พลังหญิง ‘นาย–นพเก้า พูนพัฒน์’ ไอดอลเยาวชนคน GEN Z
จากงานแข่งขันเรือใบ ‘ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า’ ครั้งที่ 33 ที่ทำให้การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตคึกคักที่สุด ได้ต้อนรับนักกีฬาต่างชาตินับพันเพิ่งผ่านพ้นไป ทำให้ AROUND ได้มีโอกาสพบเจอตัวจริงเสียงจริงเยาวชนหญิงคนเก่ง นาย–นพเก้า พูนพัฒน์ เจ้าของเหรียญทอง ในโปรแกรมเรือใบเยาวชนชิงแชมป์โลก ประเภทออพติมิสต์หญิง ที่ประเทศบราซิล ปี 2009, มาเลเซีย ปี 2011 และเอเชี่ยนเกมส์ ปี 2010, เหรียญทองเรือใบชิงแชมป์โลก ปี 2011 ประเภทออพติมิสต์ทีม และเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ ปี 2014 ประเภททเวนตี้ไนเนอร์หญิง รวมถึงเหรียญทองแดง ในรายการชิงแชมป์เอเชีย ประเภทออพติมิสต์หญิง ปี 2010 ที่กวางโจว และซีเกมส์ ประเภทเรือใบ 420 หญิง ที่เนปปิดอ ในปี 2013 รางวัลอันเป็นเครื่องการันตีความสามารถมากมายขนาดนี้ แต่ก็ยังทำให้เราอดแปลกใจไม่ได้ว่าผู้หญิงตัวเล็กๆ รูปร่างบอบบาง ดีกรีปริญญาบัณฑิตด้านเภสัชศาสตร์หมาดๆ จะมีแพชชั่นถึงขั้นหลงใหลในกิจกรรมเรือใบตั้งแต่อายุได้เพียง 7 ขวบ จนกลายมาเป็นนักกีฬาลงแข่งขันทีมชาติ คว้ามาแล้วหลายเหรียญรางวัลจากสนามแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ
ผู้หญิงตัวเล็กจิ๋วแต่แจ๋วคนนี้ ก้าวกระโดดจากการแข่งขันเรือใบเล็กรุ่นออพติมิสต์ ขนาดลำเรือ 2.5 เมตร สู่การแข่งขันเรือใบใหญ่ขนาด 52 ฟุต เป็นหญิงหนึ่งเดียวในทีมของเรือทีเอชเอ 72 รุ่นไออาร์ซี 0 รายการชิงชัย ‘ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า’ ครั้งที่ 33 สนามแข่งขันที่ปีนี้ทะเลภูเก็ตคึกคักมากเป็นพิเศษ เต็มไปด้วยนักกีฬาที่ร่วมขับเคี่ยวชิงความเป็นหนึ่งจากทั่วโลก น้องนายรับหน้าที่กัปตันเรือควบคุมหางเสือ ร่วมกับลูกทีมชายล้วนอีก 14 ชีวิต จนพาทีมคว้ารางวัลที่ 2 ประเภทเรือใบใหญ่คีลโบ๊ทและมัลติฮัลล์ รุ่นไออาร์ซี 0 ครองรางวัลพระราชทานฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย ยิ่งได้พูดคุยทำให้เราได้สัมผัสถึงพลังบวก พลังหญิงแกร่งเกินตัว ที่ไม่เพียงเดินตามฝัน แต่ยังทำฝันให้เป็นจริง ทำในสิ่งที่ตั้งเป้ายิ่งใหญ่ เพื่อไปให้ถึงเส้นชัยของจุดหมายที่วางไว้ และยังเป็นหนึ่งในไอดอลตัวอย่างดีๆ ของน้องๆ เยาวชนรุ่นใหม่ให้ทำในสิ่งที่รักและเป็นตัวเอง เรามารู้จักเธอให้มากขึ้นกันดีกว่า
ก้าวแรกสู่เส้นทางแชมป์โลก
น้องนาย “ครอบครัวนายเป็นครอบครัวเรือใบ คุณพ่อเป็นนักกีฬาเรือใบทีมชาติมาก่อน (เรือเอก สมเกียรติ พูนพัฒน์) และน้องของคุณพ่อ คุณอาทั้ง 3 คน ก็เล่นเรือใบด้วยเช่นกัน พี่สาวของนายก็เล่นเรือใบอีกด้วยค่ะ เรียกได้ว่าเราเป็นครอบครัวเรือใบอย่างแท้จริง และหล่อหลอมให้นายเดินตามรอยครอบครัว ที่ปูทางสร้างโอกาสให้นายได้เข้ามาเล่นเรือใบด้วยอีกคน พอได้เข้ามาลองเล่นเรือใบด้วยตัวเองแล้วรู้สึกสนุกและชอบมาก วัดจากความสุขที่เกิดขึ้นกับตัวเองทุกครั้ง แรกเริ่มเล่นเมื่ออายุ 7 ขวบค่ะ ตอนนั้นก็แค่สนุกแบบเด็กๆ กระโจนเล่นน้ำ ติดตามครอบครัวท่องเที่ยว มาเริ่มความคิดเล่นเรือใบอย่างจริงจัง ในวัยประมาณ 10 ขวบค่ะ เริ่มปักหมุดเป้าหมายอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติเลย ต้องฝันให้ใหญ่ไว้ก่อน แล้วค่อยไปให้ถึง เพราะพี่สาวที่มีอายุมากกว่า 4 ปี ได้เป็นตัวแทนไปแข่งเอเชี่ยนเกมส์ ตอนนั้นรู้สึกว่าพี่สาวเราเท่มากเลย ยิ่งเป็นแรงขับให้เราอยากไปให้ถึงจุดหมายด้วย ต้องซ้อมหนักมากค่ะ เพื่อจะได้เข้าร่วมเป็นทีมชาติไทย และด้วยครอบครัวค่อนข้างซัพพอร์ทอย่างดีเยี่ยม ทุกอย่างมันเลยทำให้เราเต็มที่มากค่ะ”
แพชชั่นในสิ่งที่รัก
ทำให้ต่อสู้กับความเหนื่อยอย่างมีพลัง
น้องนาย “หลังจากปักหมุดหมาย ก็หันหัวเรือแห่งชีวิตสู่การแข่งขันอย่างเต็มตัว ต้องเรียนรู้ว่ากีฬาเรือใบเล่นยังไง มีเทคนิคอะไรบ้างที่จะนำไปสู่ชัยชนะ การที่เรามีแพชชั่น มันทำให้เราต่อสู้กับความเหนื่อยได้อย่างมีพลัง และยังทำให้มีความสุขทุกครั้ง ที่เห็นพัฒนาการของตัวเองจากความทุ่มเทในทุกวันอีกด้วยค่ะ จนวันที่ติดทีมชาติ อายุประมาณ 11 ปี และได้เข้าร่วมการแข่งขันเพื่อประเทศชาติเป็นครั้งแรก ในรายการซีเกมส์ ตอนอายุ 12 ปี เหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 12 ปี จำได้ว่าตัวเองเด็กที่สุดในรุ่นออพติมิสต์ที่ร่วมแข่งขัน ภูมิใจมากแข่งกับคนอายุติดเพดานของรุ่นที่อายุ 15 ปี ได้เหรียญเงินมาครอง และแข่งประเภททีมได้เหรียญทองค่ะ จากนั้นก็ได้ไปแข่งชิงแชมป์โลก ที่ประเทศอิตาลี จบในลำดับที่ร้อยกว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เพราะเป็นรายการแข่งขันที่น่าสนใจก็เลยอยากลองดู และเรามีความมุ่งมั่น ตอนนั้นยังไม่มีคนไทยคนไหนได้แชมป์โลกเลย และประเทศไทยก็ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในแวดวงการกีฬาเรือใบมากนัก เราอยากนำประเทศไทยออกไปให้คนทั่วโลกได้รู้จัก ทำให้ตัวเองต้องการพัฒนาฝีมือยิ่งขึ้นไปอีก และตั้งใจฝึกซ้อมด้วยความมุ่งมั่น มันจึงทำให้เรามีความอดทนสูงต่อการใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไปจากเพื่อนคนอื่นๆ เลยค่ะ เมื่อก้าวมาเป็นทีมชาติ มันทำให้เรามีจุดหมายรู้ว่าเราต้องทำอะไรเพื่ออะไร และมีวินัยที่จะปฏิบัติชีวิตอยู่ในกรอบของเส้นทางนักกีฬาตั้งแต่วัยเรียน ต้องตื่นนอนแต่เช้าตรู่เวลา 6 โมงครึ่งต้องออกกำลังกาย กินข้าว แล้วไปโรงเรียน ในขณะที่เพื่อนๆ เข้าแถวเคารพธงชาติ แต่เรากลับไม่เคยได้ร่วมเข้าแถวแบบคนอื่น เข้าเรียนคาบแรก 8 โมงครึ่ง เรียนครึ่งวัน แล้วก็กลับมาซ้อมเรือ จากนั้นออกกำลังกาย เสร็จ ก็นอน วนไปเป็นรูทีนอยู่แบบนี้ทั้งสัปดาห์ 6 วัน พัก 1 วัน ถ้าถามว่ารู้สึกเหนื่อยและท้อบ้างไหม คำตอบเหนื่อยค่ะเพราะเราก็ยังเด็กเวลานั้น แต่ไม่รู้สึกท้อนะ อาจเพราะมันคือแพชชั่นที่มีต่อเรือใบตั้งแต่แรกพบ ถึงทำให้เราอดทนอย่างมีความสุขได้ แม้ว่าจะตั้งใจกับการฝึกซ้อมมากแค่ไหน ก็รู้ว่าชัยชนะไม่ได้เป็นของเราทุกครั้งเสมอไป มันเป็นเกมส์กีฬา ในวันที่แพ้กลับอยากทำให้มันดีขึ้นในครั้งหน้า วันที่ชนะกลับรู้สึกว่ายังไม่ถึงจุดหมายที่อยากจะไป เวลานั้นนายอยากเป็นแชมป์โลกค่ะ จนเมื่ออายุ 14 ปี นายก็ได้เป็นแชมป์โลกออพติมิสต์ประเภทหญิงสมความตั้งใจ และเป้าของเราก็จะขยับขึ้นสูงไปอีก ชื่อของเราได้รับการประกาศพร้อมกับไทยแลนด์ มันเป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุด ที่สามารถทำให้คนทั่วโลกรู้จักเรียกชื่อประเทศไทยของเรา ยิ่งตอนเพลงชาติไทยดังกระหึ่ม รู้สึกขนลุกสุขจนหายเหนื่อยเลยค่ะ”
ตั้งเป้าให้สูงกว่าสิ่งที่อยากทำ
น้องนาย “สำหรับนายคิดว่าทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตมันคือชาเลนจ์นะค่ะ เพียงเราต้องเลือกว่าสิ่งที่เราอยากจะทำ มันชาเลนจ์ตัวเราจริงหรือเปล่า อย่างเช่นนายชอบเล่นเรือใบ และได้มีโอกาสร่วมลงแข่งขันเรือใบใหญ่ รับหน้าที่นายเรือควบคุมหางเสือ TP รู้สึกว่ามันใหญ่เกินตัวเรามาก เมื่อเทียบกับเรี่ยวแรง เพราะนายตัวเล็ก แต่มันคือชาเลนจ์ ที่เราไม่อาจปฏิเสธที่อยากจะลอง ปรากฏว่าทำออกมาได้ดี นายคิดว่าถ้าเราได้ทำอะไรที่เข้ากับตัวเรา บวกกับความตั้งใจจริง เชื่อแน่ว่าต้องทำได้ดีค่ะ”
บาลานซ์ชีวิต
น้องนาย “ในวัยเรียนที่อยู่ในสังคมเพื่อน และมีเพื่อนพร้อมซัพพอร์ทเข้าใจ เป็นกำลังใจ มันสำคัญมากเหมือนกันนะค่ะ เวลาที่เพื่อนชวนดูหนัง ชวนกิน ชวนเที่ยว แต่เราอยู่ในจุดที่ต้องจัดสรรเวลาเพื่อการฝึกซ้อม ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลร่างกายควบคุมน้ำหนัก อยู่ในวินัยแบบนักกีฬา ใช้ความอดทนสูง และต้องใจแข็งมากต่อสิ่งยั่วยุรอบตัวที่พร้อมจะทำให้เราเผลอไผลออกนอนเส้นทางได้ทุกเมื่อ ในขณะที่เราอยู่ในช่วงวัยรุ่น ต้องจัดระเบียบตัวเอง โชคดีมากที่เพื่อนเข้าใจ โดยเฉพาะช่วงที่ต้องทำการแข่งขันรายการใหญ่ชิงแชมป์โลก ขณะเดียวกันอยู่ในช่วงวัยเรียนหนักด้วย เภสัชเรียนยากกว่าได้แชมป์โลกอีก ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงที่ยากลำบาก ทั้งต้องอ่านหนังสือหนักทุกวัน ทั้งต้องฝึกซ้อมหนัก อย่างไรก็ตามนายตั้งเป้าเรียนให้จบ และต้องทำให้สำเร็จ เพราะมีกำลังใจจากครอบครัวและเพื่อน ที่ช่วยในจุดที่เราคิดว่าทำไม่ได้ ให้เป็นไปได้ มันท้าทายมากจริงๆ ”
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ต้นแบบความอดทน
และแรงบันดาลใจของนักกีฬาเรือใบ
น้องนาย “นักกีฬาเรือใบไทยทุกคนมีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแรงบันดาลใจในการเล่นเรือใบ เมื่อเริ่มหลักสูตรเรือใบ ทุกคนที่ได้เห็นรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบ และเรื่องราวของพระองค์ท่าน เรือใบคือกีฬาทางน้ำที่พระองค์ทรงโปรดปราน ทรงต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เองจนเป็นผลสำเร็จ วัสดุที่ใช้สร้างเรือทำด้วยโลหะ ไฟเบอร์กลาส หรือไม้ และทรงนำไปแข่งขันในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นซีเกมส์) พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการแล่นเรือที่ต้องใช้ลมในการบังคับทิศทางจนได้รับชัยชนะ นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในทวีปเอเซียที่ได้ครองรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน เป็นที่ยอมรับในวงการกีฬาเรือใบระดับโลก ครั้งหนึ่งทรงแล่นเรือใบโอ.เค.จากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ข้ามอ่าวไทยด้วยพระองค์เองลำพัง ใช้เวลาถึง 17 ชั่วโมงเต็ม กว่าจะแล่นเรือมาถึงหาดเตยงาม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ต้องใช้ความอดทนมากท่ามกลางแดดจัด ท่านมีคติที่เป็นแรงบันดาลใจให้หลายๆ คน ซึ่งต่างรู้ว่าเรือใบแล่นด้วยลม หากไม่มีลมหรือลมอ่อนก็ต้องรอลม เป็นการฝึกให้เราอดทนรอคอย แม้แต่การทำเรื่องราวใดๆ ในชีวิตก็ตามเช่นกัน ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเป็นไอดอลของนักกีฬาเรือใบทุกคนค่ะ”
กัปตันเรือหญิงเรือใบใหญ่
ประสบการณ์อันน่าตื่นใจครั้งแรก
น้องนาย “สำหรับโปรแกรมการแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทาน ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ได้รับโอกาสดีๆ จากคุณลุง “เควิน วิทคราฟท์” ชวนให้มาร่วมทีมแข่งขันในรุ่นเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ๊ทและมัลติฮัลล์ รุ่นไออาร์ซี 0 รับหน้าที่กัปตันเรือทีเอชเอ 72 เป็นผู้หญิงคนเดียวในทีม รวม 15 คน สำหรับการได้ร่วมแข่งขันในโปรแกรมดังกล่าวนี้ ถือเป็นความลงตัวอย่างมากค่ะ เพราะนายเพิ่งเรียนจบเภสัช เริ่มมีเวลามากขึ้นในการร่วมฝึกซ้อมกับทีม แต่ละคนในทีมจะมีตำแหน่งหน้าที่ต่างกันออกไปแต่ทำงานประสานกันเป็นหนึ่งเดียว สำหรับนายจะโฟกัสเรื่องความเร็วเรือ ส่วนคุณลุงเควิน จะโฟกัสเรื่องใบเรือ ด้วยความที่เรือมีขนาดใหญ่ถึง 52 ฟุต ทีม 15 คนนี้ทุกคนต้องเป็นทีมเวิร์คมากๆ และทำหน้าที่ของตัวเองให้เพอร์เฟ็คที่สุด เพราะหากเกิดความผิดพลาดส่วนใดส่วนหนึ่งขึ้น จะทำให้กระทบกับทุกคน เสน่ห์ของการเล่นเรือใบใหญ่คือทีมเวิร์ค เราใช้ชีวิตบนเรือด้วยกันทั้งการฝึกซ้อมอันยาวนาน เรียนรู้ซึ่งกัน ทำให้เรามีเพื่อนมากขึ้นด้วยค่ะ”
คิดบวก วินัยนักกีฬาช่วยให้มองปัญหาอย่างเข้าใจ
น้องนาย “รายการเอเชี่ยนเกมส์ ปี 2010 ที่ประเทศจีน ตอนนั้นนายเป็นตัวเต็ง เพราะดีกรีรางวัลเแชมป์โลกหญิง หลายคนคงแอบคิดว่าการแข่งขันครั้งนี้ เราคงคว้าเหรียญทองอีกแน่ ด้วยตัวเราเองก็เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ ขณะที่กำลังแข่งขันก็ประสบปัญหาบ้าง แต่ก็ผ่านจุดนั้นมาได้ ทั้งยังได้ครองเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์อีกด้วย การแข่งขันมันเป็นเกมส์กีฬา มีแพ้มีชนะ อุปสรรค์ที่เข้ามามันเป็นความท้าทายที่ให้เราก้าวข้ามและไปต่อ ยึดโยงด้วยเป้าหมายข้างหน้า ความคิดที่เป็นบวก จะทำให้รู้สึกดีกับทั้งตัวเอง และมองปัญหาอย่างเข้าใจไม่ทุกข์เกินไป ส่วนตัวแล้ววินัยต่างๆ ของการเป็นนักกีฬา กลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาบางอย่าง ทำให้เราไม่ท้อ และคิดอยากแก้ไขมัน”
ผู้ชาย หรือ ผู้หญิง ไปถึงจุดหมายเดียวกันได้
ด้วยวิถีทางของตัวเอง
น้องนาย “การที่เราต้องต่อสู้หรือทำอะไรสักอย่าง เพื่อไปให้ถึงจุดเดียวกัน เราไม่จำเป็นต้องไปทางเดียวกัน ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย ต่างก็มีจุดอ่อนและจุดแข็งที่แตกต่างกัน ความสุภาพอ่อนโยนในแบบผู้หญิง หรือความแข็งแกร่งแมนๆ แบบผู้ชาย สามารถถึงหลักชัยแห่งความสำเร็จจุดเดียวกันได้ ด้วยวิถีทางของตัวเองค่ะ”
ตั้งเป้าหมายให้ใหญ่ ไปให้ถึง
น้องนาย “เป้าหมายสูงสุดสำหรับการแข่งขันของนาย คือการไปโอลิมปิกเกมส์ค่ะ ในปี 2024 เรือขนาดที่อยากจะเล่นรุ่น C70 เป็นเรือที่ไม่เคยเล่นมาก่อนเลยในชีวิต กติกาต้องเล่น 2 คน มันเป็นเรือที่แมทช์กับผู้ชายตัวใหญ่ ประมาณ 90 กิโล เพราะเรือค่อนข้างใหญ่ ถ้ามีโอกาสได้ลองเล่นก็จะเล่นแน่นอนค่ะ ซึ่งคงต้องลองดูก่อนว่าจะแมทช์กับตัวเองหรือเปล่า เพราะโอลิมปิกเกมส์นั้น เป็นรายการที่สูงที่สุดสำหรับนักกีฬาทุกคน และหลายๆ ประเทศจะเป็นนักกีฬาที่เล่นเต็มเวลา เช่นนั้นเราเองถ้าลงแข่ง ก็ต้องเล่นแบบเต็มเวลาเช่นกัน ทำให้ต้องมีการตัดสินใจตัดชีวิตส่วนตัวเรื่องการทำงาน สู่การฝึกซ้อมเล่นเรือใบเต็มเวลา ซึ่งมันจะแตกต่างไปจากตอนที่เราเป็นเด็กเลย จุดมุ่งหมายไม่สูงขนาดนี้ ต้องตัดสินใจอีกทีคะว่าพร้อมจะตัดโอกาสดีๆ ที่เข้ามาสู่ชีวิตในอนาคตหรือไม่ การทำงานจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าหรือไม่ ต้องกลับไปคิดทบทวนให้รอบคอบยิ่งขึ้น แต่ถึงอย่างไร นายไม่ทิ้งวงการเรือใบแน่นอนคะ อยากถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเองเป็นโค้ช ให้น้องๆ เยาวชนรุ่นใหม่ๆ สัก 5-6 ปี แล้วค่อยกลับมาทำงานตามที่ได้ร่ำเรียนเภสัชมา”
โอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิตให้ลองทำก่อน
น้องนาย “สำหรับนายคิดว่าทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิต อาจเข้ามาเพียงครั้งเดียวก็ได้ ให้คว้าไว้แล้วลองทำไปก่อน อาจจะพบเส้นทางที่ดีที่สุดเหมาะกับทางของตัวเองโดยไม่รู้ตัว เชื่อว่าทุกคนมีพรสวรรค์ของตัวเอง ถ้าได้ลองและลงมือทำ ถึงจะรู้ว่าตัวเองมีความถนัดอย่างไร มีพรสวรรค์อะไรบ้างค่ะ”
Photo Credit ; V Sport | Yacht Racing Association of Thailand – YRAT | Phuket King’s Cup Regatta