10 เรื่อง ที่ลูกจ้างผู้ใช้แรงงานควรรู้!
มนุษย์งานอย่างเรา พอต้นปีปุ๊บ ก็มักเช็ควันหยุดทำการประจำปี คนใช้แรงงานที่เป็นลูกจ้างอย่างเราๆ จะได้มีเวลากลับไปเยี่ยมครอบครัว 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นหนึ่งวันหยุดในปฏิทินสากล ลูกจ้างในหลายประเทศ ต่างก็รอคอยที่จะได้หยุดพัก แต่ปีนี้อาจต่างไป กลับไปหาครอบครัวก็ไม่ได้ในภาวะโควิด-19 เช่นนี้ ใช้เวลาพักผ่อนที่บ้านชิลๆ ดีกว่า แล้วมาดู 10 เรื่องที่เราควรรู้ ในวันแรงงาน มีอะไรบ้าง
(1)
วันที่ 1 พฤษภาคม
ถือเป็น “วันแรงงานสากล”
เมื่อ 130 กว่าปีก่อน ขณะที่โลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรควบคู่กับแรงงานมนุษย์ โดยไม่มีสวัสดิการหรือข้อตกลงที่ชัดเจน ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ชนชั้นนายทุนในสหรัฐฯ จึงกดขี่ชนชั้นกรรมชีพอย่างรุนแรง โดยใช้วิธีการต่างๆ ให้ทำงานนานถึง 12 – 16 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้กลุ่มแรงงานในสหรัฐฯ ต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ตัดสินใจให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อนัดหยุดงานในทุกพื้นที่เป็นวงกว้าง โดยมีแผนจะทำเช่นนี้ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 เพื่อเรียกร้อง “การทำงานวันละ 8 ชั่วโมง” แต่ถูกทางการสหรัฐฯ ปราบปรามอย่างหนัก จนแรงงานจำนวนมากถูกจับกุมและถูกสังหาร ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1889 ขบวนการแรงงานสากล The Second International ที่มี นายฟรีดริช เอ็งเงิลส์ เป็นผู้นำ ได้จัดการประชุมที่กรุงปารีสโดยได้ประกาศให้ วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1890 เป็นวันเดินขบวนของกลุ่มแรงงานสากล และกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น “วันแรงงานสากล” (International Workers’ Day) และในปีเดียวกันนั้น กลุ่มแรงงานในประเทศยุโรป และสหรัฐฯ ต่างพากันเดินขบวนบนท้องถนน เพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของตนเอง ต่อจากนั้นมา เมื่อถึงวันที่ 1 เดือนพฤษภาคม ของทุกปี กลุ่มแรงงานทั่วโลกจึงจัดกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องใน “วันแรงงานสากล”
(2)
เมย์เดย์ (May Day)
วันแรงงาน (Labour Day) หรือ National Labour Day (วันแรงงานแห่งชาติ) ที่ชาวต่างชาติเรียกกันว่า May Day (วันเมย์เดย์) เกิดขึ้นเดือนพฤษภาคม และกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉลองแรงงานสากลนั้น เป็นผลจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน เพื่อฉลองผลงานทางการเศรษกิจและสังคมของผู้ใช้แรงงาน ที่ควรได้รับอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพของแรงงาน ขณะทำงานด้วยความเป็นธรรม โดยไม่ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง ในหลายประเทศถือว่า วันนี้เป็นวันหยุดประจำปี ส่วนชาวยุโรปถือว่า วันเมย์เดย์ เป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลเกษตรกรรม เพื่อทำพิธีบวงสรวงตามความเชื่อให้ปลูกพืชผลได้ผลผลิตที่ดี ส่วนประเทศไทยเราก็มีวันพืชมงคล เป็นวันด้านเกษตรกรรมเช่นกัน
(3)
ประเทศที่เฉลิมฉลองวันแรงงาน
วันนี้ถือเป็นวันสำคัญของคนใช้แรงงานทั่วโลก และประเทศที่เฉลิมฉลองในวันนี้ก็มีไม่น้อย อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา, โปแลนด์, สวีเดน, ฟินแลนด์, นอร์เวย์, ไอซ์แลนด์, อียิปต์, เลบานอน, ไต้หวัน, ฮ่องกง, จีน เยอรมนี, เดนมาร์ก, บัลแกเรีย, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, อิตาลี, กรีซ, อิหร่าน, เบลเยี่ยม, ยูเครน, อินเดีย, ศรีลังกา, เวียดนาม, สิงคโปร์, ลาว, ไทย และอีกหลายประเทศทั่วโลก
(4)
แรงงานกับการปฏิรูปประเทศ
ระบบไพร่ทาส และขุนนาง ถูกยกเลิกไปเมื่อปี พ.ศ. 2448 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้แรงงานไทยกลายเป็นแรงงานรับจ้างได้อย่างอิสระ ในยุคที่ถือว่าเป็นยุคแห่งการปฏิรูปประเทศ ที่ทันสมัยในหลายๆ ด้าน ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มีผู้ใช้แรงงานมากมาย เข้าไปมีส่วนร่วมสร้างความสำเร็จของโครงการปฏิรูป อันเป็นการปูพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศในยุคต่อๆ มา แรงงานประเทศไทยตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศ เริ่มดำเนินการอุตสาหกรรม ต้องเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง จนทำให้เกิดข้อขัดแย้ง นำไปสู่การเผชิญหน้ากันอยู่ตลอดมา มีการประท้วงของคนงานซึ่งมีสาเหตุมาจากเรื่องค่าจ้าง และสวัสดิการในการทำงาน มีการรวมตัวกันไปร้องทุกข์กับตำรวจ หรือนักหนังสือพิมพ์ มีการกดดันจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อให้มีกฏหมายดูแลแรงงาน จนกระทั่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สิทธิเสรีภาพของชนชั้นล่าง จึงได้รับการยอมรับมากขึ้น และในปี พ.ศ. 2499 “กรรมกร 16 หน่วย” มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องพระราชบัญญัติแรงงานฉบับแรกของไทยจนเป็นผลสำเร็จอีกด้วย
(5)
สถิติแรงงานไทยในปัจจุบัน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนแรงงานมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวน 9.5 ล้านคน รองลงมาคือ ภาคกลาง จำนวน 11.9 ล้านคน ตามด้วย ภาคเหนือ จำนวน 6.2 ล้านคน และ ภาคใต้ จำนวน 5.1 ล้านคน ซึ่งเทียบเป็นจังหวัดแล้ว กรุงเทพมหานคร ถือเป็นจังหวัดที่มีแรงงานมากที่สุด สูงถึง 5.3 ล้านคน
(6)
ลูกจ้างหยุดปฎิบัติงาน ในวันแรงงาน
นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างปกติ ฝ่าฝืนมีความผิด
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ย้ำนายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สำหรับนายจ้างที่ไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดงานในวันแรงงานได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงาน ตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ งานในกิจการโรงแรม, สถานมหรสพ, ร้านขายอาหาร, ร้านขายเครื่องดื่ม, สโมสร, สมาคม, สถานพยาบาล, สถานบริการท่องเที่ยว, งานในป่า, งานในที่ทุรกันดาร, งานขนส่ง และงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายกับงาน ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้าง ว่าจะให้หยุดชดเชยในวันอื่นแทน หรือจะจ่ายค่าทำงาน ในวันหยุดให้กับลูกจ้าง
(7)
6 สิทธิประโยชน์กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับล่าสุด
ที่ทำให้ลูกจ้าง “ไม่โดนเอาเปรียบ”
ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบิกษา เผยแพร่ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 โดยถือเป็นฉบับล่าสุด เห็นเป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เพื่อยกระดับการคุ้มครองลูกจ้าง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ มีความมั่นคงในการทำงาน และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จากการได้รับสิทธิประโยชน์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่นี้
(1.) ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน
(2.) ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกินเก้าสิบแปดวัน
(3.) ให้นายจ้างกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานอันมีลักษณะ คุณภาพ และปริมาณเท่ากัน หรืองานที่มีค่าเท่าเทียมกันในอัตราเท่ากัน ไม่ว่าลูกจ้างนั้นจะเป็นหญิงหรือชาย
(4.) ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้
• ในกรณีที่มีการคำนวณค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง หรือระยะเวลาอย่างอื่นที่ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง
• ในกรณีที่มีการคำนวณค่าจ้าง นอกจากข้อที่กล่าวไปข้างต้น ให้จ่ายตามกำหนดเวลาที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน
• ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ให้จ่ายเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง
(5.) กรณีเลิกจ้างจะได้รับค่าชดเชยใหม่กรณีเลิกจ้าง จะเพิ่มเป็น 6 อัตราจาก 5 อัตรา
• อัตราที่ 1 ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน
• อัตราที่ 2 ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน
• อัตราที่ 3 ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับเงินชดเชย 180 วัน
• อัตราที่ 4 ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน
• อัตราที่ 5 ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินชดเชย 300 วัน
• อัตราที่ 6 ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 400 วัน
(6.) กรณีนายจ้างมีการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนนิติบุคคล หากลูกจ้างไม่ยินยอม สามารถรับค่าชดเชยพิเศษตามกฎหมายฉบับนี้ โดยหากทำงานมาครบ 20 ปี ก็ได้รับ 400 วัน
(8)
ชดเชยรายได้ 5,000 บาท 3 เดือน ช่วงผลกระทบโควิด-19
ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้เป็นต้นมา ทั่วโลกตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังกระทบต่อภาคธุรกิจต่างๆ รัฐบาลยกระดับควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น และได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง และแรงงาน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบจากการ “สั่งปิดกิจการ” ในช่วงที่เกิดเหตุของโรคระบาดนี้ ซึ่งรัฐบาลได้ทำการชดเชยรายได้ให้ 5,000 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน โดยครอบคลุมแรงงาน 3 กลุ่ม คือ 1.) แรงงาน 2.) ลูกจ้างชั่วคราว 3.) อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com
(9)
ภาวะวิกฤตโควิด-19 เปิดตำแหน่ง Work from home
จ้างแรงงานระยะสั้น 45 วัน รับวันละ 300 บาท
กรมการจัดหางาน ได้จัดโครงการจ้างงาน เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจ้างงานผู้ว่างงานทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ (ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน) ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ โดยมีวุฒิการศึกษา ตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ขึ้นไป ลักษณะการทำงานจะเป็นแบบ Work from Home ช่วยทำงานให้ กรมการจัดหางาน จากที่บ้าน หรือในพื้นที่ชุมชน โดยให้ช่วยปฏิบัติงาน ประชาสัมพันธ์ภารกิจ การดำเนินงานของกรมการจัดหางาน เช่น การต่ออายุแรงงานต่างด้าว, การขึ้นทะเบียนรับเงินชดเชยกรณีว่างงาน, การให้บริการจัดหางาน, การไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น รวมทั้งสำรวจข้อมูลความต้องการทำงาน และความต้องการจ้างงาน โดยเฉพาะการทำงานแบบ Part-time ระยะเวลาจ้างงาน 45 วัน โดยได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท รับทั่วประเทศ 86 แห่ง (จังหวัดใหญ่ 4 คน และจังหวัดเล็ก 2-3 คน) รวมทั้งสิ้น 300 คน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป สำหรับผู้ที่สนใจ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2
(10)
สายด่วนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
โทร.1506
แรงงานที่มีประสิทธิภาพ มักจะส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโต ประเทศชาติมีเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลระบบแรงงานไทยทั้งหมด คือ กระทรวงแรงงาน โดยแบ่งออกเป็น กรมจัดหางาน, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม โดยมีช่องทางให้แรงงานติดต่อสอบถามข้อมูลต่างๆ ได้ที่สายด่วน โทร.1506 ต่อ 3
Photo Credit: pixabay / FreePix