แจก ๕ สูตรสมุนไพรไทย “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง”
พ่อหมอทองเอก แม่ชบาคนสวย และแก๊งค์ก๊วนแห่งท่าโฉลง ปลุกกระแสนำศาสตร์แพทย์แผนไทยโบราณ ภูมิปัญญาชาวบ้านยุคสมัยรัชกาลที่ ๕ สู่ยุคศิวิไลซ์
ชั่วโมงนี้เห็นแต่หน้าพ่อทองเอกและแม่สาวชบา พร้อมแฮชแท๊กคำประโยคต่างๆ กลายเป็นกระแสโซเชียล ความน่าเอ็นดูของทั้งคู่พร้อมเกลอแก๊งค์ ที่สื่อผ่านละคร “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ทำเอาคนทั้งประเทศหลงรักตัวละครหมดใจ แถมยังปลุกความนิยม “สมุนไพรไทย” ให้กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ต้องยอมรับว่าละครดังชั่วข้ามคืนสร้างปรากฏการณ์ได้อย่างน่าสนใจจริงๆ
เป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนาน การนำพืชสมุนไพรพื้นบ้านมาทำเป็นยารักษาโรคมีทุกยุคสมัย แต่ความคิดหรือค่านิยมอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา “อาจารย์แพทย์คมสัน ทินกร ณ อยุธยา” แพทย์ไทยในราชสกุลทินกร ลำดับที่ ๖ ซึ่งเป็นราชสกุลแพทย์แผนไทยมาตั้งแต่ลำดับชั้นที่ ๑-๗ ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน ท่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเผายา และเป็นที่ปรึกษาให้กับกองละครเรื่องนี้ ที่ทุ่มเทสุดกำลังนำองค์ความรู้อันตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น สมบัติภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาในราชสกุลแพทย์ทินกร สอดแทรกในทุกช่วงตอนของละครให้ผู้ชมได้รับประโยชน์ ปัจจุบันสูตรยาท่านคืนสู่แผ่นดิน อุทิศให้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทย
Around Online ขอนำคุณสรรพคุณพืชสมุนไพรไทย ๕ สูตร “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” มาเป็นทางเลือกของการบำบัดรักษา หรือได้มีข้อมูลไว้หาผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรไทยเหล่านี้ยามจำเป็นต้องใช้ หรือจะนำแบบสดมาลองปรุงยาบรรเทาอาการเบื้องต้น
๕ สูตรสมุนไพร “ทองเอก หมอยาท่าโฉลง”
สูตรที่ ๑ ปรุงยาทาแก้อาการอักเสบ
วัตถุดิบ
- ผักบุ้งทะเล
- น้ำส้มสายชู
ปรุงยา
นำผักบุ้งทะเล ใช้เป็นยาทาแก้อาการอักเสบ แก้พิษจากแมงกะพรุนไฟ ทำให้แผลหายเร็วและไม่เป็นแผลเป็น ต้นสดนำมาตำให้พอแหลกผสมกับน้ำส้มสายชู นำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น หรือใช้ใบสดประมาณ ๑o-๑๕ ใบ นำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำทาแผลบริเวณที่ถูกแมงกะพรุน
สูตรที่ ๒ ปรุงยาแก้ไข้ไอ
วัตถุดิบ
น้ำมะนาว | เถาบอระเพ็ด | เกลือ
ปรุงยา
น้ำมะนาว เถาบอระเพ็ด แทรกเกลือหนึ่งรำหัดฝนเข้าด้วยกัน ใช้กวาดคอเด็กแก้ไอแก้ไข้
สูตรที่ ๓ ปรุงยาดม
วัตถุดิบ
ลูกกระวาน | กานพลู | อบเชยเทศ | พิมเสน
ปรุงยา
ในสมัยก่อนเข้าเครื่องเทศของหอม เช่น ลูกกระวาน กานพลู อบเชยเทศ นำมาบดหยาบเจือด้วยพิมเสนหอม แล้วห่อด้วยผ้าขาวบางใช้สูดดม
สูตรที่ ๔ ปรุงยาบำรุงผมให้ดกดำเงางาม
วัตถุดิบ
ใบชบา | น้ำเปล่า
ปรุงยา
ใบชบาสามารถช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้ ช่วยบำรุงผมให้ดกดำเงางาม ด้วยการใช้ใบชบาประมาณ ๑ กำมือ ล้างให้สะอาด แล้วนำมาตำให้แหลก เติมน้ำเล็กน้อย ให้คั้นเอาแต่น้ำแล้วกรองกากทิ้ง หลังจากนั้นให้ใช้น้ำเมือกจากใบชบามาใช้สระผม จะช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกและช่วยบำรุงผมด้วย
สูตรที่ ๕ ปรุงยาแก้หวัดคัดจมูก
วัตถุดิบ
ว่านหอมแดง
ปรุงยา
ว่านหอมแดงตำรายาไทย ใช้ส่วนหัวมีรสร้อน สรรพคุณช่วยขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือตำผสมกับเหง้าเปราะหอมสุมหัวเด็ก แก้หวัดคัดจมูกในเด็ก เป็นยาขับปัสสาวะ ยาระบาย ทำให้อาเจียน แก้บิด และอาการอักเสบของริดสีดวงทวาร น้ำยาที่ได้จากหัวใต้ดินใช้ทาบาดแผล แมลงกัดต่อย บดเป็นผงทาแก้ปวดท้อง
*การปั้นยาลูกกลอน
โดยใช้รางกลิ้งยา กรรมวิธีปรุงเป็นยาลูกกลอนนั้นสะดวกกว่ายาต้ม ทำให้เก็บยาได้นานขึ้น สะดวกต่อการกินและง่ายต่อการพกพา ใช้กับตำรับยาที่ต้องเข้ากระสายไปกับยา สามารถยักยายักกระสายให้ต้องอาการมากขึ้น และได้หลากหลายอาการในยาตำรับเดียวเท่านั้น เป็นศาสตร์เป็นศิลป์หนึ่งของหมอยาไทย สมกับที่ใช้ศิลปะในการประกอบอาชีพ สมชื่อ “ใบประกอบโรคศิลปะ” มาแต่เดิม
*การต้มยา
การต้มสามเอาหนึ่ง ขณะต้มถ้าคนยาให้วนขวาด้านมงคล เมื่อต้มแล้วให้ปิดฝาหม้อด้วยใบตองปักเฉลว เพื่อให้ทราบว่าหม้อนี้คือยา และเพื่อเป็นการป้องกันคุณไสยต่างๆตามความเชื่อ
ทั้งนี้ตำรับยาแพทย์แผนโบราณของไทย มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ก่อนใช้หรือผสมยารับประทานเอง ควรปรึกษาหมอที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางเสียก่อน เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษาให้ถูกโรค และไม่เกิดอาการแพ้
Info & Photo Credit: Facebook อาจารย์คมสัน ทินกร ณ อยุธยา
Photo Credit: ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง