TOP

สุดวิจิตร 24 ฉลองพระองค์หาชมยาก ของ ‘สมเด็จพระพันปีหลวง’ ในคอลเลกชันชุดผ้าไหมและผ้าทอพื้นถิ่นของไทย สู่สายตาชาวโลก

เชื่อว่าภาพแห่งความทรงจำยังคงติดตรึงใจในแต่ละช่วงวัยของแต่ละคน ถึงพระสิริโฉมภายใต้ฉลองพระองค์อันงดงามของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ได้รับชมผ่านโทรทัศน์ในช่วงข่าวพระราชสำนัก สมเด็จแม่ของแผ่นดินพระผู้ทรงเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทุกหนแห่ง พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้สตรีหันมาใส่ใจในการดูแลตนเอง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย ด้วยพระราชปณิธานต้องการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้ผ้าไหม เพื่อรักษาภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของไทยไม่ให้สูญหาย ลวดลายที่วิจิตรถักทอบนผืนผ้าไหมและผ้าทอพื้นถิ่น จึงได้ปรากฏความงดงามต่อสายตาชาวโลกบนฉลองพระองค์

นับตั้งแต่ครั้งที่ทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องที่ชนบทภาคอีสานหลายจังหวัด ทรงทอดพระเนตรเห็นสตรีชาวบ้านนุ่งผ้าซิ่นไหมงดงาม มารับเสด็จอยู่แทบทุกพื้นที่ ทรงประทับใจในความงามของผ้าไหมนับตั้งแต่ครั้งนั้น และเห็นว่าการทอผ้าเป็นภูมิปัญญา และเป็นงานฝีมือที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นถิ่น ผสานความคิดสร้างสรรค์ผ่านผืนผ้า ที่เริ่มจากการทอใช้เองในครอบครัว งานมงคล และในชุมชน หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรแล้ว จนนำไปสู่ความช่วยเหลือชาวบ้าน ยกระดับรายได้อย่างยั่งยืน และก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในเวลาต่อมา

พระองค์ทรงฟื้นฟูให้ผ้าไทยกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง และทรงเป็นต้นแบบให้ประชาชนทั่วไปเห็นแล้วว่า ผ้าไทยสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงโอกาสพิเศษต่างๆ ทรงนำทั้งผ้าไหมและผ้าทอมือของชาวบ้าน โปรดเกล้าฯ ให้นักออกแบบระดับโลก รวมถึงดีไซเนอร์ไทย ออกแบบและตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์สวมใส่ในทุกวาระโอกาส ที่พระองค์เสด็จเยือนต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และต้อนรับบุคคลสำคัญระดับประเทศที่เมืองไทย รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยือนราษฎรทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย จึงทำให้กระแสผ้าไทยกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

จากนั้นได้มีการก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ภายในเขตพระราชฐานชั้นนอก ด้วยทรงมุ่งหวังให้เป็นแหล่งความรู้ที่ยั่งยืนเกี่ยวกับผ้า ตลอดจนประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกาย อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงปัจจุบัน สะท้อนผ่านเครื่องแต่งกายในราชสำนักยุคต่างๆ รวมถึงคอลเลกชันฉลองพระองค์ใน สมเด็จพระพันปีหลวง

อะราวด์รวบรวมคอลเลกชัน 24 ฉลองพระองค์สุดไอคอนิก ของสมเด็จพระพันปีหลวง ทั้งฉลองพระองค์ชุดไทย, ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน, ฉลองพระองค์ชุดกลางคืน, ฉลองพระองค์ชุดราตรี ฝีมือการออกแบบจากนักออกแบบระดับโลก อย่าง ห้องเสื้อบัลแมง, ห้องเสื้อฌอง-หลุยส์ แชร์เรร์ และ ห้องเสื้อจิวองชี ที่รวบรวมอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาให้แฟนๆ ได้ชมกัน และส่งต่อแรงบันดาลใจในการสวมใส่ผ้าไหม ผ้าทอพื้นถิ่นของไทย

 

24 ฉลองพระองค์สุดไอคอนิก ของสมเด็จพระพันปีหลวง

คอลเลกชันชุดผ้าไหมและผ้าทอพื้นถิ่นของไทย

จากฝีมือนักออกแบบระดับโลก

👇

ฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บด้วยผ้าไหม ใช้เทคนิคผ้ายกและการปักตาข่ายโลหะและโลหะ ทรงในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2532

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดไทยจักรี 

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บด้วยผ้าไหมใช้เทคนิคผ้ายกและการปัก ด้วยเลื่อมกับลูกปัด เพชรเทียม และดิ้นทอง ทรงในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ที่ทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน สหรัฐอเมริกา จัดถวาย เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2510 และทรงเนื่องในโอกาสทอดพระเนตรการแสดงบัลเล่ต์ การกุศลเพื่อหารายได้บำรุงสภากาชาดไทย ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2512 และทรงเนื่องในโอกาสเสด็จออกรับประธานาธิบดีแห่งประเทศอินเดีย ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2515

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดไทยจักรี 

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บด้วยผ้าไหมใช้เทคนิคผ้ายกและการปัก ด้วยเลื่อมกับลูกปัด ทรงเสด็จฯ ในงานพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแก่เจ้าฟ้าหญิงมากาเร็ตและพระสวามี ณ ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2512 และทรงในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ซึ่งสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และดยุคแห่งเอดินเบอระทรงจัดถวายบนเรือพระที่นั่งบริแทนเนีย ณ ท่าเทียบเรือโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดไทยดุสิต 

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บด้วยผ้าไหมใช้เทคนิคผ้ายกและการปัก ประดับตกแต่งด้วยเพชรเทียม ดิ้นทอง ดิ้นด้าน เลื่อมและลูกปัด ทรงในงานพระราชทานพระกระยาหารค่ำ ถวายสมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งประเทศญี่ปุ่น ระหว่างการเสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2506 และทรงในงานพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ แก่นายเจียง ไค เชค ประธานาธิบดีไต้หวันและภริยา ระหว่างการเสด็จฯ เยือนประเทศไต้หวันอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2506 และทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงนาฏศิลป์ เนื่องในโอกาสเปิดโรงละครแห่งชาติ ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2508 รวมถึงทรงเพื่อการฉายพระรูป ณ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ประมาณ พ.ศ. 2506 – 2508

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดไทยดุสิต 

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บด้วยผ้าไหม ใช้เทคนิคผ้ายกและการปัก ประดับตกแต่งด้วยดิ้นทอง ดิ้นเงิน แล่งทอง ดิ้นโปร่ง ดิ้นด้าน เลื่อมและลูกปัด ทรงในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่จัดถวายโดยประธานาธิบดีฟิลิปินส์ ณ พระราชวังมาลากันยัง ระหว่างการเสด็จฯ เยือนประเทศฟิลิปปินส์ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 และทรงเนื่องในโอกาสนำสมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยี่ยมไปทอดพระเนตรการแสดงนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดไทยแบบผสมผสาน 

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บด้วยผ้าไหม ใช้เทคนิคผ้ายกและการปัก ทรงในงานสองร้อยปี แห่งสายสัมพันธ์ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ณ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2525

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดไทยแบบผสมผสาน 

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บด้วยผ้าไหมแจ็กการ์ด ผ้ายก ปักประดับด้วยดิ้นโลหะ ลูกปัด เลื่อม และคริสตัล ทรงในงานมหาสมาคมถวายพระกระยาหารค่ำ ที่สมเด็จพระเจ้าชาห์และสมเด็จพระราชินีแห่งอิหร่านจัดถวาย ณ พระราชวังโกเลสตาน กรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 23 เมษายน ปี พ.ศ. 2510

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกลางคืน 

ฉลองพระองค์สำหรับงานกลางคืน ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ใช้ผ้าไหมเหยียบ และผ้าไหมมัดหมี่ลายต้นสน และลายนาคชูสน ประดับตกแต่งรัดพระองค์ ทำจากผ้าไหมพื้นสีแดง จับเดรปตามแนวยาว ทรงในโอกาสเสด็จฯ ไปในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมดัลลัส ในการเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ไปจัดแสดง ณ ห้างสรรพสินค้านีแมน มาร์คัส เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ นายริชาร์ด มาคัส เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2524

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกลางคืน

ฉลองพระองค์ชุดกลางคืน ออกแบบโดย “อีริก มอร์เทนเซน” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ใช้ผ้าไหมมัดหมี่ ปักประดับด้วยเพชรเทียม ดิ้นเงิน และลูกปัด ทรงในโอกาสเสด็จฯ พระราชดำเนินไปในงานเลี้ยงถวายพระกระยาหารค่ำ ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ นครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2528

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกลางคืน

ฉลองพระองค์ชุดกลางคืน ทรงในโอกาสเสด็จฯ ไปทอดพระเนตร การแสดงแบบเสื้อจากผ้าไหมศิลปาชีพ โดยห้องเสื้อบัลแมง ณ เรือโอเรียลเต็ลควีน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ออกแบบตัดเย็บโดย “อีริก มอร์เทน” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ใช้เทคนิคมัดหมี่และการปัก ประดับด้วย หินสี, ไหมทอง, ลูกปัด, และเลื่อม โดยสถาบันเลอซาจ (Lesage) กรุงปารีส บนผ้าไหมและกำมะหยี่

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกลางคืน

ฉลองพระองค์ชุดกลางคืน ที่ออกแบบตัดเย็บโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ใช้ผ้าไหมมัดหมี่จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผ้าจกจากตำบลหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย ทรงในงานรับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเซเรส จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง อันเนื่องมาจากการที่ทรงช่วยเหลือสตรีในชนบทให้มีรายได้ ช่วยยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2522

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกลางคืน

ฉลองพระองค์ชุดกลางคืนด้วยผ้าไหมมัดหมี่ ประดับตกแต่งด้วยขนนกกระจอกเทศและขนไก่ ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ทรงในงานถวายพระกระยาหารค่ำ ซึ่งประธานสมาคมญี่ปุ่น – ไทยจัดถวาย ณ สโมสรสึนามาชิ มิตซุย ในการเสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นเป็นการส่วนพระองค์ครั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงแบบเสื้อจากผ้าไหมมัดหมี่ พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพไปจัดแสดง เพื่อเป็นการเผยแพร่งานฝีมือของคนไทยแก่ชาวญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2524

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกลางคืน

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บด้วยผ้าไหมมัดหมี่จากอำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ปักประดับตกแต่งด้วยหินสีและลูกปัด โดยสถาบันเลอซาจ (Lesage) กรุงปารีส ทรงเสด็จฯ ในงานทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องหมายนักบินกิตติมศักดิ์จากผู้บัญชาการทหารเรือ และคณะฯ  ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2522

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดราตรี

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บจากผ้าไหมชีฟอง ผ้าไหมออร์แกนซา ผ้ากำมะหยี่ ปักประดับด้วยดิ้นโลหะ และลูกปัด โดยเลอซาจ ฉลองพระองค์ชุดราตรีแบบ Marly จากคอลเลกชันฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2505  ซึ่งได้เผยแพร่ในนิตยสารลอฟฟิเชียล ของฝรั่งเศส และในการแสดงแบบของห้องเสื้อบัลแมง ทรงในการเสด็จฯ เยือนเครือรัฐออสเตรเลีย พ.ศ. 2505 รวมถึงราชอาณาจักรไทยในภายหลัง

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดราตรี

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บด้วยผ้าไหมซาติน ปักประดับด้วยดิ้นโลหะ ดิ้นเหลือบ และคริสตัล โดยเลอซาจ งานปักบนฉลองพระองค์ได้รับอิทธิพลจากลวดลายตกแต่งแบบที่นิยมในยุโรป คริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งนายบัลแมงชื่นชอบเป็นพิเศษ

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บด้วยผ้าไหม ทรงในการเสด็จฯ เยือนนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เดือนกรกฎาคม และกรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี เดือนกันยายน พ.ศ. 2503 เสื้อคลุมยาวตามสมัยนิยมในฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2503 ซึ่งนายบัลแมงได้ใช้รูปแบบนี้ในคอลเลกชันของเขาด้วย แต่เปลี่ยนมาใช้ผ้าไหมไทยตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์เป็นการพิเศษ

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บด้วยผ้าไหมพิมพ์ลาย พระองค์ทรงตัดสินพระทัยเลือกจากคอกเลกชันฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2503 ของห้องเสื้อบัลแมง และโปรดเกล้าฯ ให้ปรับเปลี่ยนลายผ้าจากภาพร่างเดิม เสื้อชั้นนอกผ่าด้านหลังตรงกลางจนถึงชายด้านล่าง เมื่อเคลื่อนไหวระหว่างสวมใส่ จะสามารถเห็นชุดเข้ารูปที่อยู่ข้างใน ทรงในการเสด็จฯ ไปยังสถานีโทรทัศน์ เอบีซี เพื่อพระราชทานสัมภาษณ์ในโอกาสเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2503

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน 

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บด้วยผ้าจกจากบ้านดอนแร่ จังหวัดราชบุรี ฉลองพระองค์จัดแสดงกับพระภูษาทรงที่จัดทำขึ้นใหม่เพื่อจัดแสดง ทรงในโอกาสเสด็จฯ เยือนทำเนียบขาว ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับ นางโรซาลีน คาร์เตอร์ ภริยานายจิมมี่ คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ในขณะนั้น ก่อนเสด็จฯ กลับทรงได้พระราชทานเสื้อพร้อมด้วยเข็มกลัดฝีมือชาวไทยภูเขาให้แก่นางคาร์เตอร์ เป็นของที่ระลึก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน 

ออกแบบโดย “อีริก มอร์เทนเซน” ห้องเสื้อฌอง-หลุยส์ แชร์เรร์ (Jean-Louis Scherrer) ผ้าไหมพิมพ์ลาย ผ้าขิดและจก รวมถึงผ้าชีฟอง ประดับเฟอร์ที่ปลายแขนฉลองพระองค์คลุม ทรงในงานเปิดนิทรรศการ ผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ณ หอไอเฟล ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนางแบร์นาแด็ต ชีรัค ภริยานายฌาคส์ ชีรัค ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสในขณะนั้น เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2540

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน

ออกแบบโดย “อีริก มอร์เทนเซน” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ตัดเย็บด้วยผ้าไหม ใช้เทคนิคผ้ายก ผ้าพื้น ขิดและจก ทรงในโอกาสแสดงพระราชดำรัสปาฐกถา ณ หอประชุมใหญ่ วิทยาลัยแอมบาสเซเดอร์ เมืองพาซาดีน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2528

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน (แจ๊กเก็ต)

ทรงในการเสด็จพระราชดำเนินไปสหรัฐอเมริกาเป็นการส่วนพระองค์ ในปี พ.ศ. 2528 ออกแบบตัดเย็บโดย “อีริก มอร์เทนเซน” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ด้วยเทคนิคการปักลงบนผ้าไหม ประดับตกแต่งด้วยปีกแมลงทับและลูกปัด

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน 

ฉลองพระองค์ชุดกลางวัน ออกแบบโดย “อเล็กซานเดอร์ แมคควีน” ห้องเสื้อจิวองชี (Givenchy) ใช้ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าหางกระรอก และผ้ายก (เกล็ดเต่า) ทรงเสด็จฯ ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง ในการเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนายเจียงเจ๋อหมิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน ครบ 25 ปี

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดกระโปรง

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ฉลองพระองค์ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ ในปี พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นระยะแรกที่นายบัลแมงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไหมมัดหมี่เพื่อนำไปตัดเย็บฉลองพระองค์

-||-

 

ฉลองพระองค์ชุดราตรีสั้น 

ออกแบบโดย “ปิแอร์ บัลแมง” ห้องเสื้อบัลแมง (Pierre Balmain) ฉลองพระองค์ตัดเย็บจากผ้าไหมจีน และผ้าตาข่าย ปักประดับด้วยเลื่อมและลูกปัด ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 60 ราวปี พ.ศ. 2504 ฉลองพระองค์ชุดราตรีสั้นและยาว มักมีสีอ่อนกว่าฉลองพระองค์ชุดกลางวัน เช่น สีชมพูอ่อน และสีขาว

 

ที่มาของภาพ :  พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด