ชวนเล่นว่าวกันมากว่า 700 ปี…ไฮไลท์สีสันเมษาหน้าร้อน
ว่าวไทยสีสดได้รับความสนใจไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าจะเป็นว่าวงู ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า และอีกมากมาย รู้หรือไม่ว่าสมัยโบราณบรรพบุรุษเรามีว่าวเล่นกันตั้งแต่สมัยสุโขทัย แถมยังมีว่าวที่ส่งเสียงดังได้เวลาลอยอยู่ในอากาศ เรียกว่า “ว่าวหง่าว” อีกด้วยนะ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตามที่ปรากฏหลักฐานของชาวต่างประเทศบันทึกว่า “ว่าวของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ปรากฏในท้องฟ้าทุกคืนตลอดระยะเวลา 2 เดือน” และยังกล่าวว่า “ว่าวเป็นกีฬาที่เล่นกันอยู่ทั่วไปในหมู่ชาวสยาม” และในสมัยพระเพทราชา เคยใช้ว่าวในการสงครามโดยผูกหม้อดินบรรจุดินดำเข้ากับสายป่านว่าวจุฬาข้ามกำแพงเมือง แล้วจุดชนวนให้ระเบิดไหม้เมืองนครราชสีมาได้สำเร็จ” ช่างเป็นวิธีที่แยบยลของพระองค์และคนยุคสมัยนั้น
“ว่าว” ถือได้ว่าเป็นผลผลิตที่เกิดจากภูมิปัญญาของช่างฝีมือพื้นบ้านไทยในแต่ละท้องถิ่นมาแต่โบราณ ที่นำเอาทรัพยากรธรรมชาติรอบตัวมาประดิษฐ์สร้างสรรค์เป็นของเล่นให้แก่ลูกหลาน ใช้เล่นกันในเวลาว่างจากการทำงาน องค์ความรู้ในการทำว่าว จึงนับเป็นมรดกตกทอดที่บรรพบุรุษของเราได้คิดค้นและถ่ายทอดมาสู่ลูกหลาน และมีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่นแตกต่างกันไป ปัจจุบันเหลือช่างฝีมือพื้นบ้านที่ชำนาญการทำว่าวน้อยลงไปมากแล้ว ด้วยความนิยมในการเล่นว่าวลดลงและขาดผู้สืบทอด ส่งผลให้ภูมิปัญญาในการทำว่าวบางประเภทใกล้สูญหายไป
การเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่ปัจจุบัน ทำให้ว่าวมีหลากหลายรูปแบบทั้ง วัสดุ สีสัน ลวดลาย มากยิ่งขึ้น แม้แต่วัตถุประสงค์ในการทำว่าวก็ตอบสนองความคิดที่แตกต่างไปมากกว่าในอดีต ที่ต้องการทำว่าวเพื่อได้เล่นสนุกเพลิดเพลินในครัวเรือนของแต่ละบ้านเพียงเท่านั้น
วิวัฒนาการ “ว่าว” จากอดีตสู่ปัจจุบัน
แรกเริ่มเดิมทีทำ “ว่าว” จากวัสดุธรรมชาติ
สมัยก่อนการทำว่าว จะเลือกวัสดุธรรมชาติรอบๆ บ้าน ไม่เน้นที่จะต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะเป็นอุปกรณ์แบบครัวเรือน ที่คิดทำขึ้นเองกับมือตามภูมิปัญญาแต่ละบ้าน ต้องการเพียงสร้างความเพลิดเพลินให้ลูกหลานมีกิจกรรมเล่นกับผู้ใหญ่เท่านั้น จึงนิยมใช้พวกใบไม้ประเภทใบใหญ่ เช่น ใบตองตึง ใบกระบอก ใบยางแดง เป็นต้น ไม่ได้เน้นถึงสีสัน หรือความคงทนแข็งแรง
พัฒนาการของ “ว่าว” ไปอีกขั้นจากวัสดุธรรมชาติสู่กระดาษ
พัฒนาอีกขั้นของว่าวจากวัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มาเป็นว่าวที่ทำจากกระดาษ ปรับให้มีสีสัน ลวดลายสวยงามมากยิ่งขึ้น เพิ่มความคงทน แต่ยังคงมีประสิทธิภาพในการลอยตัวในอากาศได้ดีเช่นเดิม การทำว่าวจากกระดาษก็จะมีการปรับเพิ่มขั้นตอนอย่างมีแบบแผนมากยิ่งขึ้น และเริ่มต้องมีการซื้อหาอุปกรณ์เพื่อการจัดทำว่าวมากกว่าเดิม โดยต้องมีการทำตัวโครงเพื่อรองรับตัวกระดาษ เพิ่มความคงทนแข็งแรง ความสวยงามและให้สีสันมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงมีความคิดเพียงเพื่อการละเล่นที่ให้ความเพลิดเพลินอยู่เช่นเดิม
การจัดทำ “ว่าว” เริ่มซับซ้อนขึ้นมีเสียงประกอบขณะว่าวกินลม
มีการคิดนำอุปกรณ์มาเสริมเติมมากขึ้นจากแรกเริ่ม และต้นคิดที่อยากให้เกิดเสียงขณะเล่นว่าว และมีความแตกต่างของรูปทรงมากขึ้นไปอีก จากว่าวที่เคยมีลักษณะแบนเรียบมองเป็นมิติเดียว เปลี่ยนแปลงเป็นว่าวที่มีมิติด้วยรูปทรงหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น “ว่าวแอก” แถบประเทศมาเลเซียเรียกว่าวลักษณะนี้ว่า “สะนู หรือ ธนู” ทำจากไม้ไผ่ทรงกระบอกส่วนกลางกลวง ที่บริเวณส่วนหัวของว่าวขณะเมื่อว่าวกินลมบนท้องฟ้า จะมีเสียงดังแอกๆ โดยเสียงจะยาวหรือสั้น นั่นก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคการทำแอกเลย เช่น ว่าวควาย ว่าววงเดือน หรือที่ประเทศมาเลเซียเรียกว่า ว่าวบูรันบูแล นั่นเอง
เริ่มมีความคิดในด้านความเชื่อปัดเป่าเคราะห์กรรมประกอบการทำว่าว
การทำว่าวในลักษณะที่แฝงและเต็มไปด้วยความเชื่อ เริ่มมีเครื่องลางของขลัง การบูชา เพื่อสนองตอบแทนคุณ หรือปัดเป่าเคราะห์กรรมต่างๆ ตามความเชื่อมาเกี่ยวข้อง อันเป็นกุศโลบายบางอย่าง
ปัจจุบันว่าวประดิษฐ์มีความสวยงามสะดุดตา แปลก แตกต่างจากอดีตไปมาก
การทำว่าวมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการออกแบบตกแต่งพิเศษ เน้นแปลกแตกต่างให้สะดุดตา แต่มีประสิทธิภาพในการกินลมลอยตัวได้นานมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น ว่าวงู หรือว่าวประดิษฐ์อื่นๆ แต่ไม่ว่าว่าวจะถูกกำหนดให้ในปัจจุบันจะเป็นแบบไหน แต่ก็ยังอยู่บนวัตถุประสงค์ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินในการเล่น สร้างความสัมพันธ์อันยอดเยี่ยมสมัครสมานสามัคคีแบบหมู่คณะในครอบครัวทีเดียว
วิธีเล่นว่าวให้สนุก
การดูกระแสลมในการเล่นว่าวไทย
กระแสลมของการเล่นว่าว จะเป็นไปตามพื้นที่และกระแสลมที่พัดมาตามลมทะเลและตามฤดูกาล การเล่นว่าวสามารถเล่นได้ 2 ช่วงคือ “หน้าหนาว” เป็นฤดูกาลที่เหมาะกับท่องถิ่นสำหรับคนที่อยู่ใน “ภาคเหนือ” และ “ตะวันออกเฉียงเหนือ” เพราะว่าลมจะพัดจากแผ่นดินลงสู่ทะเล “ส่วนหน้าร้อน” เป็นอีกช่วงที่เหมาะกับคนที่อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ เพราะจะได้รับอิทธิพลของลมตะวันตกเฉียงใต้ กระแสลมจะพัดจากทะเลเข้าสู่พื้นดิน ดังนั้นเราควรจะศึกษาทิศทางลมให้ถูกวิธีเพราะเป็นปัจจัยเบื้องต้นของการเล่นว่าวในพื้นที่ที่คุณจะเล่น เพราะว่าวใช้ลมเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ว่าวสามารถเล่นได้
วิธีการเล่นว่าวของคนไทยที่ถูกหลัก
การเล่นว่าวมี 3 แบบ
แบบที่ 1 การชักว่าวให้ลอยลมปักอยู่กับที่ เพื่อดูความสวยงามของว่าวรูปต่าง ๆ
แบบที่ 2 การบังคับสายชักให้เคลื่อนไหวได้ตามต้องการนิยมกันที่ความงาม ความสูง และบางทีก็คำนึงถึงความไพเราะของเสียงว่าวอีกด้วย ในการเล่นว่าวทั้งสองวิธีนี้ ไทยเราได้ประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ ตามความนิยมในท้องถิ่นมานานแล้ว แต่ในปัจจุบันนี้มีรูปแบบใหม่มาจากต่างประเทศปะปนด้วย ว่าวแบบดั้งเดิมของภาคต่างๆ บางอย่างยังปรากฏอยู่ บางอย่างก็หาดูไม่ได้แล้ว ว่าวซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทยและมีทุกภาคคือ ว่าวจุฬา ส่วนว่าวปักเป้านั้น แม้จะเล่นกันในภาคกลาง แต่ก็เป็นที่รู้จักกันมาก
แบบที่ 3 การต่อสู้ทำสงครามกันบนอากาศ การเล่นว่าวแบบนี้แตกต่างจากชาติอื่น ทั้งตัวว่าวและวิธีที่จะต่อสู้คว้ากัน การแข่งขันว่าวจุฬากับปักเป้านั้น ว่าวปักเป้ามีขนาดเล็กกว่าว่าวจุฬาประมาณครึ่งหนึ่ง การแข่งขันแบบนี้มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังมีการแข่งขันว่าวจุฬา และว่าวปักเป้าในภาคกลางของประเทศไทยมาจนปัจจุบันนี้
ปักหมุดที่เล่น “ว่าว” ได้ไม่ไกลกรุง
สนามหลวง: แหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนเมือง ด้วยพื้นที่โล่งกว้างของท้องสนามหลวง ในทุกหน้าร้อนกิจกรรมที่เราจะเห็นกันชินตา คือ ครอบครัว กลุ่มเพื่อน คู่รัก มักหาเวลาไปร่วมทำกิจกรรมกลางแจ้ง เล่นว่าว ชมวิวพระบรมมหาราชวัง นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ชอบมาแวะชื่นชมสนใจ บริเวณสนามหลวง มักมีพ่อค้าแม่ค้านำว่าวหลากสีสันมาขายริมทาง
(หมายเหตุ: ในช่วงระยะเวลาของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ควรหลีกเลี่ยงความเหมาะสมในการทำกิจกรรมใดๆ ในบริเวณนี้)
สนามกีฬา: เป็นอีกสถานที่โล่งที่ผู้คนมักมาออกกำลังกาย และใช้เป็นสถานที่เล่นว่าว และแข่งขันว่าวแอกโดยไม่มีอุปสรรคหรือสิ่งกีดขวางใดๆ
ชายทะเล: ช่วงซัมเมอร์สถานที่ท่องเที่ยวบริเวณชายหาดเกลื่อนกราดไปด้วยพ่อค้าแม่ขาย ที่นำว่าวหลากหลายรูปแบบแฟนซีสีสันล่อใจ พื้นที่เปิดโล่งบริเวณริมชายหาด เป็นอีกสถานที่เหมาะกับการเล่นว่าว