ไมเกรน…โรคยอดฮิตภัยเงียบที่ทำลายชีวิตของคนทำงาน
การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนในวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับการแข่งขัน และความกดดันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องเผชิญกับความเครียดสะสม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง รวมไปถึงบั่นทอนสุขภาพกายและใจ และยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคยอดฮิตของคนวัยทำงานอย่าง “โรคไมเกรน” โรคที่ไม่ใช่แค่อาการปวดหัวทั่วไปอย่างที่ทุกคนคิด แต่เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างแท้จริง ซึ่งการมีความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้อง จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการเริ่มต้นสังเกตตนเอง และบุคคลใกล้ชิดให้ห่างไกลจากโรคไมเกรนได้ยิ่งขึ้น
ผศ.นพ. สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ทุกวันนี้ ‘โรคไมเกรน’ เป็นเทรนด์โรคทางสมองที่กำลังมาแรง ในกลุ่มคนทำงานที่เผชิญกับสิ่งกระตุ้น เช่น ความเครียดสูง การนอนผิดเวลา การเดินทางที่ต้องเผชิญกับสภาวะอากาศแปรปรวน ในทุกสังคมทั่วโลก โดยจะพบผู้ป่วยอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 25 – 30 ปี มากที่สุด และมักพบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ด้วย 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคคือ ร้อยละ 10 – 20 สืบเนื่องมาจากพันธุกรรมที่มีประวัติของคนในครอบครัวที่เป็นไมเกรนอยู่แล้ว และกว่าร้อยละ 80 – 90 เกิดจากพฤติกรรมสิ่งแวดล้อมที่สมองตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นตัวกระตุ้น ทำให้การรับรู้สึกถึงระบบประสาทเกิดความเปลี่ยนแปลงไวกว่าคนปกติ (Hypersensitivity) เช่น ความเครียด ฮอร์โมน การพักผ่อนไม่เพียงพอ อากาศเปลี่ยนแปลง ความไวต่อแสงจ้า เสียงดัง และกลิ่นฉุน ล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นชั้นยอดต่ออาการปวดศีรษะ รวมไปถึงการเคลื่อนไหว เนื่องจากการเคลื่อนไหวจะกระตุ้นให้อาการปวดศีรษะเลวร้ายมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้โรคไมเกรนยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน หงุดหงิดง่าย ซึ่งหากยิ่งซ้ำเติมจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงไปอีก โดยระยะของโรคไมเกรน สามารถจำแนกได้ด้วยระดับความปวดศรีษะของโรคไมเกรน จะแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะนำ (Prodrome) คือการบอกเหตุก่อนเริ่มมีอาการปวดศีรษะ ประมาณ 1-2 วัน โดยผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางระบบสมองที่ควบคุมร่างกาย เช่น ตัวบวม ปวดเมื่อยตามตัว อารมณ์ รวมถึงพฤติกรรม และความอยากอาหารมากกว่าปกติ
- ระยะอาการเตือน (Aura) คือการเตือนก่อนเกิดอาการปวดศีรษะ ประมาณ 5-60 นาที แต่จะไม่เกิดกับผู้ป่วยทุกคน เป็นอาการที่เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ สามารถเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น มองเห็นแสงกระพริบๆ แสงซิกแซก มองเห็นเป็นเส้นคลื่น หรืออาการที่เกิดจากความรู้สึก การเคลื่อนไหว กล้ามเนื้ออ่อนแรง รู้สึกชาที่มือหรือเท้า การพูดลำบาก พูดไม่ชัด ซึ่งอาการเหล่านี้ จะค่อยๆ เริ่มเกิดขึ้น และจะยังคงมีความรู้สึกนี้เป็นชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงก็ได้ หากมีหลายอาการ
- ระยะปวดศีรษะ (Headache) คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง โดยมีอาการปวดแบบตุบๆ ตามจังหวะหัวใจเต้น มักจะมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน และผู้ป่วยบางรายอาจไวต่อแสงหรือเสียงดัง ซึ่งอาการปวดศีรษะอาจยาวนาน 4-72 ชั่วโมง
- ระยะหลังจากปวดศีรษะ (Resolution) หรือระยะพัก คืออาการปวดศีรษะและอาการอื่นๆ จะค่อยๆ ลดลง ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกเหนื่อยล้า ซึ่งอาจกินระยะเวลาไม่กี่วัน หลังจากหายปวดศีรษะ
อีกทั้งอาการปวดยังสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อย ตามระยะการดำเนินของโรคไมเกรน ได้อีก 2 กลุ่ม ได้แก่ การเกิดไมเกรนเป็นครั้งคราว คืออาการผู้ป่วยธรรมดาทั่วไป จะปวดน้อยกว่า 15 วันต่อเดือน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า การเกิดไมเกรนแบบเรื้อรัง คือ อาการปวดนานมากกว่าหรือเท่ากับ 15 วันต่อเดือน ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องพิจารณาตนเอง หลีกเลี่ยงสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดอาการมากที่สุด
ดังนั้นทางการแพทย์แผนปัจจุบัน การรักษาไมเกรนให้หายขาดยังเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป ซึ่งจุดมุ่งหมายในการรักษา จึงอยู่ที่การรับมือกับอาการปวด ไม่ว่าจะด้วยการรักษาทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา หรือป้องกันอาการด้วยการหลีกเลียงจากสิ่งเร้า ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกข์ทรมานจากความปวดน้อยลง และประกอบกิจวัตรต่างๆ ทำงานได้ตามปกติ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การปวดเรื้อรัง คือหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี รวมทั้งพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา นอนหลับให้เพียงพอประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จดบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับความปวด อาทิ วัน เวลา ระยะเวลา ลักษณะอาการปวด อาหารที่รับประทาน รวมถึงความผิดปกติต่างๆ อีกทั้งหากผู้ป่วยมีอาการมากกว่าปวดศีรษะจนผิดสังเกต เช่น มีไข้สูง ตาเห็นภาพซ้อน ตาเหล่ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แบบนี้ไม่ใช่ไมเกรนแน่ๆ แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นความผิดปกติทางระบบประสาท หรืออาการปวดศีรษะชนิดที่แปลกออกไป แบบที่ไม่เคยปวดมาก่อน เช่น ปวดต่อเนื่องยาวนานไม่ดีขึ้นแม้ใช้ยา แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก พูดไม่ออก ถ้ามีอาการแบบนี้ต้องรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน อย่าปล่อยทิ้งไว้
“สุดท้ายนี้แม้อาการปวดศีรษะแบบไมเกรนจะเป็นประสบการณ์ที่แสนทรมาน แต่หากรู้จักรับมืออย่างถูกวิธีแล้ว ไมเกรนก็อาจไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือการทำงานของคุณจนเกินไปนัก ความเข้าใจภาวะโรคไมเกรนของตัวเอง จะช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับโรคได้ดีขึ้น ปัจจุบัน มี Smile Migraine Application ซึ่งผมและทีมงานได้พัฒนาขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ป่วยไมเกรนสามารถบันทึก ติดตาม อาการปวดศีรษะ และยาที่รับประทาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และทำให้ผู้ป่วยไมเกรนกลับมายิ้มได้อีกครั้งหนึ่ง หรือ หากต้องการพบปะพูดคุยกับผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนด้วยกัน และ ช่วยกันสร้างความตระหนักร่วมกันว่า “โรคไมเกรนรักษาได้” สามารถเข้าร่วมได้ที่ Smile Migraine Community ซึ่งประกอบด้วย Facebook Page, Instagram, Twitter และ YouTube” ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช กล่าวเสริม