‘อิศราดร หะริณสุต’ ติดปีก ‘โอมิเซะ’ สู่ระบบการชำระเงินอีคอมเมิร์ซ ที่ไร้รอยต่อของพรมแดน
จาก “Payment for Everyone” สู่ “Powering Digital Commerce in Asia” สเตทเมนต์ใหม่ที่โอมิเซะมุ่งนำประโยชน์ของ digital transformation มาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยระบบการชำระเงินที่ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าผู้รับบริการ แบบไร้รอยต่อของพรมแดน
โอมิเซะ (Omise) สตาร์ทอัปไทยทางด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ประสบความสำเร็จอย่างสูงในฐานะผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ (payment gateway) ที่ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถจบการขายแบบ “จ่ายง่าย ๆ ใช้งานสะดวก จบ ครบในหน้าเดียว” จนทำให้โอมิเซะก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของวงการฟินเทคไทย และยังสามารถขยายการให้บริการไปสู่ต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
“คุณค่าที่ส่งมอบให้ลูกค้า (value proposition) คือบริการของเรา” อิศราดร หะริณสุต หรือ คุณดอน ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท โอมิเซะ จำกัด กล่าว
–⏬–
ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า
โอมิเซะ ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง “ร้านค้า” ซึ่งคุณดอนได้ร่วมก่อตั้งขึ้นที่ประเทศไทย ในปี 2556 ร่วมกับคุณจุน ฮาเซกาวา ชาวญี่ปุ่นโดยระบบรับชำระเงินของโอมิเซะใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ RESTful API ที่ร้านค้าออนไลน์สามารถเชื่อมต่อแพลตฟอร์มตนเอง กับระบบของโอมิเซะได้ง่ายดาย ทำให้ลูกค้าชำระเงินได้เลยในแพลตฟอร์มของทางร้าน การซื้อขายจบได้เร็วขึ้น และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าที่มารับบริการ
นอกจากระบบชำระเงินที่โดดเด่นในลักษณะ one stop service โอมิเซะยังให้บริการระบบชำระเงินในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ พร้อมเพย์ วีแชท อาลีเพย์ ทรูมันนี่ วอลเล็ต พร้อมทั้งขยายช่องทางการหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ กับกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินต่าง ๆ โดยโอมิเซะจะใช้โมเดลนี้มาสร้างการเติบโตทางธุรกิจในเชิงรุกต่อไป
“ภายในไตรมาสสี่ของปีนี้ โอมิเซะจะเปิดตัวธุรกิจ card issuing ซึ่งเป็นบริการออกบัตรเสมือน (virtual card) ให้กับกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงิน และในอนาคตเรายังมองถึงบริการอื่น ๆ ที่จะเข้ามาเสริม โดยปรัชญาการทำธุรกิจของเรา คือการเป็นระบบหลังบ้านของแบรนด์ต่าง ๆ ด้วยวิธีนี้จะทำให้โอมิเซะมี channel partner มากขึ้น เราสามารถโตขึ้นผ่านพาร์ตเนอร์ของเรา”
–⏬–
ขับเคลื่อน Digital Transformation
สู่ Digital Economy
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้าสู่ยุคดิจิทัล ซีอีโอหนุ่มของโอมิเซะกล่าวว่า digital transformation เป็นเรื่องสำคัญมากต่อชีวิตในปัจจุบัน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าทุกอย่างต้องปรับให้เป็นดิจิทัล digital transformation จึงมีความสำคัญต่อโอมิเซะ ในการมอบบริการที่ช่วยให้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด
“โอมิเซะพยายามนำเสนอโซลูชั่นครอบคลุมทั้งฝั่งผู้ขายและผู้ซื้อ เพราะบริการของเราคือการส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้า จึงต้องช่วยให้ลูกค้าบริหารจัดการช่องทางการขายต่าง ๆ ได้ง่ายที่สุด สะดวกสบายที่สุด ไม่เฉพาะแค่เรื่องค้าปลีกเท่านั้น แต่ในแง่ทั้ง supply chain ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่ต้องการ digital transformation อย่างมาก โอมิเซะตั้งเป้าไว้ว่า เราจะมีโซลูชั่นที่มาช่วยสนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้เช่นกัน เพราะ supply chain เองหากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็อยู่กับโลกปัจจุบันนี้ไม่ได้แน่นอน”
คุณดอนกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้เกิดการตื่นตัวเรื่องของ digital transformation มากขึ้น ถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้ผู้คนได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ คิดถึงการทำงานที่ไม่เคยคิดมาก่อน ที่สำคัญนับเป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) เร็วมากขึ้น ในฐานะ “ผู้เล่นตัวน้อย ๆ” ที่มีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซีอีโอโอมิเซะได้มีคำแนะนำเพิ่มเติมถึงการปรับตัวของฟินเทคด้วยว่า หลังโควิด 19 การใช้จ่ายเงินจะอยู่ในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการฟินเทคควรพิจารณาคือ จะมีวิธีที่จะช่วยลดการสัมผัสระหว่างกันได้อย่างไรบ้าง
“เป้าหมายใหญ่ของโอมิเซะคือช่วยให้คนลดการใช้เงินสด เรากำลังทำการพัฒนาเครื่องรูดบัตรอัจฉริยะ (Smart EDC) ร่วมกับบัตรเครดิตหรือเดบิตต่าง ๆ เพื่อลดการนำบัตรเสียบเครื่อง รวมทั้งการนำเสนอโซลูชั่นที่จะมาช่วยกลุ่มร้านค้า โรงแรม ผู้ให้บริการต่าง ๆ ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการให้เป็นดิจิทัล เพื่อลดการสัมผัสมากขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ และยังช่วยให้ร้านค้าและผู้ให้บริการมองเห็นข้อมูลต่าง ๆ มากขึ้นด้วย”
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้เกิดข้อจำกัดในเรื่องของพรมแดน โอมิเซะจึงมีเป้าหมายสำคัญอีกเรื่อง ที่อยากมีส่วนผลักดันให้เกิดขึ้นหลังสถานการณ์คลี่คลาย คือการเป็นตัวกลางเชื่อมต่อการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (cross-bordere-commerce) ด้วยการสร้างระบบการชำระเงินที่ทำให้แต่ละประเทศสามารถรับชำระเงินจากอีวอลเล็ตของต่างชาติได้ เช่นที่ประเทศจีน ซึ่งเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติรวมถึงคนไทยซื้อสินค้าในประเทศจีน โดยใช้จ่ายผ่านแอปฯ WeChat Pay ได้ ดังนั้น หากเราไปเที่ยวต่างประเทศ แล้วสามารถใช้จ่ายผ่านพร้อมเพย์ของไทยเอง หรือผ่านทรูมันนี่ วอลเล็ต ได้ ก็จะช่วยเปิดโอกาสให้ทำการขายได้มากขึ้น
–⏬–
ก้าวทะยานสู่เอเชีย
ตลอด 8 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้ง โอมิเซะ คือหนึ่งในสตาร์ทอัปฟินเทคที่เติบโตมากที่สุดของประเทศไทย โดยเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังระบบการชำระเงินของอีคอมเมิร์ซ รวมแล้วกว่า 6,000 แห่ง โอมิเซะเคยสร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการฟินเทคไทย ด้วยการเติบโต 1,000% ในปี 2559 และในปีที่แล้ว “SYNQA” ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของโอมิเซะ ได้รับเงินลงทุนซีรีส์ C1 ด้วยยอด 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดต้นปีนี้ก็ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซครบวงจร “Esimo” (คำที่เขียนย้อนหลังของ Omise) ที่อำนวยความสะดวกตั้งแต่การสร้างแพลตฟอร์มร้านค้า การตกแต่งร้าน ระบบชำระเงิน ระบบจัดการคลังสินค้า ระบบขนส่ง รวมถึงการมีแดชบอร์ด ให้ดูสถิติยอดขายแบบเรียลไทม์ ที่ช่วยให้ร้านค้าสามารถนำไปวิเคราะห์การขายได้
คุณดอนกล่าวว่า ศักยภาพฟินเทคไทยในการขยายการเติบโตออกไปต่างประเทศนั้น ถือว่ายังมีผู้เล่นค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งเขาหวังว่าจะมีโอกาสได้เห็นฟินเทคไทยก้าวขึ้นมามากขึ้น สำหรับการขยายธุรกิจไปต่างประเทศของโอมิเซะเอง จะใช้แนวทางการเป็นพันธมิตรร่วมค้ามากกว่าคู่แข่งขัน ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้โอมิเซะสามารถขยายการเติบโตไปพร้อม ๆ กับคู่ค้าต่าง ๆ
“เมื่อก่อนเราเป็น ‘Payment for Everyone’ สเตทเมนต์ใหม่ที่จะเป็นแท็กไลน์ของเราคือ ‘Powering Digital Commerce in Asia’ โดยตอนนี้เรามุ่งเป้าไปที่การเป็น one stop service ของอาเซียน เราอยากมีส่วนร่วมกับพาร์ตเนอร์ในการขับเคลื่อนอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค โดยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน ให้กับกลุ่มธุรกิจในประเทศนั้น ๆ และกลุ่มผู้ให้บริการที่มีสาขาอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ”
–⏬–
จับจ้องที่จุดหมาย
ความสำเร็จที่ส่งผลให้โอมิเซะอยู่ในแถวหน้าของฟินเทคไทยนี้ ได้รับการเปิดเผยจากคุณดอน ว่ามาจากปัจจัยสำคัญคือการโฟกัสในสิ่งที่ทำ โดยมองไปที่เป้าหมายระยะยาวและการมีทีมงานที่ดี เนื่องจากโอมิเซะต้องการก้าวสู่การเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาค ทีมงานของโอมิเซะจึงเป็นผู้ที่มีประสบการณ์จากบริษัทชั้นนำ และเป็นคนที่มีความรู้เชิงลึกในแต่ละสายงาน ที่เข้ามาช่วยผลักดันให้บริษัทเติบโตมาถึงวันนี้ และในอนาคตปัจจุบันโอมิเซะมีทีมงานกว่า 160 คน และยังต้องการผู้ร่วมงานอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะนักพัฒนาและงานวางแผนกลยุทธ์ ดังนั้น ใครที่สนใจเข้ามาในภาคบริการนี้ โอมิเซะจึงเปิดรับเต็มที่
ด้วยการทำงานที่ต้องติดต่อประสานงานกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่เสมอ รวมถึงการได้สัมผัสหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเงินในประเทศต่าง ๆ คุณดอนจึงถือโอกาสแสดงทัศนะในตอนท้ายว่า ธปท. ถือเป็นหน่วยงานที่มีความชัดเจนและตรงไปตรงมา ในแง่นโยบายมากที่สุดแห่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ
“ธปท. มีการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีรวดเร็วมาก ผมมองว่า ธปท. มีความคิดริเริ่มที่ดี อย่างเรื่องพร้อมเพย์ที่พยายามผลักดันจนคนเข้าใจมากขึ้นว่า การทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลไม่ได้น่ากลัว และจริง ๆ ก็ปลอดภัยกว่าการใช้เงินสด ทั้งในเชิงป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและในเชิงธุรกิจ จนกลายเป็นว่าทุกวันนี้พวกวอลเล็ตต่าง ๆ แทบจะใช้ได้ทุกพื้นที่ ซึ่งในอนาคตก็หวังว่า ธปท. จะสามารถผลักดันโซลูชั่นที่ตอบสนองเทคโนโลยีทางการเงินสมัยใหม่ออกมาเรื่อย ๆ และมีวิธีที่ช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเปิดตัวบริการให้กับประชาชนได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย”
—————————————————————
**นับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจในปี 2556 โอมิเซะได้เปิดระดมทุนมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ระดับ seed funding, series A, series B กระทั่งล่าสุด series C ในปีที่แล้ว โดยยอดระดมทุน 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับนั้น มาจากนักลงทุนหลัก 2 แห่งคือ SCB 10X และ SPARX Group (ผ่านกองทุน Mirai Creation Fund II)
—————————————————————
เรื่อง : กองบรรณาธิการ BOT พระสยาม MAGAZINE
ที่มา : BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับที่ 4 เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564