“นายขจิต ชัชวานิชย์” ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดแผนฟื้นเมือง ฟื้นเศรษฐกิจ ฟื้นกรุงเทพฯ
นับเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญของคณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร (กทม.) สำหรับ นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานครคนใหม่ ที่กำลังเดินหน้าทำงานอย่างเต็มที่ในการฟื้นฟูกรุงเทพฯ ให้กลับมาเป็นเมืองหลวงที่เปี่ยมศักยภาพ โดยภาพรวมคือ การฟื้นเมืองหลวงของประเทศไทยให้สวยงามด้วยการปรับภูมิทัศน์ใหม่ แข็งแรงด้วยเศรษฐกิจที่ได้รับการกระตุ้น ยั่งยืนด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และพร้อมสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า
โครงสร้างการบริหารงานของกรุงเทพมหานคร
ก่อนที่จะกล่าวถึงแผนการทำงานในปีนี้ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้อธิบายโครงสร้างการบริหารราชการของกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการให้ข้อมูลพื้นฐานกับคนกรุงเทพฯ ก่อนที่การเลือกตั้งครั้งใหม่จะมาถึงว่า “ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542 ประกอบด้วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 50 ท่าน เป็นตัวแทนของแต่ละเขต จำนวน 50 เขต มีความรับผิดชอบในงานด้านนิติบัญญัติทั้งหมด มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี เช่นกัน โดยทั้งหมดจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนชาวกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะทำการแต่งตั้งคณะทำงานอีก 19 ท่าน คือ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 4 ท่าน คณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 9 ท่าน เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 1 ท่าน ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 4 ท่าน และโฆษกของกรุงเทพมหานคร 1 ท่าน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ดำเนินการตามพันธะสัญญาและหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งพันธะสัญญาที่สำคัญที่สุด คือพันธะสัญญาที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ไว้กับพี่น้องประชาชน มีนโยบายอย่างไร ก็นำมาบริหารเพื่อให้เป็นไปตามที่รับปากไว้กับประชาชน”
เดินหน้าปรับภูมิทัศน์ใหม่ทั่วกรุง
สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นแกนหลักในการฟื้นฟูกรุงเทพฯ คือการปรับภูมิทัศน์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งที่เป็นชุมชน ศูนย์กลางเศรษฐกิจ เส้นทางการสัญจร สถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่ในการใช้ชีวิตของคนเมือง ซึ่งปลัดกรุงเทพมหานครได้กล่าวถึงความคืบหน้าและแผนการทำงานในปีนี้ไว้ดังนี้
“กทม. มีความตั้งใจที่จะปรับภูมิทัศน์กรุงเทพฯ ทั้งเมือง ส่วนตัวเห็นว่าหากมองในแง่ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมาเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการทำงาน เพราะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้อย่างเต็มที่ โดยส่วนสำคัญที่ กทม. ดำเนินการปรับภูมิทัศน์ก็เพราะต้องการทำเมืองหลวงของเราให้พร้อม เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศกลับมาเป็นปกติ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหรือแม้แต่คนในประเทศไทย เมื่อมีโอกาสเดินทางมากรุงเทพฯ จะได้เห็นเมืองที่สะอาดและสวยงาม”
“หากใครมีโอกาสได้ไปคลองผดุงกรุงเกษม คลองโอ่งอ่าง หรือสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ก็จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงแน่นอน ว่าเรื่องของความสวยงามนั้น ทุกแห่งสวยขึ้นทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน เราอยากให้ภาพแบบนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งเมือง ผมอยากให้ทุกคนลองจินตนาการดู แล้วจะเห็นว่าเมืองน่าอยู่นั้นหน้าตาเป็นแบบไหน และอีกนโยบายที่จะได้เห็นกันคือ ถนนสวยทั้งปี ซึ่งเป็นถนนที่จะมีดอกไม้ประดับให้สวยงามตลอดปี โดยเริ่มที่ถนนพญาไทก่อน จากนั้นขยายไปตามย่านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนสุขุมวิท ถนนคลองสาน ถนนพระรามที่ 1 ถนนพระรามที่ 4 และแน่นอนว่าในอนาคตจะขยายไปสู่ถนนอีกหลายสาย และสิ่งที่เกิดขึ้นไปพร้อมกันคือ การพัฒนาระบบการรดน้ำต้นไม้ที่ช่วยถนอมต้นไม้และหน้าดิน ช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับต้นไม้ที่ กทม. ปลูกไว้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการดูแลพื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน”
เสริมประสิทธิภาพการจัดการขยะและการเพิ่มคุณภาพน้ำ
การปรับภูมิทัศน์ที่ กทม. ได้ดำเนินการแล้วและที่ดำเนินการต่อไปไม่อาจสมบูรณ์ได้ หากขาดส่วนสำคัญอย่างการจัดการขยะและการเพิ่มคุณภาพน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ “ในปีหน้า กทม. มีแผนพัฒนาการเก็บขยะจากบ้านเรือน นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อให้การจัดการขยะครัวเรือนจากทุกมุมเมืองเรียบร้อยและราบรื่นขึ้น เรายังมีแผนเปลี่ยนรถจัดเก็บขยะของ กทม. ให้เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ที่นอกจากเป็นส่วนหนึ่งในการลดมลพิษทางอากาศ ต้นเหตุของฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังช่วยลดปัญหาเสียงรบกวนขณะปฏิบัติงาน เพราะเดินรถได้เงียบกว่ารถปกติ หากงบประมาณผ่านการพิจารณาในปี 2566 เราจะเริ่มใช้รถเก็บขยะพลังงานไฟฟ้าในบางเขตก่อนเพื่อนำร่อง และจะไม่จำกัดอยู่เพียงเท่านี้ ด้วยเราตั้งใจที่จะเปลี่ยนรถที่ใช้ในราชการทั้งหมดให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ส่งเสริมการใช้รถพลังงานไฟฟ้า”
“อีกส่วนหนึ่งที่กำลังเร่งทำเช่นกันคือ ทำให้น้ำในคลองต่าง ๆ มีความใสสะอาด ซึ่งเป็นนโยบายจากรัฐบาลที่ กทม. สานต่อการทำงาน โดยประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมว่าน้ำในคลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร หรือคลองลาดพร้าวมีความสะอาดขึ้น เพราะพวกเราดำเนินการและหารือกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมที่คิดเป็น 1% น้ำจากอาคารสำนักงาน และอาคารที่พักอาศัย 29% และน้ำจากบ้านเรือนอีก 70% ทั้งหมดจะมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบ ติดตาม และป้องกันการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลอง”
“สำหรับบ้านเรือนของประชาชนที่ผ่านการสำรวจแล้วพบว่าไม่มีถังดักไขมัน กทม. จะทำการติดตั้งให้ทุกหลัง น้ำทิ้งจากบ้านเรือนจะต้องผ่านกระบวนการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ นอกจากนี้ เรายังมีการรณรงค์ให้ประชาชนที่พักอาศัยริมคลอง ริมแม่น้ำ ไม่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงไปสร้างมลพิษ หากทำได้ดีทั้งการบำบัดน้ำและการจัดการขยะ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเมื่อทุกคนร่วมใจกัน เราจะสร้างน้ำสะอาด คลองสะอาด แม่น้ำสะอาด และส่งผลดีไปถึงทะเลที่จะสะอาดขึ้นตามไปด้วย ทุกวันนี้เวลาได้เห็นประชาชนแชร์ในโซเชียลมีเดียว่าน้ำในคลองสายต่าง ๆ มีคุณภาพที่ดีขึ้น สิ่งนี้เป็นกำลังใจสำคัญที่จะทำให้เรามุ่งมั่นแก้ปัญหานี้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง”
ฟื้นเศรษฐกิจกรุงเทพฯ ในช่วงโควิด 19
การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแบบรอบด้านคือสิ่งที่ กทม. ดำเนินการมาตลอด ทั้งการชดเชยผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ ดูแลตลาดที่เป็นหน่วยธุรกิจสำคัญของชุมชน สร้างอาชีพใหม่ และส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการหลากหลายแขนงในโครงการ OTOP และ Bangkok Brand
“สิ่งที่ กทม. ได้ดำเนินการไปแล้วคือ การช่วยเหลือพี่น้องผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด 19 สำหรับครอบครัวที่ขาดเงินทุนในการเดินหน้าทำธุรกิจ เราได้มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 5,000 บาท ทั้งหมด 50 เขต ด้วยงบประมาณเขตละ 1,000,000 บาท”
“ตลาดเป็นอีกส่วนที่เราให้ความสำคัญเช่นกัน กทม. ได้เข้าไปดูแลอย่างเต็มที่เพื่อให้ตลาดแต่ละแห่งสามารถเปิดทำการค้าได้ ช่วยให้เงินในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น โดยให้ความสำคัญกับมาตรการในการป้องกันโรคโควิด 19 ทั้งตัวผู้ค้าและประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ รวมไปถึงอาคารสถานที่ต้องเป็นไปตามมาตรการที่เรากำหนดให้”
“ส่วนผู้ที่ต้องการมองหาอาชีพใหม่ ๆ กทม. มีการเปิดหลักสูตรฝึกอาชีพผ่านระบบออนไลน์ หรือจะเรียนที่โรงเรียนฝึกอาชีพทั้ง 10 แห่ง นอกจากนี้ สำนักงานเขตมีโครงการฝึกอาชีพด้วยเช่นกัน และการฝึกอาชีพหรือโครงการประกอบอาชีพ ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กในยุคนี้เรียนรู้ได้เร็ว เขามีความสามารถไม่แพ้ผู้ใหญ่เลย สำคัญอยู่ที่การลงมือและฝึกฝนอย่างจริงจัง ซึ่งบางครอบครัวก็จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เนื่องจากลูกหลานสามารถแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจของผู้ปกครองได้”
“อีกกลุ่มหนึ่งที่เราผลักดันให้เกิดรายได้เพิ่มในช่วงโควิด 19 คือ การคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมกลุ่ม OTOP และ Bangkok Brand โดยช่องทางการขายสินค้ามีทั้งทางออนไลน์และตลาดที่เราจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดผลัดกันชม และถนนคนเดิน ซึ่งจะมีการส่งเสริมให้จัดงานอย่างต่อเนื่องและบ่อยครั้งขึ้น เมื่อสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายกว่าในปัจจุบัน นอกจากสร้างการซื้อขายระหว่างคนไทยด้วยกัน เรายังส่งเสริมการส่งสินค้าออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย”
พร้อมสานต่อโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างสุขให้คนเมือง
นอกจากการฟื้นฟูเมืองในหลายด้านดังกล่าว ปลัดกรุงเทพมหานคร ยังส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ และประชาชนที่อาศัยในเมืองหลวงแห่งนี้ “อย่างหนึ่งที่ได้เริ่มต้นดำเนินการไปแล้วคือ ระบบการเรียนการสอนของศูนย์เด็กเล็ก จะได้รับการปรับให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งกรุงเทพฯ ซึ่งครูแต่ละคนจะทำการสอนตามแผนที่เรากำหนดให้และจะมีการสอดแทรกเนื้อหาตามความสนใจของเด็กแต่ละคน หากเริ่มใช้เมื่อไหร่ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา และแน่นอนว่าจะขยายผลไปยังการศึกษาระดับที่สูงขึ้นด้วย และสิ่งสำคัญสำหรับยุคดิจิทัลในปัจจุบันคือ การลดขั้นตอนการติดต่อกับหน่วยงานของ กทม. ส่วนไหนที่ดำเนินการผ่านออนไลน์ได้ เราจะเปลี่ยนทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และต้องใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ นี่คือเป้าหมายที่ตั้งไว้”
เตรียมพร้อมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภา กทม.
เชื่อว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน เป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ รอคอยและทุกคนพร้อมที่จะไปใช้สิทธิในการออกเสียงครั้งสำคัญนี้ ซึ่ง กทม. ได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ทั้งการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และการบริการประชาชนให้เกิดความสะดวกสบายมากที่สุด
“ล่าสุดเรามีการอบรมเจ้าหน้าที่ทั้ง 50 เขต เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งใหม่ การเข้าคูหา รวมไปถึงกระบวนการทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ พร้อมคัดเลือกบุคคลเพื่อทำหน้าที่เจ้าพนักงานประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งทุกอย่างที่กล่าวมาได้เตรียมพร้อมเรียบร้อย สำหรับสิ่งที่อยากจะฝากไปถึงคนกรุงเทพฯ คือ ถ้าใครมีสิทธิก็ขอให้ออกมาใช้สิทธิใช้เสียงกัน เลือกตามนโยบายที่ท่านชื่นชอบ อยากเห็นกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปในแนวทางใด อยากให้สิ่งไหนเกิดขึ้นบ้างสำคัญที่สุดคือ เลือกคนดีที่เล็งเห็นแล้วว่าจะนำคุณประโยชน์มาให้กับกรุงเทพฯ ของเราอย่างจริงจังและจริงใจ ส่วนตัวผมเองและคณะทำงานก็พร้อมที่จะร่วมงานกับคณะผู้บริหารใหม่ เพื่อให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น สมกับการเป็นหนึ่งในมหานครระดับโลก”
ส่งความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชน
ปลัดกรุงเทพมหานครได้ฝากความห่วงใยถึงคนกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังคงดำเนินไป และกำลังเข้าสู่การกำหนดให้โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย “เรากำลังนับถอยหลังที่โรคโควิด 19 จะเป็นโรคประจำถิ่น ฉะนั้นทุกคนต้องระวังตัวอยู่เสมอ มือของเราเป็นหนทางที่จะนำพาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หมั่นล้างมือให้บ่อย เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าเชื้อโรคสามารถอยู่ได้ในทุกที่ ใครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือยังฉีดไม่ถึงเข็มที่สามหรือสี่ แนะนำให้ฉีดให้ครบ เราต้องช่วยกันลดความรุนแรงของการระบาด โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเสี่ยง กลุ่มเด็ก และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หวังว่าทุกคนจะปลอดภัย ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง แล้วเราจะผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน”
————————————————————————
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ BANGKOK NEWS (กทม.สาร)
ที่มา: BANGKOK NEWS (กทม.สาร) ฉบับ 280 (2/2565)