ย้อนรอยรถไฟไทย ในรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 สู่สถานีหัวลำโพง ก่อนเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เร็วๆ นี้!
และถ้าจะพูดถึงด้านการคมนาคม ซึ่งมีความโดดเด่นอย่างมากจวบจนถึงปัจจุบัน ที่พระองค์ทรงริเริ่มและเป็นผู้ให้กำเนิดการคมนาคมทางบกระบบราง เส้นทาง “รถไฟ” ภายในประเทศ นำความรุ่งเรืองมาสู่ชาติบ้านเมืองอย่างเป็นรูปธรรม เกิดมิติใหม่ของการปฏิรูปการคมนาคมอย่างแท้จริง แทนการใช้เกวียณจากแรงงานคน และแรงงานสัตว์แบบดั้งเดิม อย่าง ช้าง ม้า โค กระบือ และทางเรือผ่านแม่น้ำลำคลอง อันเป็นพาหนะเพื่อประโยชน์ในการเดินทาง และการลำเลียงสินค้าต่างๆ จากถิ่นหนึ่งไปยังอีกถิ่นหนึ่งตามยุคสมัย ซึ่งสถานการณ์บ้านเมืองเวลานั้น ได้มีการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศสแผ่มาครอบคลุมบริเวณแหลมอินโดจีน ด้วยทรงมองการณ์ไกลจึงมีพระราชดำริสร้างทางรถไฟเพื่อติดต่อกับมณฑลชายแดน เอื้อประโยชน์ทางเศรษกิจของประเทศ และให้เป็นเส้นทางขนส่งผู้โดยสารรวมถึงสินค้าไปมาถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ มิสเตอร์ จี. มูเร แคมป์เบลล์ ผู้ประมูลสร้างทางรถไฟได้ในราคาต่ำสุด สร้าง เส้นทางรถไฟหลวงสายแรกของสยาม จากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ขณะเดียวกันก็ได้เปิดให้บริการประชาชนบางส่วนในเส้นทางก่อน นั่นคือ กรุงเทพ – อยุธยา จากนั้นจึงค่อยเปิดการเดินรถต่อไปอีกเป็นระยะๆ จากอยุธยา ถึง แก่งคอย มวกเหล็ก ปากช่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2443 การสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา ได้แล้วเสร็จเรียบร้อย และทรงสร้างทางรถไฟสายอื่นๆ ต่อไปอีกหลายสาย จนกระทั่งสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระผู้พระราชทานกำเนิดกิจการรถไฟในประเทศไทย นับว่ากิจการรถไฟไทย ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 เป็นต้นมา
อันจะเห็นได้ว่า ภายหลังพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อทรงขึ้นครองราชย์และสานต่อความเจริญทางการคมนาคม เพิ่มขยายเส้นทางรถไฟอย่างต่อเนื่อง และได้เริ่มต้นก่อสร้าง “สถานีกรุงเทพ” ตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2453 ให้เป็นสถานีต้นทางสู่เส้นทางเดินรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออก ไปยังจังหวัดต่างๆ วันนี้ “สถานีกรุงเทพ” เดิม หรือเรียก “สถานีหัวลำโพง” ในเวลาต่อมา เดินทางผ่านกาลเวลามานับศตวรรษ โดยครบรอบ 105 ปี ในปี พ.ศ. 2564 ตั้งแต่วันที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้า ให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459
สถานีกรุงเทพ ที่เราต่างเรียกกันคุ้นปากว่า สถานีหัวลำโพง เก่าแก่ที่สุดในย่านประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในท้องที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มี ความงดงามทางสถาปัตกรรมคลาสสิกอันเป็นเอกลักษณ์แห่งยุคอย่างมาก อาคารโถงสถานีเป็นอาคารหลังคาโค้งขนาดใหญ่ ในรูปแบบโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซอง ที่มีลักษณะคล้ายกับรถไฟเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ออกแบบโดย มิสเตอร์ มาริโอ ตามันโญ ชาวอิตาลี สถาปนิกผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม นำเข้าวัสดุก่อสร้างจากเยอรมนี อันมีลวดลายประดับวิจิตรตระการตา โดดเด่นด้วยกระจกสีที่ช่องระบายอากาศทั้งด้านหน้าและด้านหลัง อีกทั้งเมื่อเดินเข้าไปในโถงอาคาร จะสะดุดตากับนาฬิกาบอกเวลาเรือนใหญ่สั่งทำพิเศษ ติดตั้งกลางยอดโดมโค้งของสถานี โดดเด่นด้วยมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 160 เซนติเมตร ควบคุมด้วยไฟฟ้าระบบ ดี.ซี.จากห้องชุมสาย ใช้เป็นเครื่องบอกเวลาแก่ผู้สัญจรไปมานับแต่อดีตจวบจนปัจจุบันนี้
ที่ผนังด้านซ้ายและขวาของสถานีกรุงเทพ งดงามด้วยภาพเขียนสีน้ำ เป็นภาพสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ อย่าง พระบรมมหาราชวัง ตลาดน้ำ เขาวัง ภูกระดึง หาดสมิหลา ฯลฯ นอกจากนี้ที่ด้านหน้าสถานีมีสวนหย่อมและน้ำพุสำหรับประชาชน โดยข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯ อุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระพุทธเจ้าหลวง อนุสาวรีย์ที่ว่านี้เป็นรูป “ช้างสามเศียร” มีพระบรมรูปของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 แกะสลักเป็นภาพนูนสูงประดิษฐานอยู่ด้านบน
ศตวรรษที่ 21 สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
เมื่อความเจริญของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ รุดหน้า มีประชากรที่หนาแน่น รวมถึงปัญหาการจราจรที่ต้องเร่งหาทางแก้ไข รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางราง เพื่อขยายขีดความสามารถทางการแข่งขันและการให้บริการเพิ่มขึ้น อีกทั้ง รมว.คมนาคม เปิดเผยล่าสุดว่า เมื่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ตั้งเป้าภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 จะทำการปิดสถานีหัวลำโพง เพื่อลดปัญหาจราจรในเมือง โดยให้ “สถานีกลางบางซื่อ” เป็นศูนย์กลางให้บริการระบบราง ที่รวมรถไฟทางไกล รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยาน และรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทางเข้าด้วยกัน ถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ก้าวสู่ปีที่ 124 ของการรถไฟฯ ในยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ได้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางแก่ประชาชน การบริการขนส่งสินค้าแก่ภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ให้ก้าวสู่ความยั่งยืน
ซึ่ง “สถานีรถไฟกรุงเทพ” หรือ “สถานีหัวลำโพง” ที่ฉายภาพแห่งความรุ่งโรจน์ในอดีตจนถึงวันนี้ คงความสำคัญของศูนย์กลางระบบรางแห่งประวัติศาสตร์ จะถูกปรับเปลี่ยนในรูปแบบพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวอันสำคัญของกรุงเทพฯ และประเทศไทยต่อไป