็กโต ในรายที่เป็นมากๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดผิวหนังอักเสบบริเวณมือได้ง่าย

 

การดูแลรักษา หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงการใช้หรือสัมผัสกับสารระคายเคือง ใช้สบู่อ่อนๆ ไม่ควรใช้สบู่บ่อยเกินไป ใช้ผงซักฟอกเลือกชนิดที่ระคายเคืองน้อยควรซักล้างออกให้หมด เสื้อผ้าควรเลือกใช้เสื้อผ้านุ่มโปร่งสบาย เช่น ผ้าแพร ผ้าฝ้าย หลีกเลี่ยงผ้าขนสัตว์ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมากๆ

 

<7> โรคฉี่หนู 

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่อยู่ในปัสสาวะของหนูหรือสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว โค กระบือ และสัตว์ฟันแทะทั้งหลายเป็นพาหะ โดยเชื้อเหล่านี้จะปะปนอยู่ในน้ำที่ท่วมขัง หากสัมผัสถูกเชื้อ จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา และเยื่อบุในช่องปากได้อย่างง่ายดาย

 

อาการที่พบได้บ่อย หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 อาทิตย์ จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง และโคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง คอแข็ง มีไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับไข้ลด ในกรณีที่มีอาการรุนแรง จะมีอาการเบื่ออาหาร อาจมีจุดเลือดออกที่เพดานปาก หรือตามผิวหนัง จนกระทั่งตับวาย ไตวาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ช็อคได้

 

การดูแลรักษา สำหรับผู้ที่มีไข้ไม่สูงมาก ควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ และกินยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล แต่ห้ามใช้แอสไพรินเด็ดขาด หากต้องเดินย่ำน้ำท่วม หรือน้ำสกปรก ควรสวมใส่รองเท้าบูทให้เรียบร้อย ต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง และเช็ดเท้าให้แห้ง หากมีประวัติหรือมีอาการเสี่ยง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะผู้ป่วยอาจถึงแก่ชีวิตได้

 

<8> โรคไข้เลือดออก

เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ยุงลายจะเพาะพันธุ์ได้ดี ในหน้าฝน หลังจากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัดประมาณ 5-8 วัน จะมีไข้สูงมาก ไข้ไม่ยอมลด เบื่ออาหาร รู้สึกอ่อนเพลีย เซื่องซึมให้รีบไปพบแพทย์ โดยสันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจเป็นไข้เลือดออก เพราะโรคอาจจะมีอาการรุนแรงคือเลือดออกผิดปกติ มือเท้าเย็น หรือช็อคได้

 

อาการที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง (38.5-41 องศาเซลเซียส) ติดต่อกัน 2-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน จากนั้นจะมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว

ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง หลังจากไข้ลดลง อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจเกิดภาวะช็อกหลังไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการซึม กระสับกระส่าย กระหาย เหงื่อออก ตัวเย็น ปากเขียว ชีพจรเบาเร็ว อาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ ถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 12-24 ชั่วโมง

 

การดูแลรักษา เมื่อมีอาการไข้ขึ้นสูง ห้ามกินยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ให้หมั่นเช็ดตัวและดื่มน้ำเพื่อลดไข้ สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากไข้ไม่ลด ควรควรรีบไปพบแพทย์

 

<9> โรคกลาก

โรคกลากเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยมากในคนทุกเพศทุกวัย เชื้อราพวกนี้สามารถก่อให้เกิดรอยโรค ตามผิวหนังได้แทบทุกส่วนของร่างกาย ส่วนตำแหน่งที่เกิดรอยโรคอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเพศแต่ละวัย โดยถ้าเป็นเด็กจะพบโรคกลากที่ศีรษะมากที่สุด แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะพบโรคกลากที่เท้ามากที่สุด ส่วนโรคกลากบริเวณขาหนีบและบริเวณเครา โดยมากแล้วจะพบแต่ในเฉพาะผู้ชาย และเป็นโรคที่สามารถติดต่อยังผู้อื่น

 

อาการที่พบได้บ่อย  ที่มีอาการผื่นแดง คันร่วมด้วย เป็นตุ่มและเป็นวง ตามซอกพับ เช่น ขาหนีบ รักแร้ ซอกนิ้วเท้า  สำหรับคนที่เป็นกลากบนศรีษะ มีอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ลักษณะเป็นวง ๆ สีเทา ๆ หนังศีรษะมักแห้งเป็นขุยขาว ๆ คล้ายรังแค ตามซอกพับ เช่น ขาหนีบ รักแร้ ซอกนิ้วเท้า มีอาการคันมาก

 

การดูแลรักษา  รักษาความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อพับและซอกต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ขาหนีบ ซอกนิ้ว อย่าให้ขี้ไคลหมักหมม เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วให้เช็ดตัวให้แห้ง อย่าปล่อยให้เปียกชื้น และระวังอย่าให้มีเหงื่ออับชื้นอยู่เสมอ ควรระวังอย่าให้บริเวณที่เป็นโรคกลากเปียกชื้นหรือสัมผัสกับน้ำบ่อย ๆ หรือตลอดเวลา และตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้น หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ และอย่าเกาบริเวณที่ผื่นเพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย อย่าใช้มือขยี้ตา สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากที่เล็บและหนังศีรษะ อีกทั้งโรคกลากสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ จึงควรแยกสิ่งของเครื่องใช้ เช่น เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า หมวก รวมทั้งของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ไม่ควรใช้สิ่งของเหล่านี้ปะปนกับผู้อื่น และควรซักทำความสะอาดและตากแดดให้แห้งก่อนใช้ทุกครั้ง และควรพบแพทย์

 

การป้องกันโรคในฤดูฝน

  • ทำได้โดยออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดูแลร่างกายตนเองให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นทานผักและผลไม้ที่มีวิตามิน C, E และเบต้าแคโรทีน เช่น ข้าวโพด แครอท ส้ม ฝรั่ง มะเขือเทศ ดื่มน้ำสะอาด
  • หากพบความผิดปกติบริเวณผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโดยตรง เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
  • สวมเสื้อผ้ารักษาร่างกายให้อบอุ่น เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง จะทำให้ร่างกายที่มีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนวัยอื่นๆ
  • ควรเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดชั้นในเวลานอน เพื่อให้จุดอับชื้นต่างๆ ในร่างกายมีการระบายได้ดี
  • ควรซักเสื้อผ้าให้สะอาด และตากแดดให้แห้งสนิท โดยเฉพาะเสื้อผ้าประเภทที่มีเนื้อผ้าหนา เพราะเนื้อผ้าประเภทนี้มักแห้งช้ากว่าผ้าปกติ
  • ควรดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้ม รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม
  • ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง และควรใช้ช้อนกลางทุกครั้ง
  • ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด และรวมไปถึงการรักษาความสะอาดร่างกายให้มากยิ่งขึ้น

 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด