TOP

1 พฤษภา’62 ญี่ปุ่นเปลี่ยนรัชสมัย ‘นารุฮิโตะ’ จักรพรรดิองค์ใหม่ ลำดับที่ 126 สืบราชบัลลังก์ดอกเบญจมาศ

ไม่เพียงประเทศไทย ที่กำลังอยู่ในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งราชวงศ์จักรี ภายในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2562 และเช่นกัน วันนี้ 30 เมษายน 2562 กลายเป็นอีกวันสำคัญที่ต้องถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเลยทีเดียว เมื่อ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ซึ่งมีพระชนมพรรษาถึง 85 พรรษาแล้ว ทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชบัลลังก์ ให้กับองค์มกุฏราชกุมาร ตลอดในช่วงระยะเวลากว่า 200 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้น นับเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ อันสำคัญของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ที่สมเด็จพระจักรพรรดิสละราชบัลลังก์ ในขณะที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ด้วยเหตุผลพระพลานามัยที่อยู่ในวัยชราภาพ ทำให้การปฏิบัติพระราชกรณียกิจยากลำบากมากขึ้น ‘เจ้าฟ้าชายนารุโตะ’ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ซึ่งมีพระชนมายุ 59 พรรษา จึงทรงเสด็จขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดา เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ ลำดับที่ 126 แห่งราชวงศ์ดอกเบญจมาศ โดยกำหนดการพระราชพิธีราชาภิเษก ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 นี้ นับเป็นการผลัดแผ่นดินเปลี่ยนรัชสมัยจาก “เฮเซ” สู่ “เรวะ”

ย้อนรอยการสละราชสมบัติ เปลี่ยนรัชสมัย จาก ‘เฮเซ’ สู่ ‘เรวะ’ ขอดำเนินตามรอยพระบาทพระราชบิดา

การสละราชสมบัติครั้งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเคยเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1817 ของสมเด็จพระจักรพรรดิโคกะกุ เวลาที่ผ่านมากว่า 2 ศตวรรษ การสละราชสมบัติของพระจักรพรรดิอากิฮิโตะในครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา รัฐบาลต้องเตรียมงานทั้งทางด้านกฎหมาย และงานราชพิธีขึ้นครองราชย์ต่อไปขึ้นในคราวเดียวกัน รัชสมัยของพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เรียกว่า “ยุคเฮเซ” (HeiSei) ซึ่งมีความหมายว่า “ความสงบสุขทั่วแผ่นดิน” และสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์คือ ไม่ได้มีสงครามเกิดขึ้นในญี่ปุ่นเลย การสละราชสมบัติครั้งนี้จึงถือเป็นการสิ้นสุดยุคเฮเซ และญี่ปุ่นจะเข้าสู่รัชสมัยใหม่ทันที ภายหลังการครองราชย์ของ พระจักรพรรดิองค์ใหม่ ซึ่งก็คือ “เจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร” มีชื่อว่า “รัชสมัยเรวะ” ซึ่งมีความหมายถึง “ความสันติปรองดองอันรุ่งเรือง”

 

ภายหลังรับทราบการตัดสินพระราชหฤทัยของพระราชบิดา เจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะ ได้ทรงแสดงพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ ว่าจะทรงอุทิศพระวรกายและตั้งพระราชหฤทัยเพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิ โดยดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทพระราชบิดา

 

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ของญี่ปุ่นเสด็จเข้าสู่พิธีสละราชสมบัติ
สิ้นสุดรัชสมัยเฮเซ อย่างเป็นทางการ 
พระราชพิธีสละราชสมบัติวานนี้ (30 เมษายน 2562) ที่ห้องมัตสึโนะมะ ภายในพระราชวังอิมพีเรียล ใช้เวลารวม 10 นาที โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ, เจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร, เจ้าหญิงมาซาโกะ มกุฎราชกุมารี เสด็จเข้าร่วมพร้อมแขกผู้มีเกียรติที่ได้รับเชิญจากต่างประเทศ 195 ชาติ และตัวแทนประชาชน รวมถึงนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล และสมาชิกสภาอีก 330 คน
พระราชพิธีเริ่มต้นด้วยการอัญเชิญตราแผ่นดิน และพระราชลัญจกรประจำพระองค์เข้าสู่ห้องพิธี รวมถึงเครื่องไตรราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งองค์พระจักรพรรดิ จากนั้น นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ อ่านคำแถลงในฐานะตัวแทนพสกนิกร มีใจความว่า ประชาชนญี่ปุ่นซาบซึ้งในน้ำพระราชหฤทัย ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะตัวแทนแห่งรัฐ และขอให้พระองค์ และสมเด็จพระจักรพรรดินีทรงพระเจริญและมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ ขณะที่ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงมีพระราชดำรัสขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่อ่านคำแถลงในนามประชาชน และขอบคุณประชาชนที่สนับสนุนพระองค์มาโดยตลอด และทรงดีพระทัยที่พรุ่งนี้ (1 พฤษภาคม 2562) จะเป็นวันเริ่มรัชสมัยเรวะ และขออวยพรให้ชาวญี่ปุ่นและคนทั่วโลกมีความสุขและสันติ
สถานะใหม่ของสมเด็จพระจักรพรรดิ อากิฮิโตะ หลังจากสละราชสมบัติ 
หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธี สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เสด็จขึ้นรถเปิดประทุนไปยังพระราชวังโทกุ ในเขตพระราชฐาน อาคาซาคะ ในกรุงโตเกียว จะเป็นที่ประทับแห่งใหม่ และเดิมเคยเป็นที่ประทับของมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ ซึ่งหลังจากนี้จะเปลี่ยนชื่อเป็นพระราชวังเซนโตะ อิมพีเรียล และภายหลังจากการผลัดยุครัชสมัยแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ จะดำรงสถานะ “โจโก” (JOKO) หรือในไทยมีคำเทียบเคียงได้ว่า “พระเจ้าหลวง” (Emperor Emeritus) และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ดำรงสถานะ “โจโกโง” (JOKOGO) หรือเรียก “พระพันปี” (Empress Emerita)

พระราชพิธีขึ้นครองราชย์ราชาภิเษกของพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่

 

พระราชพิธีมีลักษณะเคร่งขรึม สืบสานขนบประเพณีอันเก่าแก่ และมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยใช้งบประมาณถึง 16,800 ล้านเยน หรือประมาณ 5,500 ล้านบาท สำหรับพระราชพิธีขึ้นครองราชย์นี้ จุดสำคัญอยู่ที่การถวายเครื่องราชย์ไตรราชกกุธภัณฑ์ 3 สิ่ง อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นจักรพรรดิ ได้แก่ กระจก, พระขรรค์,  และอัญมณีนางาตามะ ซึ่งมีรูปทรงคล้ายหยดน้ำ ตามประเพณีญี่ปุ่น ตามพระราชพิธีนี้ ถือตามคติทางชินโต หรือวิถีแห่งเทพ ตัวพระราชพิธีจึงมีความเกี่ยวเนื่องกับสุริยะเทวี และการสร้างชาติของญี่ปุ่นเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นหลัก

พระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ จะเสด็จไปสักการะศาลเจ้าสำคัญ และร่วมเสวยกับเทพเจ้า เรียกว่า “พระราชพิธีไดโจไซ” ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยนี้ พระราชพิธีจะจัดขึ้นนั้น ไม่ได้มีเพียงพระราชพิธีสละราชสมบัติ และพระราชพิธีขึ้นครองราชย์เท่านั้น ยังมีพระราชพิธีอื่นๆ อีก รวมถึงพระราชพิธีสถาปนารัชทายาท

 

ที่มา: BBC Thai | Global News

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด