TOP

เทิดพระเกียรติ 88 พรรษา “แม่แห่งแผ่นดิน” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

นับว่าเป็นบุญของประเทศชาติ ที่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในพระบรมราชจักรีวงศ์แต่ละพระองค์ ล้วนทรงพระปรีชาสามารถในพระราชกิจเหมาะสมแก่กาลสมัย และเป็นศูนย์รวมจิตใจ เริ่มตั้งแต่พระปฐมกษัตริย์ ที่ได้ทรงวางรากฐานทำนุบำรุงบ้านเมือง สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมทุกแขนง และเชิดชูพระบวรพุทธศาสนาให้กว้างไกล สืบต่อรัชสมัยกันตามลำดับ จนถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คู่พระบารมีปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เป็นศูนย์รวมจิตใจ ศูนย์รวมความรักของปวงชนชาวไทยทั้งชาติ ทรงนำความร่มเย็นมาสู่อาณาประชาราษฎร์ ตราบจนรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระองค์มิได้ทรงเป็นพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระสิริโฉมงดงามเท่านั้น หากแต่ยังทรงพระปรีชาสามารถเชี่ยวชาญในกิจการงานต่างๆ รอบด้าน อันเป็นที่ประจักษ์มาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน จนทรงได้รับการสรรเสริญพระเกียรติคุณขจรขจายไปทั่วทั้งในประเทศและนานาประเทศทั่วโลก ยิ่งไปกว่าพระบรมราชินีพระองค์อื่นใดในโลก

 

แม่แห่งแผ่นดิน

ใจความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ครั้งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เป็นการบอกเล่าเรื่องราวการทรงงานของพระองค์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

“ข้าพเจ้าเองได้รับความเมตตาสนับสนุนจากคนไทยทุกชนชั้นวรรณะ ทุกการงานมาช้านาน ตั้งแต่เป็นพระราชินีอายุ 17 ปี จนปัจจุบัน ประชาชนก็ยังเรียกว่า “คุณแม่” ทีแรกก็ตกใจ เอ๊ะ คนเรียกเราดูเขาแก่กว่าเรา ทำไมเขาเรียกเราคุณแม่ ทีหลังก็สำนึกได้ว่า แม่นี่เป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งที่สุด การที่ใครเรียกคนหนึ่งว่าแม่นี่ บุคคลที่ถูกเรียกจะต้องคิดและสำนึกในเกียรติยศอันนี้ และทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”

 

“คำว่าให้..ไม่มีที่สิ้นสุด”

นอกจากทรงเป็นแม่ผู้ประเสริฐของพระราชโอรส ธิดาแล้ว พระองค์ยังเป็น “แม่แห่งแผ่นดิน” ของปวงชนชาวไทย พระเมตตาดั่งสายธารของพระองค์ที่ทรงงานหนัก พระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริต่างๆ มีมากมายกว่า 700 โครงการ ซึ่งมีความหลากหลายทางด้านชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคน สัตว์ พืช สายพันธุ์ และระบบนิเวศน์ จนได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศมาโดยตลอด อันมีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม จากการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับสนองพระราชดำริ อาทิ การอนุรักษ์พันธ์ุเต่าทะเล, การสร้างปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาศัย และเพิ่มประชากรสัตว์น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล การฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพด้วยป่าไม้ของประเทศ ให้กลับมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นรากฐานทรัพยากรอันอุดมสมูรณ์ให้แก่ลูกๆ บนผืนแผ่นดินไทยของพระองค์ได้ใช้ในการดำรงชีวิต

 

พระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์

องค์กรสำคัญทั้งในและต่างประเทศ

ต่างสรรเสริญประกาศเกียรติคุณ

ด้วยพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นอเนกอนันต์ ก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ราษฎรของพระองค์อย่างแท้จริง ทำให้องค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเกิดความศรัทธา และยินดีในพระปรีชาสามารถ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โล่เฉลิมพระเกียรติ รางวัล และประกาศเกียรติคุณต่างๆ เป็นจำนวนมากแก่พระองค์ เช่น องค์การเอฟเอโอ ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญซีเรส เทิดพระเกียรติที่ทรงยกฐานะของสตรีให้มีระดับสูงขึ้น เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ขณะที่ มหาวิทยาลัยทัฟฟ์ แห่งรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม ในฐานะที่ทรงยกระดับฐานะการครองชีพของประชาชน และช่วยบรรเทาทุกข์ของเด็กๆ ในหมู่ผู้ลี้ภัย เมื่อปี พ.ศ. 2523, กองทุนพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแห่งความเป็นเลิศ ในฐานะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจพัฒนาสตรีไทย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2535, มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ รัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2538, สมาคมไหมโลก ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลหลุยส์ ปาสเตอร์ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเทิดพระเกียรติในพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ และพัฒนาการผลิตไหมไทย จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก รวมทั้งช่วยให้ราษฎรผู้ผลิตไหมไทยมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2545 นอกจากนี้ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งอังกฤษ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ซึ่งสถาบันแห่งนี้เคยมอบให้แต่เฉพาะผู้ที่เป็นแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นที่รู้จักระดับโลกเท่านั้น, สหพันธ์เด็กแห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็ก เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2524, สถาบันเอเชียโซไซตี้ แห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลด้านมนุษยธรรม เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2528, ศูนย์ศึกษาการอพยพ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐนิวยอร์ก กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทรงรับรางวัลความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยประจำปี ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2533, องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโบโรพุทโธ ในฐานะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอนุรักษ์ และพัฒนางานศิลปหัตถกรรม ณ ศาลาธรรม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2535, กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติ (ยูนิเซฟ) ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติคุณพิเศษ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในฐานะทรงอุทิศพระองค์ประกอบพระราชกรณียกิจ อันเป็นผลให้แม่และเด็กนับล้านได้รับบริการขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2535

 

ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหลากหลายรูปแบบ ด้วยทรงเล็งเห็นว่าการศึกษาจะสร้างรากฐานที่ดีให้กับชีวิตเป็นอย่างมาก แม้แต่ทรงพระอุตสาหะสอนหนังสือราษฎรด้วยพระองค์เอง และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นทุนการศึกษาแก่ครอบครัวที่ยากจน ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน โดยทรงรับไว้เป็นนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ ส่วนครอบครัวของเด็ก ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เข้ารับการฝึกอบรมอาชีพเสริม เพิ่มพูนรายได้ให้ครอบครัวดำรงชีวิตเป็นสุขตามอัตภาพ ในโครงการต่างๆ เช่น หัตถกรรมจักสานของโครงการหุบกะพง, โครงการจักสานย่านลิเภา, ทำเครื่องปั้นดินเผาในภาคใต้

 

องค์ผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ “ทหารเสือราชินี”

ด้านความมั่นคงของประเทศ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเหล่าทหารหาญ ถึงฐานปฏิบัติการต่างๆ ตามชายแดน ทรงเสด็จพระราชดำเนินดูแลทุกข์สุข ปลอบขวัญ ให้กำลังใจ แก่ทหารต่อสู้ปกป้องผืนแผ่นดิน นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่อาณาประชาราษฎร์ ให้สามารถทำมาหากินได้อย่างสงบสุข อีกทั้งพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์ผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ร.21 รอ.) ทรงที่มีพระราชประสงค์ให้กำลังพลได้รับการฝึกพิเศษ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจทุกรูปแบบ ทุกสภาพภูมิประเทศ

 

ส่งเสริมงานหัตถกรรม สืบสานงานฝีมือ

เป็นเวลามากกว่า 50 ปีที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้ทอดพระเนตรเห็นทุกข์สุขของราษฎร ทรงพบว่าราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพกสิกรรม ต้องประสบปัญหาภัยธรรมชาติต่างๆ ที่ทำให้การประกอบอาชีพไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร แต่กลับพบว่าราษฎรไทยหลายท้องถิ่น มีฝีมือเป็นเลิศทางหัตถกรรมอันสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ เห็นสมควรอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสมบัติชาติสืบไป ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่งเสริมงานหัตถกรรมแก่ราษฎร ด้วยการฟื้นฟูหัตถกรรมแบบไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณ ซึ่งกำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลาให้กลับมาแพร่หลาย เช่น การทอผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายโบราณ, การทอผ้าแพรวา, จักสานย่านลิเภา, การทำเครื่องถมเงินและถมทอง เหล่านี้เป็นหัตถกรรมที่ต้องใช้ฝีมือ เวลา และความอดทนเป็นอย่างมาก จึงหาผู้ที่สนใจสืบทอดวิชาเหล่านี้เป็นอาชีพได้ยากยิ่ง ทรงส่งเสริมให้เกษตรกรที่ว่างจากฤดูเพาะปลูก มีงานทำอยู่กับบ้าน ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานของตนเอง เข้าไปทำงานรับจ้างในเมืองใหญ่ๆ ก่อให้เกิดปัญหาชุมชนแออัดในระยะยาวต่อไป นับว่าเป็นการช่วยรักษากรรมสิทธิ์ในที่ดินของราษฎรผู้มีรายได้น้อยอีกทางหนึ่งด้วย และทรงพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนหัตถกรรมแทบทุกประเภท แก่บุตรหลานของราษฎรผู้ยากไร้ขึ้นในสวนจิตรลดา และในบริเวณพระตำหนักอีกด้วย ทรงรับเด็กยากจนและการศึกษาน้อยผู้ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทางการช่างใดๆ เข้ามาเป็นนักเรียนศิลปาชีพ รวมทั้งโปรดที่จะทรงใช้สอยผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพทุกชนิด เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎรทั่วไป จากนั้นจึงได้มีการจัดตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”

 

อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ให้สืบสานอยู่คู่แผ่นดินไทย

ทรงสนพระราชหฤทัยงานด้านศิลปวัฒนธรรม อันเป็นรากเหง้าที่สำคัญของชาติ หนึ่งในนั้นคือ “นาฏกรรมโขน” ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้อนุรักษ์และสืบสานอยู่คู่แผ่นดินไทย ดังพระราชปรารภที่ว่า “ทุกวันนี้ประชาชนชาวไทย ไม่ใคร่มีโอกาสได้ชมโขน เนื่องจากการจัดแสดงโขนแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นการแสดงโขนตามโบราณราชประเพณี เริ่มต้นจากการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ สำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน ทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ แต่มีความคงทนและสวยงามยิ่งขึ้น พระองค์ทรงพลิกฟื้นฝีมือช่างหัตถศิลป์หลายแขนง ทั้ง วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ ศิลปกรรม และพัสตราภรณ์ของไทย ให้คืนกลับมา ทั้งยังทำให้เกิดสกุลช่างในรัชกาลปัจจุบัน

 

ป่ารักน้ำ

โครงการปลูกป่าบนพื้นที่ป่าที่พระองค์ทรงขอซื้อพื้นที่ที่ชาวบ้านแผ้วถางแล้วถูกทิ้งร้าง โดยนำพื้นที่ดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดเป็นโครงการ “ป่ารักน้ำ” โดยราษฎรเป็นผู้ปลูกและช่วยกันดูแล เพื่อให้เกิดความรู้สึกหวงแหนด้วยสำนึกรักเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับผืนป่า โดยทรงว่าจ้างราษฎรเป็นรายเดือนจากนั้นจะทรงลดความช่วยเหลือไปเรื่อยๆ เมื่อราษฎรในพื้นที่สามารถตั้งตัวและหาเลี้ยงชีพได้ โครงการก็จะชะลอและยุติลง เมื่อได้ทรงริเริ่มโครงการป่ารักน้ำขึ้นแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังได้พระราชทานนโยบายให้จัดตั้งหมู่บ้านป่ารักน้ำขึ้น ให้มีสถานะเป็นบ้านน้อยในป่าใหญ่ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากจนไม่มีที่ทำกิน ปัจจุบันโครงการป่ารักน้ำในพระราชดำริ มีอยู่ทั้งสิ้น 5 แห่ง ในจังหวัดสกลนคร ได้แก่ โครงการป่ารักน้ำบ้านถ้ำติ้ว ตำบลส่องดาว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร โครงการป่ารักน้ำบ้านป่ารักน้ำ ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร โครงการป่ารักน้ำ บ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร โครงการป่ารักน้ำบ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร และโครงการป่ารักน้ำ บ้านทรายทอง ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาวจังหวัดสกลนคร

 

แม่และครูของพระราชโอรส-ธิดา

แม้จะทรงดูแลพระราชภารกิจบำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อปวงประชาราษฎร อันเปรียบดั่งลูกๆ ของพระองค์ ในฐานะ “แม่แห่งแผ่นดิน” แล้ว พระองค์ยังทรงเป็นทั้งแม่และครูของพระราชโอรส-ธิดาอีกด้วย ทั้งสองภารกิจยิ่งใหญ่ที่ทำควบคู่ไปพร้อมๆ กัน แต่พระองค์ทรงเป็น “แม่” สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง พระบรมราชินีผู้สง่างาม พระเกียรติคุณขจรไกล แซ่ซ้องพระบารมี ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด