TOP

110 ปี น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพ่อ ร.5 ‘วันปิยมหาราช’ กับ 8 พระราชกรณียกิจที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์ และคนไทยจดจำมิรู้ลืม!

“วันปิยมหาราช” ซึ่งตรงกับวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นิตยสารอะราวด์ และปวงชนชาวไทย น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อประเทศไทยหลากหลายด้าน ที่ไม่ใช่วันนี้เป็นเพียงวันหยุดราชการ พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญหลากหลายประการ ที่นำพาประเทศไทยสู่ความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศตราบจนทุกวันนี้ มาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์

 

เลิกทาสเป็นครั้งแรก

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มี “การเลิกทาส” เมื่อถึง พ.ศ. 2448 ทรงออก “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124” ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท และส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก เมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้านายใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว เป็นการยกเลิกระบบที่คนชั้นสูงตั้งขึ้น เพื่อกดขี่ราษฎรให้ทำงานรับใช้หรือส่งทรัพย์สินให้โดยไม่มีกำหนดว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ดังพระบรมราชโองการ “ประเพณีทาสที่มีอยู่ในพระราชอาณาจักรสยามถือเป็นวิธีทาสทำสารกรมธรรม์ขายตัวด้วยใจสมัคร มิใช่ทาสเชลยที่เป็นการกดขี่อย่างร้ายแรงก็จริง แต่ก็เป็นเครื่องกีดขวางความเจริญประโยชน์และสุขสำราญของมหาชนอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งจำเป็นจะต้องเลิกถอนอย่าให้มีประเพณีทาสในพระราชอาณาจักรนี้ กรุงสยามจึงจะมีความเจริญสมบูรณ์เท่ากับประเทศอื่น”

-||-

 

ประกาศให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ เป็นครั้งแรก

พระองค์ทรงให้มีการประกาศการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ โดยบุคคลศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างอิสระ อีกทั้งยังทรงเป็นศาสนูปถัมภก ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา โดยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง และยังมีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยเป็นครั้งแรกอีกด้วย ในรัชสมัยของพระองค์ทรงสร้างวัดสำคัญๆ ด้วยการให้วัดเป็นศูนย์กลางการศึกษาของประชาชน และการส่งเสริมการศึกษาพระสงฆ์ โดยการสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และทรงตราพระราชบัญญัติเพื่อเป็นแนวบริหารคณะสงฆ์

-||-

 

ใช้ธนบัตรและเหรียญบาท เป็นครั้งแรก

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ “ตั๋วกระดาษ” ราคา 1 อัฐ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2417 เพื่อใช้แทนเงินเหรียญกษาปณ์ที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เป็นที่มาของคำว่า “อัฐกระดาษ” ใช้เรียกขานกันในหมู่ประชาชน ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 – 2442 ทรงอนุญาตให้ธนาคารต่างประเทศที่เข้ามาเปิดสาขาดำเนินงานในประเทศไทย คือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้, ธนาคารชาเตอรด์แห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน และธนาคารแห่งอินโดจีน ให้สามารถออกธนบัตรของตัวเองได้ เรียกว่า “แบงก์โน้ต” หรือ “แบงก์” นับว่าเป็น “บัตรธนาคาร” รุ่นแรกๆ ที่มีใช้ในประเทศไทย จนถึงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 จึงทรงให้ยกเลิก และประกาศใช้ “ธนบัตร” แบบแรกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

-||-

 

ปฏิรูปการปกครองครั้งแรก

ในยุคสมัยของพระองค์ ประเทสไทยต้องเผชิญกับภยันตรายจากการคุกคามของประเทศมหาอำนาจตะวันตก และต้องมีการปรับปรุงตัวเองให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศ ซึ่งการปกครองในระบบเก่า อำนาจการปกครองบ้านเมืองตกอยู่กับขุนนาง เมื่อมีการปฏิรูปแผ่นดินให้ทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปทางการปกครอง จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้พระองค์ จึงทรงดำเนินการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตกในทุกๆ ด้าน

-||-

 

วางรากฐานการสร้างทางรถไฟครั้งแรก

ในรัชสมัย ร. 5 มีการขยายอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสแผ่มาครอบคลุมบริเวณแหลมอินโดจีน พระองค์ท่านทรงตระหนักถึงความสำคัญของการคมนาคมโดยเส้นทางรถไฟ เพราะการใช้แต่ทางเกวียนและแม่น้ำลำคลองเพียงเท่านั้น กลับไม่เพียงพอแก่การบำรุงรักษาพระราชอาณาเขต ราษฎรที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงมีจิตใจโน้มเอียงไปทางประเทศใกล้เคียง จึงเห็นสมควรที่จะสร้างทางรถไฟขึ้นในประเทศเพื่อติดต่อกับมณฑลชายแดน และเพื่อสะดวกแก่การปกครองตรวจตราป้องกันการรุกราน เป็นการเปิดภูมิประเทศให้ประชาชนพลเมืองเข้าบุกเบิกพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เพื่อเป็นประโยชน์ทางเศรษกิจของประเทศ และให้เป็นเส้นทางขนส่งผู้โดยสาร รวมถึงสินค้าไปมาถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งกรมรถไฟขึ้น สังกัดอยู่ในกระทรวงโยธาธิการ และเปิดประมูลสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ – นครราชสีมา เป็นสายแรก ณ ที่ทำการรถไฟกรุงเทพ เมื่อปี พ.ศ.2443 รวมระยะทางจาก กรุงเทพ – นครราชสีมา ทั้งสิ้น 265 กิโลเมตร

-||-

 

โรงเรียนวัดและโรงเรียนหลวงแห่งแรก

ในรัชสมัยของ ร.5 ทรงได้โปรดเกล้าฯ จัดตั้งโรงเรียนในวัดต่างๆ เนื่องจากคนสยามประเทศในยุคก่อน นิยมส่งลูกหลานเข้าศึกษาที่วัดตามประเพณี โดยมีพระทำหน้าที่สอนหนังสือ โรงเรียนวัดที่เป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกนั่นคือ “โรงเรียนวัดมหรรณพาราม” (ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดมหรรณพ์) และจากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวัง คือ โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบสอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และขนบธรรมเนียมราชการ ต่อมายังได้โปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษขึ้นที่พระราชวัง นันทอุทยาน ฝั่งธนบุรี โรงเรียนทำแผนที่ในกรมมหาดเล็ก โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ และ พ.ศ. 2427 ก็โปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรทั่วไปขึ้นตามวัดหลายแห่ง และโรงเรียนหลวงแห่งแรกของราษฎร คือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม เเละมีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นโรงเรียนเอกชนเเห่งเเรกของประเทศไทย และโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกที่จัดตั้งโดยคนไทย คือ โรงเรียนบำรุงวิชา เมื่อ พ.ศ. 2442

-||-

 

โรงเรียนกฎหมายแห่งแรกของประเทศไทย

ด้วยด้านกฎหมายมีการใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และยังไม่เคยมีการชำระขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับยุคสมัย จึงมีความล้าสมัยเป็นอย่างมาก ทำให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างในการเอาเปรียบสยามประเทศของเรา ในเรื่องการทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับการขึ้นศาลตัดสินคดีความ โดยไม่ให้ชาวต่างชาติขึ้นศาลไทย และมีการตั้งศาลกงสุลพิจารณาคดีคนในบังคับของต่างชาติเอง แม้ว่าจะมีคดีความกับชาวไทยก็ตาม ดังนั้นพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างประมวลกฎหมายอาญาขึ้นใหม่ เพื่อให้ทันสมัยทัดเทียมกับอารยประเทศ ในปี พ.ศ.2440 และทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนกฎหมายแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นสถานที่ผลิตนักกฎหมายที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาประเทศขึ้นด้วย

-||-

 

มีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรกของไทย

และด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า“ไฟฟ้า”เป็นพลังงานที่สำคัญและมีประโยชน์มหาศาล เมื่อมีโอกาสเสด็จประพาสต่างประเทศ ได้ทอดพระเนตรกิจการไฟฟ้า และนำมาต่อยอดในประเทศเรา พระองค์ทรงมอบหมายให้กรมหมื่นไวยวรนารถ เป็นผู้ริเริ่มในการจ่ายกระแสไฟฟ้าขึ้นในปี พ.ศ.2433 ซึ่งเป็นการเปิดใช้ไฟฟ้าครั้งแรกของสยามประเทศ และปีเดียวกันนั้น ก็ได้มีการก่อตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นที่ “วัดเลียบ” หรือ “วัดราชบูรณะ” จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2436 ต่อมาเพื่อให้กิจการไฟฟ้าก้าวหน้ายิ่งขึ้น รัฐบาลได้โอนกิจการให้บริษัทอเมริกัน ชื่อ “แบงค็อค อิเลคตริกซิตี้ ซิดิแคท” เข้ามาดำเนินงานต่อ และในปี พ.ศ. 2437 บริษัทเดนมาร์กได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อใช้ในการเดินรถรางที่บริษัทได้รับสัมปทานการเดินรถในเขตพระนคร ซึ่งบริษัทต่างชาติทั้งสองบริษัท ได้ร่วมกันรับช่วงงานจากกรมหมื่นไวยวรนาถ และก่อตั้งเป็นบริษัทไฟฟ้าสยามขึ้น ในปี พ.ศ. 2444 นับเป็นการบุกเบิกไฟฟ้าครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย ทำให้เราเริ่มมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรก

ที่มา : วิกิพีเดีย

เครดิตภาพ : ภาพ cover จาก 77ppp (จากแฟนเพจชมรมคนรักเสด็จพ่อ สมเด็จพระปิยะมหาราช) / เพจชมรมคนรักเสด็จพ่อ สมเด็จพระปิยะมหาราช / ธนาคารแห่งประเทศไทย

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด