‘ก้องศักดิ์ คู่พงศกร’ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ชู “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” พื้นที่ทดสอบท่องเที่ยวไทย
จังหวัดภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาพักผ่อนไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้เข้าประเทศ กว่า 4.7 แสนล้านบาท แต่วันนี้จากการระบาดของโควิด 19 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเหลือเพียงหลักแสนคน
“ผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 ครั้งนี้ หนักยิ่งกว่าเจอสึนามิถล่มภูเก็ต 10 ลูกเสียอีก” นี่คือเสียงสะท้อนของ ‘คุณก้องศักดิ์ คู่พงศกร’ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางระดับโลก แต่วันนี้ภูเก็ตแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง
-||-
คลื่นโควิด 19 กระหน่ำภูเก็ต
คุณก้องศักดิ์เล่าว่า นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ที่มีการปิดเกาะในเดือนเมษายน 2563 จนถึงปัจจุบัน การท่องเที่ยวภูเก็ตแทบจะยังไม่ฟื้นกลับมาเลย แม้หลังการระบาดระลอกแรกคลี่คลาย เริ่มมีการเดินทางได้บ้าง แต่ก็ไม่เพียงพอ สำหรับจำนวนห้องพักกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นห้องบนเกาะแห่งนี้ จะมีลูกค้าบ้างก็จากเมืองหลักๆ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่ หาดใหญ่ และนครศรีธรรมราช ถึงแม้โรงแรมในภูเก็ตจะลดราคาลงมาก แต่ยังไม่สามารถดึงคนไทยกลับมาเที่ยวได้มากเหมือนในอดีต ยิ่งช่วงที่มีการระบาด ยิ่งทำให้การเดินทางลดลง เหลือประมาณ 500 – 1,000 คนต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางของคนในพื้นที่
“ตอนเริ่มพบผู้ติดเชื้อปลายเดือนมกราคม 2563 เราคาดการณ์ว่าผลกระทบโควิด 19 จะคงอยู่ไม่เกิน 6 เดือน หวังว่าประมาณเดือนกรกฎาคม 2563 นักท่องเที่ยวก็จะกลับมา แต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 สถานการณ์ในประเทศ และทั่วโลกเริ่มเลวร้ายลง เราจึงปรับเป้าหมายใหม่เป็นเดือนตุลาคม เพราะระลอกแรกภูเก็ตจัดการการแพร่ระบาดได้ดีมาก ยังหวังว่าเดือนตุลาคม 2563 จะพอฟื้นตัวมาได้บ้างสัก 50% แต่พอโควิด 19 ระลอก 2 เข้ามา ก็มองว่าธุรกิจท่องเที่ยวอาจจะซึมยาวไป 2 – 3 ปี แต่ตอนนี้เกิดการระบาดระลอก 3 ทำให้หนักกว่าที่ผ่านมา เราคาดว่ากว่าจะฟื้นตัวต้องใช้เวลา 5 – 6 ปี” คุณก้องศักดิ์ กล่าว
ทว่าผู้ประกอบการในภูเก็ตก็ไม่ยอมแพ้ พยายามปรับตัวทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอดได้ ตั้งแต่ประหยัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ปรับกลยุทธ์การดำเนินงาน ติดต่อขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อจ่ายค่าจ้าง เพื่อช่วยเหลือพนักงาน เพื่อพยุงธุรกิจ แต่บางกิจการต้องตัดสินใจเลย์ออฟพนักงาน เพราะไม่สามารถไปต่อได้จริงๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการติดต่อกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล จนเป็นที่มาของ “ภูเก็ตโมเดล” หรือ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่จะเริ่มใช้ในเดือนกรกฎาคม 2564 นี้
-||-
ชู “ภูเก็ตโมเดล” เป็นทางรอด
ไม่ใช่แค่ภูเก็ตเท่านั้น ที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ภูเก็ตซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก จึงเป็นสถานที่พัฒนาโมเดล ในการฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ มีทางเข้าออกชัดเจน สามารถออกแบบการบริหารจัดการการเดินทาง รวมถึงมาตรการดูแลนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีโอกาสที่จะฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็ว
คุณก้องศักดิ์กล่าวว่า การนำเสนอ “ภูเก็ตโมเดล” หลังการระบาดของโควิด 19 ระลอกแรกไม่สำเร็จ เนื่องจากคนในพื้นที่มีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาด ประกอบกับเกิดการระบาดระลอก 2 และ 3 ตามมาในหลายประเทศ ทำให้ยังคงระมัดระวังเรื่องการเดินทาง จึงต้องพับแผนไป แต่ก็ยังไม่หยุดความพยายาม ที่จะผลักดันภูเก็ตโมเดลให้เกิดขึ้นให้ได้ สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้เป็นหนึ่งในองค์กรเอกชน ที่ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งในระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการระดับประเทศ เช่น ธปท. กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สภาพัฒน์ รวมถึงศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)
“เราใช้กลยุทธ์การสื่อสารกับทุกภาคส่วน สื่อสารกับคนในเกาะ คนในประเทศ สื่อสารกับรัฐบาล รวมถึงประชาคมโลก อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ภูเก็ตเป็นเหมือนพื้นที่ทดสอบสำหรับการเปิดรับการท่องเที่ยว บนเกาะแห่งนี้มีนักคิด นักกลยุทธ์มาช่วยกันคิดวางแผนยุทธศาสตร์ และช่วยกันสื่อสารให้ทุกภาคส่วนยอมรับ เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องเปิดให้ท่องเที่ยว ก่อนจะขยายไปที่อื่นๆ หากประสบความสำเร็จ เช่น จังหวัดพังงาและกระบี่ ที่จะสามารถนำโมเดลนี้ ไปปรับใช้เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้เช่นกัน” คุณก้องศักดิ์ กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินงานใหม่ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ที่จะเริ่มในเดือนกรกฎาคมนี้ เป็นความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะร่วมผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งจะมีการดำเนินงานในหลายมิติ ทั้งผู้ประกอบการเอง ต้องยกระดับมาตรฐานการบริการ ในเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย ระบบการเดินทาง การขนส่ง ระบบสาธารณสุข สภาพแวดล้อมภายในเกาะ ที่สำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในพื้นที่ โดยภาครัฐจัดหาวัคซีนจำนวน 9.3 แสนโดส เร่งฉีดให้ได้วันละ 15,000 คน ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว และคนในเกาะก่อนเปิดอย่างเป็นทางการ
-||-
มุ่งสร้างอนาคตภูเก็ตอย่างยั่งยืน
คุณก้องศักดิ์ กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาเมืองภูเก็ต แบบองค์รวมอย่างยั่งยืน การขยายตัวของนักท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว จนมีนักท่องเที่ยวกว่า 14 ล้านคนต่อปี ทำให้โครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถพัฒนาได้ทัน การมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายหลายๆ ประการ ก่อให้เกิดธุรกิจที่ไม่ได้รับการอนุญาตอยู่ทุกประเภทธุรกิจ ไม่เฉพาะโรงแรม การไร้ซึ่งระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้ทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ต้องจ่ายค่าเดินทางในราคาที่สูงเกินกว่าจะรับได้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องมาร่วมกันคิด กำหนดทิศทาง เพื่อพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้
“ที่ผ่านมา ภูเก็ตมีจำนวนห้องพักกว่า 150,000 ห้อง จากกว่า 3,000 โรงแรม แต่ปัจจุบันมีโรงแรมที่เหลือเปิดให้บริการ เพียง 200 – 300 โรงแรม เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย จะมีโรงแรมจำนวนหนึ่งไม่สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีก เพราะหมดลมหายใจระหว่างทาง สำหรับโรงแรมที่ยังพอสามารถดำเนินการได้ ภาครัฐต้องสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูธุรกิจในระยะยาวต่อไป” คุณก้องศักดิ์กล่าวว่า สำหรับมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ถือเป็นมาตรการที่ดีที่ผู้ประกอบการ ร่วมกับ ธปท. ในการผลักดันให้เกิดขึ้น มีผู้ประกอบการให้ความสนใจจำนวนมาก แต่ยังติดที่ขั้นตอนการพิจารณาของแต่ละธนาคาร ที่ต้องใช้เวลา ขณะที่ผู้ประกอบการกำลังอ่อนแรงลงทุกที หากสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น จะเป็นการช่วยผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้
“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ จะเป็นตัวอย่างของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน ขจัดข้อกฎหมายที่เป็นปัญหา อุปสรรค การจัดระเบียบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยภาครัฐ การสนับสนุนสินเชื่อโดยภาคการเงินเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการ และต้องวางกลยุทธ์ในการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน” คุณก้องศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
—————————————————————–
เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ BOT พระสยาม Magazine
ที่มา : BOT พระสยาม Magazine ฉบับที่ 3/2564