TOP

ยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยนวัตกรรมใหม่เพื่อการรักษาและวินิจฉัย “โรคมะเร็งปอด” เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย

มะเร็งปอด โรคร้ายที่จัดเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญอันดับต้นๆ ของโลก และประเทศไทย สถิติชี้ว่าในประเทศไทยมีอุบัติการณ์สูงสุดอันดับ 1 และมีอัตราการเสียชีวิตมากเป็นอันดับที่ 2 เมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เนื่องจากมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกมักไม่แสดงอาการ จึงทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่ตรวจพบในระยะที่แพร่กระจาย หรือลุกลามไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายแล้ว โดยข้อมูลตามสถิติเผยว่า ผู้ป่วยในระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้ายมีไม่ถึง 5% เท่านั้น ที่มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี  ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด มีหลายสาเหตุด้วยกัน โดยสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ รวมถึงการได้รับสารพิษ และมลภาวะจากสิ่งแวดล้อม อายุ หรือ มีประวัติของคนในครอบครัวที่พบมะเร็งปอดมาก่อน ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดทั้งสิ้น

มะเร็งปอด แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท ตามพยาธิสภาพของมะเร็ง คือ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Lung Cancer – SCLC) และชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer – NSCLC) โดยอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดในชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก จะพบมากถึง 80-85%

ในอดีต การรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิด NSCLC ที่แพร่กระจายแล้วมีเพียงทางเลือกเดียว คือการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งมีผลข้างเคียงบางอย่างที่อาจรุนแรง จนทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถใช้ยาต่อเนื่องได้ แต่ในปัจจุบัน นวัตกรรมทางการแพทย์ทั้งในด้านการวินิจฉัย และการรักษาก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมีโอกาสการรอดชีวิตที่เพิ่มขึ้น และคุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้นอีกด้วย การรักษามะเร็งปอดนั้นมีด้วยกันหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การให้ยาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งออกฤทธิ์มุ่งเป้าต่อเซลล์มะเร็งที่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่เฉพาะเจาะจง หรือการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งช่วยปรับให้การทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันมะเร็งในร่างกายผู้ป่วย สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ โดยการรักษาด้วยการให้ยาแบบมุ่งเป้าและภูมิคุ้มกันบำบัด มักมีผลข้างเคียงน้อยกว่าวิธีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ การเลือกวิธีการรักษาจำเป็นต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญคัดเลือกให้เหมาะกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ระยะและตำแหน่งของโรค ขนาดของก้อนเนื้อ รวมไปถึงสภาพร่างกายของผู้ป่วยในแต่ละบุคคล

สำหรับความก้าวหน้าในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ด้วยการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดพัฒนาไปมากจากอดีต โดยปัจจุบันได้นำมารักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดที่มีโปรตีน PD-L1 สูง และไม่มีความผิดปกติของยีน Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) และ Anaplastic Lymphoma Kinase (ALK) โดยเซลล์มะเร็งปอดสามารถหลบเลี่ยงการทำลายจากระบบภูมิคุ้มกันมะเร็ง ด้วยการสร้างโปรตีน PD-L1 บนผิวเซลล์เพื่อยับยั้งการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิด cytotoxic T cell ที่มีหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย รวมทั้งเซลล์มะเร็ง ความรู้เรื่องนี้นำไปสู่การคิดค้นวิธีการรักษาเพื่อยับยั้งการทำงานของ PD-L1 บนเซลล์มะเร็ง โดยใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อต่อต้านการทำงานของ PD-L1 พบว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยในการกำจัดเซลล์มะเร็งปอดได้ดีขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิตถึง 41% เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด อีกทั้งช่วยให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน และภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จากการศึกษาพบว่า มีผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด เกิดผลข้างเคียงรุนแรง 12.9% ในขณะที่ผู้ป่วยที่รับยาเคมีบำบัด เกิดผลข้างเคียงรุนแรง 44.1% ด้วยนวัตกรรมการรักษาใหม่นี้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยในระยะยาว

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า การจำแนกผู้ป่วยมะเร็งปอดที่มีความผิดปกติ ทั้งในด้านพันธุกรรมของมะเร็ง และลักษณะของเซลล์มะเร็งที่ต่อต้านระบบภูมิคุ้มกันมะเร็งให้ชัดเจน จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการเลือกแผนและวิธีการรักษาให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละรายให้มากที่สุด ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง ที่พบในตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยด้วยชุดตรวจ FoundationOne Liquid CDx ซึ่งเป็นการตรวจยีนมะเร็งอย่างครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) และเป็นเทคนิคการตรวจพันธุกรรมของมะเร็งที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration) โดย FoundationOne Liquid CDx สามารถตรวจหารูปแบบการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็ง ได้มากกว่า 300 ชนิดต่อการตรวจตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยเพียง 1 ครั้ง ทำให้สามารถเห็นภาพรวมของการกลายพันธุ์ในเซลล์มะเร็ง และโอกาสที่อาจจะเกิดการกลายพันธุ์ได้ในอนาคต เพื่อเป็นข้อมูลช่วยให้แพทย์วางแผนและเลือกวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมและเฉพาะเจาะจงต่อผู้ป่วยแต่ละบุคคล

“สมัยก่อน การรักษามะเร็งปอดมีเพียงการรักษาด้วยเคมีบำบัด แต่ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ในปัจจุบันมีการการค้นคว้าและพัฒนาตัวยาใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น การพบการกลายพันธุ์ของยีนหลากหลายรูปแบบในผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิด NSCLC ด้วยเทคโนโลยีการวินิจฉัยทางการแพทย์สมัยใหม่ ยังช่วยให้แพทย์ทราบข้อมูลพันธุกรรมของมะเร็งได้ง่ายและครบถ้วนมากขึ้น ทำให้แพทย์กำหนดแนวทางการรักษาและเลือกยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย ส่งผลให้การรักษาและการกำจัดเซลล์มะเร็ง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” รศ.ดร.นพ. วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อดีตนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย (Thai Society of Clinical Oncology: TSCO), คณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย (Thai Lung Cancer Group: TLCG), หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 

ขอขอบคุณ : รศ.ดร.นพ. วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อดีตนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด