TOP

ศบค. ขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉิน พร้อมผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 สำหรับ 9 กลุ่มกิจการหรือกิจกรรม เริ่ม 3-31 พฤษภาคมนี้ เช็คเลย!

จากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ได้เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 5) จากเดิมที่นายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 นั้น

 

ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.กฉุกเฉิน

3 – 31 พฤษภาคม 2563

ได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอีก ตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 31 พฤษภาคม 2563 เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการต่างๆ ยังคงดำรงอยู่ต่อไป เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปสู่พื้นที่อื่นและป้องกันมิให้โรคกลับมาแพร่ระบาดใหม่ ในพื้นที่ซึ่งเคยควบคุมได้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 5) และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนด โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้

(1.) ห้ามออกนอกเคหสถาน ระหว่าง 22.00 – 04.00 น.

(2.) ปฏิบัติตามข้อบังคับต่อไปนี้

      2.1 ห้ามใช้สถานศึกษา เพื่อการเรียนการสอน หรือกิจกรรมรวมตัว

      2.2 ห้ามจัดกิจกรรมรวมตัว เช่น ประชุม สัมมนา แจกของ

      2.3 ห้ามการขึ้นลงของอากาศยาน

      2.4 ชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ต้องกักตัวตามกำหนด

      2.5 หากถูกสั่งกักตัว ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

      2.6 ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร และ ผู้ว่าราชการจังหวัด อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 สั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ดังนี้ โรงมหรสพ, ผับ, บาร์, สวนน้ำ, สนามเด็กเล่น, สวนสนุก, สวนสัตว์, สถานที่เล่นสเก็ต, สนุกเกอร์, โบว์ลิ่ง, ร้านเกม, ร้านอินเตอร์เน็ต, สระว่ายน้ำสาธารณะ, สนามชนไก่, ห้างสรรพสินค้า, ฟิตเนส, คลีนิกเสริมความงาม, ศูนย์ประชุม/แสดงสินค้า, พิพิธภัณฑ์, ห้องสมุด, สถานรับเลี้ยงเด็ก, สถานดูแลผู้สูงอายุ, สนามมวย, ยิม, สถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง, สถาบันลีลาศ, สนามม้า, สถานประกอบการอาบน้ำ/เพื่อสุขภาพ/นวดแผนโบราณ/กิจการอาบ อบ นวด

     2.7 ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร และ ผู้ว่าราชการจังหวัด อาจพิจารณาปิดสถานที่เสี่ยงอื่น นอกเหนือจากที่ระบุไว้ตาม ข้อ 2.6

(3.) คำสั่งตามข้อ (2.3 – 2.7) ถือเป็นคำสั่งตาม พ.ร.ก ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

(4.) การปฏิบัติศาสนกิจ ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของผู้ดูแล

(5.) งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด

 

มาตรการผ่อนคลายข้อกำหนด

3 – 31 พฤษภาคม 2563

หลังจากนั้นได้ออก ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 6)  สมควรผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกัน และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามลำดับขั้นตอนการควบคุมโอกาสเสี่ยงของบุคคล สถานที่ และประเภทกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก และตามผลการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณสุข โดยรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายผู้ประกอบการ และฝ่ายผู้บริโภค แต่ยังคงต้องให้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรค และคำแนะนำของทางราชการ ดังนี้

(1.) ผ่อนคลายให้ดำเนินการ หรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ 

ด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต

ก.> การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม

ให้ซื้อกลับบ้าน หรือหากเปิดให้ใช้บริการในร้าน ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด (ยกเว้นผับ บาร์) ส่วนร้านอาหาร หรือ เครื่องดื่ม ที่จำหน่ายสุรา ให้เปิดได้ แต่ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน

ข.> ห้างสรรพสินค้า

เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา สินค้าจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ร้านขายปลีกธุรกิจ สื่อสารโทรคมนาคม ธนาคาร ที่ทำการของหน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ส่วนร้านอาหาร เปิดได้เฉพาะซื้อกลับบ้าน

ค.> ร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดย่อม

ร้านค้าปลีก/ค้าส่งชุมชน ตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด ให้เปิดได้ แต่ต้องควบคุมทางเข้าออก ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย การเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด

ง.> ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม

เปิดได้แต่ห้ามนั่งรอในร้าน

ด้านการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพ

ก.> โรงพยาบาล, คลีนิก, ทันตกรรม หรือ สถานพยาบาลทุกประเภท

ข.> สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ แต่ต้องไม่มีการชุมนุม/การแข่งขัน

ค.> สนามกีฬากลางแจ้ง ที่ไม่ใกล้ชิดกัน เช่น เทนนิส, ยิงปืน, ยิงธนู แต่ต้องไม่มีการแข่งขัน

ง.> สวนสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย, สนามกีฬา, ลานกีฬา เปิดได้เฉพาะที่โล่ง เพื่อเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน หรืออกกำลังกายส่วนบุคคล โดยห้ามมีการชุมนุมกัน

จ.> ร้านบริการดูแลรักษาสัตว์ สปาอาบน้ำ, ตัดขน, รับเลี้ยงหรือฝากสัตว์

(2.) เจ้าของสถานที่ที่เปิดให้บริการ ต้องดูแลสถานที่ และมีมาตรการป้องกันโรคโดยเคร่งครัด เช่น เว้นระยะห่าง, สวมหน้ากากอนามัย, วัดอุณหภูมิ ห้ามนั่งรอในร้าน จำกัดจำนวน และเวลาใช้บริการ

ในส่วนของ กรุงเทพมหานคร โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กทม.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร เว้นระยะโต๊ะอาหารระหว่างกัน 1-2 เมตร แต่ละโต๊ะควรรับประทานอาหารร่วมกัน 1-2 คนเท่านั้น หากเป็นอาหาร เช่น สุกี้ ชาบู หรืออาหารปิ้งย่าง ควรรับประทานเพียงคนเดียวเท่านั้น ร้านเสริมสวยควรสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้บริการ และให้ทำความสะอาดเครื่องมืออย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนให้เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร ในการทำกิจกรรมต่างๆ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งกทม.แจกให้แล้วทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงขอความร่วมมือบริษัทต่างๆ หากมีการยกเลิกการให้พนักงานทำงานที่บ้านโดยให้พนักงานกลับมาทำงานตามปกติ ให้มีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างกันภายในบริษัท มีการคัดกรองก่อนเข้าอาคาร ให้พนักงานทุกคนสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ เพื่อให้มาตรการต่างๆ มีประสิทธิภาพ ลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ”

 

Cover Photo: FreePix

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด