TOP

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว…ทรงบรรเทาทุกข์อาณาราษฏร สนับสนุนการจ้างงาน ในโครงการ “ฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19”

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วโลก และแม้แต่ผู้คนในประเทศได้รับความเดือดร้อนหนักในวงกว้างทุกสาขาอาชีพ ทำให้ผู้คนมากมายตกงาน ถูกเลิกจ้าง และประกอบอาชีพได้ยากลำบาก ขาดรายได้ที่จะมาดูแลตนเองและครอบครัว จนต้องเดินทางกลับยังบ้านเกิดภูมิลำเนา เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์แก้ไขความเดือดร้อนเรื่องปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์เช่นนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” พระราชกรณียกิจใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้อาณาราษฎร ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้นำที่ดินในโครงการฟาร์มตัวอย่าง มาสนับสนุนการจ้างงาน เพื่อให้ประชาชนมีอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้

โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงมหาดไทย กระทรงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทยและเหล่าทัพ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องและเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนโครงการ “ฟาร์มตัวอย่างฯ ต้านภัยโควิด-19” ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการน้อมนำโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ บรมราชชนนีพันปีหลวง จำนวน 30 ฟาร์ม จาก 61 ฟาร์ม ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้พื้นที่ว่างส่วนหนึ่งของฟาร์มตัวอย่าง ตามความเหมาะสมของแต่ละฟาร์ม ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 5 ไร่ จนถึง 35 ไร่ มีพื้นที่รวมทั้งหมด 471 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา น้อมนำเอาโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้ฟาร์มตัวอย่างกลายเป็นแหล่งอาหาร เพิ่มรายได้ สามารถสร้างเป็นอาชีพอย่างยั่งยืน โดยประชาชนไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐาน ไปทำงานในเมืองเหมือนเช่นเคย

 

โดยการนำองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ ตามแนวทาง “เกษตรทฤษฎีใหม่” มาประกอบการดำเนินงานเน้นการมีส่วนรวมของประชาชน ด้วยการจ้างเป็นแรงงานในฟาร์มตัวอย่าง ปัจจุบันมีผู้สมัครทั้งหมด 1,104 คน ทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ภาคเหนือ จำนวน 2 ฟาร์ม 110 คน, ภาคกลาง จำนวน 3 ฟาร์ม 150 คน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 10 ฟาร์ม 346 คน, ภาคใต้ จำนวน 15 ฟาร์ม 498 คน

การดำเนินงาน “ฟาร์มตัวอย่าง ต้านภัยโควิด-19″ โดยศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราทาน ได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน 6 คณะ ประกอบด้วย คณะทำงานฝ่ายอำนวยการ, คณะทำงานฝ่ายสนับสนุน, คณะทำงานฝ่ายติดตามและประเมินผล, คณะทำงานฝ่ายวิชาการ, คณะทำงานฝ่ายศิลปาชีพ และคณะทำงานฟาร์มตัวอย่าง โดยแต่ละฟาร์มแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ขั้นตอน

 

ขั้นตอนที่ 1 ระยะเวลา 2 เดือน (พ.ค.-มิ.ย.) มีการวางแผนออกแบบปรับปรุงพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นพื้นฐาน หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ปั้นโคก สร้างหนอง และทำนา” ด้วยการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อสร้างอาหารให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และได้มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กับประชาชนในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมถึงได้ดำเนินการปรับพื้นที่ฟาร์มในลักษณะโคกหนองงา เพื่อเตรียมไปสู่การปฏิบัติในห้วงสัปดาห์ที่ 2

 

ขั้นตอนที่ 2 ระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) เป็นการเสริมสร้างพืชผล และเสริมสร้างเกี่ยวกับฐานการเรียนรู้ที่จำเป็น เมื่อผลผลิตจากฟาร์มมีเพียงพอสำหรับคนในฟาร์มแล้ว สามารถนำไปแบ่งปันให้แก่คนในชุมชนที่ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้เกิดความเชื่อมั่นเรื่อง “การให้” ยิ่งทำยิ่งได้ยิ่งให้ยิ่งดี ตามตัวอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สอนไว้ว่า “ขาดทุนเป็นการได้กำไรของเรา” หลังจากแบ่งปันแล้ว ยังมีผลผลิตเหลืออยู่ เรียนรู้วิธีเก็บรักษา และใช้ภูมิปัญญาแปรรูปอาหารที่เหลือเหล่านั้น ไว้บริโภคตลอดทั้งปี

 

ขั้นตอนที่ 3 ระยะเวลา 1 เดือน (ก.ย.) เป็นการเรียนรู้การขายผลผลิตที่เหลือจากขั้นที่ 2 แบบพอประมาณ ของที่นำมาขายเป็นของที่เหลือจากทุกขั้น ขายด้วยความรู้สึกของการให้ อุ้มชู เผื่อแผ่ และแบ่งปันไปด้วยกัน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งจังหวัดและประเทศ เพื่อขยายตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ในวีธีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมในชุมชน นำไปสู่การสร้างวิสาหกิจเพื่อสังคม

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด19 ยังคงอยู่กับประเทศไทยไปอีกเป็นระยะเวลานาน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการต่างๆ แล้วก็ตาม แต่วิถีชีวิตคนไทย คงไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป หรือที่เรียกว่าวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ New Normal ภายใต้พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด และได้ทรงพระราชทานที่ดินในฟาร์มตัวอย่าง ให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ได้มีอาชีพ มีอาหาร มีรายได้ โดยภายใต้การนำของทีมงานจิตอาสา 904 ชุดครูพาทำ จากศูนย์ฝึกโรงเรียนจิตอาสา 904

 

วิทยากรเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และทีมชุดสถาปนิกออกแบบ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และความร่วมมือสนับสนุนอีกหลายหน่วยงาน มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่ยั่งยืนตลอดไป ดั่งพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2547 ความว่า

“ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฏีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจิญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้…”

 

น้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้น ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งมั่นพระราชหฤทัยสืบสานในพระราชปณิธาน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ราษฎรทุกหมู่เหล่ามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานมาทำงานในเมืองไกล มีชีวิตอย่างมั่นคงบนผืนแผ่นดินเกิด

 

เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 ปวงข้าพระพุทธเจ้า ผู้บริหารและทีมงาน นืตยสารอะราวด์ ขอทรงพระเกษมสำราญสถิตเป็นมิ่งขวัญแห่งปวงประชา สถาพรตราบกาลนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

 

**********************

เครดิตภาพ: ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จากโครงการพระราดำริฟาร์มตัอย่างบ้านตาเขียว

กรมประชาสัมพันธ์

 

 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด