ย้อน 6 เรื่องราวสุดประทับใจ หวนรำลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 อันสัมพันธ์กับตัวเลข
ธ สถิตกลางใจประชาราษฎร์ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ อะราวด์พาย้อน 6 เรื่องราวอันสุดประทับใจ รำลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่สัมพันธ์กับตัวเลข อย่างที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน!
6
ปอนด์ หรือ 2 กิโลกรัม คือน้ำหนักแรกประสูติของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมี ดับบลิว สจ๊วต วิตมอร์ เป็นแพทย์ผู้ทำคลอด ที่โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น ในเมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมซซาชูเซต ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังเมื่อพระองค์ทรงเจริญวัยมากขึ้น ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังโรงพยาบาลแห่งนี้ และได้ทรงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คุณหมอผู้นี้เข้าเฝ้า พร้อมพระราชทานหีบบุหรี่ถมทองมีตัวหนังสือสลักข้างใน “ให้เพื่อนคนแรกของฉัน ดอกเตอร์ ดับบลิว.สจ๊วต วิตต์มอ ด้วยความรักและระลึกถึง”
10
เปอร์เซ็นต์ คือจำนวนเงินภาษีที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ถูกหักจากกิจกรรมใดก็ตามที่พระองค์ทรงทำและได้กำไร สมเด็จย่าได้ทรงอบรมสั่งสอนในหลวง ร. 9 รู้จักการให้ด้วยการจัดทำ “กระป๋องคนจน” และนำเงินภาษีที่ถูกหักดังกล่าว มาเก็บสะสมไว้ในกระป๋องใบนี้ เมื่อถึงเวลาทุกๆ สิ้นเดือนสมเด็จย่าจะทรงเรียกประชุม เพื่อปรึกษาหารือกันว่าจะนำเงินดังกล่าว ไปทำประโยชน์อะไรให้สังคมได้บ้าง เช่น มอบให้โรงเรียนเด็กพิการ หรือ ทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน เป็นต้น
18
พรรษา คือพระชนมายุของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งทรงพระราชนิพนธ์ดนตรีเป็นครั้งแรก โดย ‘เพลงแสงเทียน’ เป็นบทเพลงแรกที่พระองค์ทรงประพันธ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2489 พระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์ ยังแสดงให้เห็นได้จากการที่พระองค์ทรงสามารถพระราชนิพนธ์เพลงได้เกือบทุกแนว โดยไม่ต้องมีเครื่องดนตรีช่วย ดังเช่น ครั้งหนึ่งที่ทรงหยิบซองจดหมายขึ้นมาขีดเส้น 5 แถว และประพันธ์เพลงขึ้นมาเดี๋ยวนั้น จนกลายเป็นเพลง ‘เราสู้’ จวบจนถึงปัจจุบัน ได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ทั้งสิ้น 48 เพลง
107
คือจำนวนภาพจิตรกรรม ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเขียนขึ้น โดยพระองค์ได้ให้ความสนพระราชหฤทัยงานจิตรกรรมมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เองจากตำราต่างๆ และเมื่อทรงสนพระราชหฤทัยในงานของศิลปินผู้ใด ก็จะเสด็จไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พักเพื่อทรงทักทาย และทอดพระเนตรถึงวิธีการทำงาน หลังเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจัง ราวปี พ.ศ. 2502 และพระราชทานพระราชวโรกาสให้จิตรกรไทยเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายคำปรึกษาราว 8 ปี ภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่ทรงใช้มากเป็นพิเศษคือ สีน้ำมันบนผืนผ้าใบ ซึ่งจะทรงลงนาม “ภ.อ.” ไว้ในแต่ละภาพ
300
ฟรังก์ คือราคาของแซกโซโฟนมือสองที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วน
พระองค์ครึ่งหนึ่ง ร่วมกับพระราชทรัพย์อีกครึ่งหนึ่งจากสมเด็จย่า เพื่อซื้อแซกโซโฟนดังกล่าวมาหัดเล่น อันเป็นหนึ่งเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความประหยัดอดออมของพระองค์ นอกเหนือจากที่ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งทรงเก็บสะสมเพื่อซื้อกล้องถ่ายรูปกล้องแรกคือ Coconet Midget ด้วยวัยเพียง 8 พรรษา รวมถึงการที่พระองค์ได้ทรงรับจ้างเก็บผักผลไม้ไปขาย และเมื่อทรงได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม ถึงแม้ว่าจะได้ค่าขนมทุกอาทิตย์แล้วก็ตาม
32,866.73
บาท คือจำนวนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานเพื่อก่อตั้งโครงการสวนจิตรลดา อันได้มาจากการขายหนังสือดนตรีของพระเจนดุริยางค์ และการขายนมวัว นับเป็นจุดกำเนิดของโครงการสวนจิตรลดาขึ้นภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นราชฐานที่ประทับในปีพุทธศักราช 2504 มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน เพื่อศึกษาทดลองและวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่างๆ ก่อนจะค่อยๆ เติบโตเป็นโครงการส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศมาจนทุกวันนี้