‘ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า’ ยกระดับการแข่งเรือใบสู่มาตรฐานสากล ตอกย้ำ “ภูเก็ต” ศูนย์กลางการกีฬาทางน้ำ และฮับการท่องเที่ยวชั้นนำของเอเชีย
การแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทาน ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นการแข่งขันเรือใบอันทรงเกียรติสูงสุดแห่งเอเชีย ได้สร้างปรากฏการณ์มากมายให้กับวงการกีฬาเรือใบมาอย่างยาวนาน ตลอดระยะเวลา 33 ปี ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ว่าเป็นสนามแข่งขันอันได้มาตราฐานระดับสากล และแจ้งเกิดทั้งนักกีฬาเรือใบหน้าใหม่หลายรุ่น และทัพนักกีฬาทีมชาติที่ร่วมชิงชัย ในแต่ละปีมีผู้เข้าร่วมแข่งขันจากนานาประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็นหนึ่ง เพื่อได้ครอบครองถ้วยรางวัลพระราชทานฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเปิดประสบการณ์กับสนามประลองเรือใบบนทะเลอันดามัน ท่ามกลางภูมิทัศน์อันงดงามของเกาะภูเก็ต มาสู่ครั้งที่ 33 ในปี 2562 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน – 7 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญร่วมกับพันธมิตรหลายภาคส่วน โดยคณะกรรมการจัดงานภายใต้การอำนวยการของ สโมสรเรือใบราชวรุณ, กองทัพเรือภาคที่ 3, สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย และจังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้สนับสนุนหลักการจัดงานคือ กะตะ กรุ๊ป รีสอร์ท ร่วมด้วยผู้สนับสนุนร่วม อาร์เอ็มเอ กรุ๊ป และผู้สนับสนุนเชิงกลยุทธ์อื่นๆ ได้แก่ ไชน่า เบลต์ แอนด์ โร้ด อินเตอร์เนชั่นแนล รีกัตต้า (บีอาร์อาร์), บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน), ฟอร์ด และ บี แอนด์ จี
ปีนี้จัดการแข่งขันรายการเรือใบ ในรุ่นที่เป็นมาตรฐานเช่นทุกปีที่ผ่านมา นั่นคือ เรือใบใหญ่ประเภท “คีลโบ๊ทและมัลติฮัลล์” รวม 10 รุ่น ได้แก่ ไออาร์ซี 0,ไออาร์ซี 1,ไออาร์ซี 2,พรีเมียร์, แบร์โบ๊ตชาร์เตอร์ เอ, แบร์โบ๊ตชาร์เตอร์ บี, มัลติฮัลล์, ไฟร์ฟลาย 850, มัลติฮัลล์ครูซิ่ง, และ ครูซิ่ง คลาส โดยมี เรือใบใหญ่เข้าร่วมแข่งขันมากถึง 75 ลำ ของทีมนักกีฬาชั้นนำจากประเทศออสเตรเลีย, จีน, รัสเซีย, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เกาหลี, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, ออสเตรีย, สวิตเซอร์แลนด์, สวีเดน, เอสโตเนีย และ ไทย รวม 14 ประเทศ โดยภาพรวมทีมเรือใบใหญ่จาก “ประเทศจีน” เข้าร่วมมากที่สุดคือ 16 ลำ ตามมาด้วยออสเตรเลีย 11 ลำ และ รัสเซีย 11 ลำ
ส่วนในรายการเรือใบเล็ก “อินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้ คลาส” (International Dinghy Classes) ปีนี้มีนักกีฬาเยาวชนเข้าร่วมแข่งขัน 119 ลำ ประกอบด้วย 6 รุ่น คือ รุ่นออพติมิสต์ชายและหญิง, เลเซอร์ 4.7 (รวม), เลเซอร์สแตนดาร์ด, เลเซอร์เรเดียล, และ 420 จำนวนเรือใบทุกประเภทของงาน รวมเรือบังคับวิทยุ ในปีนี้มากถึง 218 ลำ
อีกไฮไลท์ของปีนี้ ได้เพิ่มการแข่งขันรายการ “เรือใบบังคับวิทยุ” (International One Meter Class: IOMC) เป็นครั้งแรก ดึงดูดนักกีฬาเรือใบบังคับวิทยุชั้นนำเข้าร่วมแข่งขัน 24 ลำ ทั้งจากออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, จีน, สิงคโปร์, มาเลเซีย, และนักกีฬาไทย ร่วมสร้างสีสัน และปรากฏการณ์ครั้งสำคัญให้กับการแข่งขันรายการนี้ได้ไม่น้อย เพื่อให้สมาชิกเรือใบบังคับวิทยุทั่วไป และต่างประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนพิการสามารถเข้าร่วมการแข่งขันนี้ได้ด้วย โดยรายการ IOMC นี้ อยู่ภายใต้การอำนวยการของชมรมเรือใบบังคับวิทยุ Tharcorat โดยการสนับสนุนจากกองทัพเรือ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต รวมทั้ง Thailand RC Sailboat และสมาคมเรือใบบังคับวิทยุสากล (International One Meter Class Association-IOMICA) เพื่อให้เป็นปีที่คลอบคลุมกีฬาเรือใบ ทุกประเภทการแข่งขันมากยิ่งขึ้น ด้วยเป้าหมายสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนแก่วงการเรือใบ ไปพร้อมสร้างมาตรฐานการจัดงานของสมาพันธ์เรือใบนานาชาติอีกด้วย
ภาพรวมของการจัดงาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 33” ยิ่งทวีความยิ่งใหญ่ และมีความเป็นสากล ผนึกกำลังให้ “จังหวัดภูเก็ต” ซึ่งเป็นเมืองหลักจุดหมายท่องเที่ยวไทยทะเลฝั่งอันดามัน อันเป็นที่ยอมรับในความงดงาม ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ในอีกฐานะเป็นแลนด์มาร์คขึ้นชื่อ ทางด้านการแข่งขันเรือใบ ที่ได้รับการยอมรับในมาตราฐานระดับสากลในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดึงดูดนักท่องเที่ยว และผู้ที่หลงใหลในกีฬาเรือใบ สู่ฤดูกาลการแข่งขัน สร้างเม็ดเงินและกระจายรายได้ในจังหวัดภูเก็ตได้มากเป็นทวีคูณ
“เควิน วิทคราฟท์”
ประธานกรรมการ จัดการแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า
แชร์เรื่องราวที่มาของการแข่งขัน และประสบการณ์
ความพิเศษของการแข่งขัน
“ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 33
“มีเรือใบขนาดใหญ่ รุ่นไออาร์ซี 0 เข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้นถึง 5 ลำครับ นั่นแปลว่ามีคนลงทุนให้ความสำคัญกับการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ในเวลาเดียวกันที่แตกต่างจากปีก่อนๆ ก็มี “เรือใบบังคับวิทยุ” เข้าร่วมการแข่งขันด้วยเป็นปีแรก กติกาการแข่งขันไม่ต่างจากเรือใบประเภทอื่นเลย ผู้แข่งขันหลายคนมาจากการเป็นผู้เล่นเรือใบมาก่อน และอีกหลายคนก็เพิ่งเริ่มต้น เมื่อรวมจำนวนนักกีฬาผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกรายการนั้นมากขึ้น จะเห็นได้จากปีนี้ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ ที่พ่อแม่ให้การสนับสนุน ดูจากรายการชิงแชมป์ประเทศไทย ประเภทเรือใบออพติมิสต์ ที่มีมากถึงเกือบ 200 ลำ ในเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี และเรือใบยังเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรที่ถูกบรรจุในการเรียนการสอนของบางสถาบัน ที่ส่งเสริมทางด้านกีฬาเรือใบโดยเฉพาะอีกด้วยครับ” คุณเควินกล่าว
“ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า”
ส่งเสริมเยาวชนไทย และกีฬาเรือใบในประเทศไทย
“เราได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเติบโตแก่วงการเรือใบเล็ก และเราทุกคนในวงการเรือใบไทย สามารถรับรู้ได้ถึงผลลัพธ์เชิงบวกตลอดหลายปีที่ผ่านมา ว่ากีฬาเรือใบในประเทศไทยมีการเติบโต และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทัพเรือใบเล็กที่เข้าร่วมแข่งขันในรายการอินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้ คลาส มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รายการนี้ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริม และสร้างแรงบันดาลใจ แก่เหล่านักกีฬาเรือใบเยาวชนในประเทศไทย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า กีฬาเรือใบจะสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากการมีหน่วยงานผู้สนับสนุนหลักแล้ว ยังต้องมีการผลิตนักกีฬาที่มีคุณภาพ การส่งเสริมสนับสนุนและสร้างเยาวชนรุ่นใหม่จึงสำคัญอย่างยิ่งครับ”
“ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” สร้างชื่อเสียงในด้านการแข่งขันกีฬาทางทะเล ที่สนุกสนานเร้าใจ
“ตลอดระยะเวลา 33 ปี นับตั้งแต่การริเริ่มจัดงานในครั้งแรก “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ยังได้สร้างชื่อเสียงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งในด้านการแข่งขันกีฬาทางทะเลที่สนุกสนานเร้าใจ ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่สวยงาม เป็นสนามแข่งขันที่ได้รับการยอมรับว่าท่้าทายด้วยปัจจัยทางธรรมชาติ ทำให้มีเรือใบชั้นเยี่ยม กัปตัน และลูกเรือฝีมือฉกาจจากทั่วทุกมุมโลก เดินทางมาร่วมชิงชัยความเป็นหนึ่งกันอย่างคับคั่งในแต่ละปีครับ”
เสน่ห์กีฬาเรือใบ
คุณเควิน ยังกล่าวถึง “เสน่ห์กีฬาเรือใบ มีความแตกต่างจากกีฬาประเภทอื่น ที่ต้องใช้ทักษะรอบตัว ใช้ความแข็งแกร่งของร่างกาย และ มันสมอง ที่ต้องคิดวางแผนการเล่นให้ดี ต้องเข้าใจธรรมชาติ ในเรื่องของทิศทางลม และทิศทางน้ำ ซึ่งปีนี้เป็นปรากฏการณ์ที่มีนักแข่งขันจากประเทศจีนเข้าร่วมมาก รวมถึงรัฐเซียด้วย ผู้เข้าร่วมแข่งขันปีนี้ ไม่น่าเชื่อว่ามีนักแข่งคุณลุงอายุมากสุดถึง 70 ปี อายุจึงเป็นเพียงตัวเลข ไม่เป็นข้อจำกัดใด หากดูแลตัวเองให้แข็งแรง และมีความมุ่งมั่น สำหรับเรือที่ล่องมาจากต้นทางประเทศต่างๆ ต้องใช้เวลาเดินทางถึงปลายทางภูเก็ต ระหว่างการเดินทางได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ ที่แตกต่างกันไป อย่างเรือของผมล่องมาจากพัทยา ใช้เวลาราว 10 วันเดินทางถึงภูเก็ต ลูกเรือช่วยกันพาล่องมาอย่างต่อเนื่อง บางคนจอดเรือที่มาเลเซีย บางคนจอดเรือที่เกาะลังกาวี ฮ่องกง หรือสิงคโปร์ ต่างต้องเตรียมวางแผนเรื่องเวลาเดินทางล่วงหน้า ต้องดูสภาพลมฟ้าโดยเฉพาะประเทศทางแถบยุโรป นักกีฬาหลายคนจึงจอดเก็บเรือที่ภูเก็ต เตรียมตัวสำหรับการแข่งขันนาน นอกจากการฝีกซ้อมมาอย่างดีแล้ว ลอจิสติกส์ก็ต้องเป็นเรื่องที่มีการวางแผนมาอย่างดีด้วยเช่นกันครับ”
เรือใบ เป็นกีฬาที่ต้องใช้ความอดทนสูง
คุณเควิน แชร์อีกมิติ “กีฬาเรือใบ เป็นกีฬาที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจตลอดเวลา เมื่อเราอยู่กับทะเล ต้องอดทน เวลาเดียวกันต้องรู้จักการใช้งานอุปกรณ์บนเรือ ต้องรู้วิธีแก้ปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้า ในกรณีที่อุปกรณ์บนเรือเกิดความเสียหาย ต้องมีทักษะทางการช่าง เพื่อให้ผ่านพ้นอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ทุกคนบนเรือมีหน้าที่ตามความถนัด ทำหน้าที่ผสานกันเป็นหนึ่ง สำหรับผมมีหน้าที่ปรับใบเรือ ดูทิศทางลมแรงลมเบา ปรับให้เรือวิ่งเข้าหาลมเอาความเร็ว เป็นเทคนิคและทักษะเฉพาะตัว ยังต้องมีการประเมินคู่แข่ง มีกัปตันผู้ขับเรือ และสำคัญต้องมีคนที่รู้เรื่องอิเล็กทรอนิกส์เป็นดั่งเนวิเกเตอร์ด้วย”
ไฮไลท์งานเลี้ยงสังสรรค์
“ไฮไลท์ยังคงอยู่ที่งานเลี้ยงสังสรรค์ ที่นักกีฬาทุกคนต่างชื่นชอบอย่างมาก นอกจากได้ทำความรู้จักแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันแล้ว ทำให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสการต้อนรับอันอบอุ่นของเมืองไทย ดินแดนอันได้รับการยกย่อง ว่าเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อการพักผ่อนยอดเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และอีกเสน่ห์ดึงดูด ให้ผู้ร่วมชิงชัยกลับมาแข่งขันอีกหลายต่อหลายครั้งในแต่ละปี ผมก็เช่นเดียวกัน กลับมาแข่งขันถึง 15 ครั้ง บางคนมาครบทุกปีทั้ง 33 ปี เพราะเป็นรายการแข่งขันที่สนุกสนาน และจัดงานสังสรรค์หลังจากจบการแข่งขันได้อย่างเป็นกันเอง เสมือนการกลับมาพบปะปาร์ตี้สังสรรค์เพื่อนเก่า”
“ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ผนึกกำลังส่งเสริม “ภูเก็ต”
ให้เป็นแลนมาร์คการกีฬาเรือใบ และฮับการท่องเที่ยว
“สำหรับผู้ที่เล่นเรือใบจะมีไลฟ์สไตล์ชอบท่องโลกกว้าง เสาะแสวงหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ หลายคนเดินทางมาถึงก่อนการแข่งขัน หรือแม้แต่ช่วงที่การแข่งขันจบสิ้น นักกีฬา ครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อนผู้ติดตาม ต่างก็หาสถานที่รีแลกซ์ผ่อนคลายจากการแข่งขัน ท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ของเกาะภูเก็ต และใช้จ่ายกินดื่มอย่างเต็มที่ ยิ่งทำให้ภูเก็ตเป็นจุดหมายในฝันของนักพักผ่อนผู้แสวงหาธรรมชาติผสานความศิวิไลซ์”
“ยูเนสโก” ประกาศ “ภูเก็ต” เมืองแห่งการสร้างสรรค์อาหาร หรือ Creative City of Gastronomy
“นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์” ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “จังหวัดภูเก็ตมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับเกียรติเป็นสถานที่จัด “งานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” อย่างต่อเนื่องมาถึงครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 33 ซึ่งเป็นมหกรรมการแข่งขันเรือใบ ที่ทรงเกียรติสูงสุดในเอเชีย และได้ต้อนรับนักกีฬาเรือใบจากทั่วโลก ที่ต่างให้ความสนใจเดินทางมาประชันทักษะการแล่นเรือใบ บนผืนน้ำสีครามของท้องทะเลภูเก็ต จึงนับเป็นโอกาสดีที่จะได้สัมผัสกับความงดงามของทะเลภูเก็ต ตลอดจนอาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อ จนได้รับการประกาศจาก “ยูเนสโก” ยกให้เป็นเมืองแห่งการสร้างสรรค์อาหาร หรือ Creative City of Gastronomy เมื่อเร็วๆ นี้
“ซีเอ็น เอ็น” ยกย่อง “ย่านเมืองเก่าภูเก็ต”
เป็นหนึ่งในเมืองที่งดงามมากที่สุดของเอเชีย
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยังกล่าวอีกว่า “ซีเอ็นเอ็น” ได้ยกย่องให้ “ย่านเมืองเก่าภูเก็ต” เป็นหนึ่งในเมืองที่งดงามมากที่สุดของเอเชีย
“นิตยสารยู.เอส. นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ต”
จัดอันดับภูเก็ต ในลิสต์
“เมืองที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุดของโลก”
และ “เมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในเอเชีย”
ประจำปี ค.ศ. 2019
“เช่นเดียวกับ “นิตยสาร ยู.เอส. นิวส์ แอนด์ เวิลด์ รีพอร์ต” ที่จัดอันดับให้ภูเก็ตอยู่ในรายชื่อ “เมืองที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุดของโลก” และ “เมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในเอเชีย” ประจำปี ค.ศ. 2019 ซึ่งชื่อเสียงในระดับโลกเหล่านี้ ช่วยตอกย้ำว่าประเทศไทย และจังหวัดภูเก็ต มีศักยภาพในการมอบประสบการณ์วันพักผ่อนอันน่าประทับใจ แก่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และนักแข่งเรือใบจากต่างประเทศ ที่ใช้เวลาในการล่องเรือหลายวัน มีความมุ่งมั่นเข้าร่วมการแข่งขันในรายการต่างๆ พร้อมครอบครัวที่เดินทางมาพักผ่อนท่องเที่ยวภายหลังจบการแข่งขันอีกด้วย”
เครือกะตะ กรุ๊ป รีสอร์ท จุดหมายพักผ่อนขึ้นชื่อ
รองรับนักกีฬาเรือใบจากทั่วโลก
กะตะ กรุ๊ป รีสอร์ท ได้รับเกียรติให้เป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทาน ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า อีกครั้งในปีนี้ โดย “ประมุกโก้” (Pamookkoo) ในเครือ กะตะ กรุ๊ป รีสอร์ท เป็นสถานที่รองรับการพักผ่อน ของนักกีฬาแข่งขันเรือใบ ตั้งอยู่ถนนเลียบชายหาดกะตะ เดินทางไม่ไกลจากจุดแข่งขันนัก ตกแต่งแนวอารยธรรมโบราณ ธีมเมโสโปเตเมีย มีจำนวนห้องพัก 512 ห้อง พร้อมสระว่ายน้ำสีฟ้าเทอร์ควอยส์ขนาดใหญ่ ไฮไลท์ตรงที่มีสไลเดอร์ 3 ระดับสูงเทียบเท่าตึก 4 ชั้น เป็นที่สนุกสนานถูกอกถูกใจเด็กๆ และครอบครัว และนักแข่งขันที่ใช้เวลาพักผ่อนสังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัวได้ด้วย
สำหรับ “โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ต กะตะ” หนึ่งในจุดหมายพักผ่อนและท่องเที่ยว ได้รับหน้าที่เป็นศูนย์จัดการแข่งขันรายการ “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” มานานถึง 23 ปี ด้วยการต้อนรับชั้นเลิศแบบไทย และประสบการณ์การพักผ่อนบนมาตรฐานระดับสูงแก่ผู้มาเยือน
การแข่งขัน ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 33
ได้ปิดฉากลงแล้ว
ด้วยความภาคภูมิใจของผู้จัดงานและผู้ร่วมแข่งขัน ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ในการมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันเรือใบครั้งนี้ ณ ห้องประชุมกานดาฮอลล์ โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ต กะตะ ภูเก็ต
พลังเยาวชนไทย อนาคตของประเทศ
ทอฝัน บุนนาค
สาวน้อยดาวรุ่งพุ่งแรงดีกรีรองแชมป์โลก เรือใบออฟติมิสต์ประเภททีม ที่ประเทศแอนติกา และบาร์บูดา และเจ้าของเหรียญเงิน ในรายการ “ซีเอเอส อินเตอร์เนชั่นแนล โอเพ่น แชมเปี้ยนส์ชิพ 2019” ครั้งที่ 2 ที่ประเทศปากีสถาน ในประเภทเรือใบออฟติมิสต์ และผู้ครองแชมป์รุ่นออพติมิสต์ เยาวชนหญิง ในรายการ “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 33 บอกเล่าถึงความรู้สึก “การแข่งขันรายการนี้ถือว่ายากมากเลยทีเดียวค่ะ อุปสรรคทั้งเรื่องแรงลม และคู่แข่งฝีมือยอดเยี่ยม ได้รับรางวัลพระราชทานฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้สึกภาคภูมิใจมากๆ เลยทีเดียว และอยากขอส่งกำลังใจไปเชียร์น้องชายฝาแฝด “พันวา บุนนาค” ที่ทำการแข่งขันที่ฟิลิปปินส์ด้วยค่ะ”
ม.ล.เวฆา ภานุพันธ์
ด้วยอายุ 12 ปี ของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ ที่หลงใหลในเรือใบตั้งแต่อายุได้ 6 ขวบ ทุ่มเทให้กับการกีฬาเรือใบ ดีกรีแชมป์รายการลังกาวี รีกัตต้า รวมถึงอันดับ 1 รายการอาบูดาบี อินเตอร์เนชั่นแนล รีกัตต้า และผู้ทำผลงานโดดเด่นครองตำแหน่งผู้นำเรือใบเล็ก ประเภทออพติมิสต์รวม จนสามารถคว้า แชมป์ประเภทออพติมิสต์ เยาวชนชาย ในรายการแข่งขัน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 33 เล่าให้ AROUND ฟังว่า “ผมคลุกคลีกับเรือใบตั้งแต่ยังเล็ก เพราะเป็นกิจกรรมครอบครัวเรือใบ ที่ซึมซับจากคุณพ่อ คุณแม่ และคุณปู่มาตลอด ครั้งแรกผมกลัวลมครับ เล่นเรือใบครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 6 ขวบ แล้วก็เลิกเล่นไปนานเพราะตอนนั้นกลัวครับ และยังไม่ชอบนัก กลับมาเล่นจริงจังอีกครั้งเมื่อตอนอายุ 9 ขวบครับ อาศัยการออกเรือจนชิน เปลี่ยนความกลัวเป็นความสนุกสนานท้าทาย อาจเพราะผมโตขึ้นด้วยครับความคิดก็เปลี่ยนไป สำหรับทุกการแข่งขันผมจะซ้อมหนักมากใช้เวลาทุกวันพุธ เสาร์ อาทิตย์ ขับรถจากกรุงเทพเพื่อไปซ้อมที่พัทยา สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ อุปสรรคจากลมแรงมาก แต่ไม่ท้อ ผมรวบรวมประสบการณ์ทั้งหมดที่เคยผ่านสนามทั้งในยุโรป และ อาบูดาบี มาปรับใช้ในการแก้ไขสถานการณ์ เพราะผมตัวเล็กและตัวเบา ผมเลยต้องโหนให้มากที่สุด มันทำให้เหนื่อยมากครับ ผมบอกกับตัวเองว่าผมต้องทำได้ ก่อนลงแข่งแต่ละครั้ง ผมต้องวางแผนก่อนว่าจะเล่นยังไง ต้องออกไปเช็คลม ที่สนามแข่งขันก่อน ลมมาจากทิศไหนทางไหน ซึ่งสนามที่ทะเลภูเก็ตครั้งนี้ท้าทายมากครับ ทิศทางลมเปลี่ยนตลอดเลย ผมต้องเล่นตามทิศทางลมเปลี่ยน อยากเชิญชวนให้เพื่อนๆ มาลองเล่นเรือใบกันครับ มันสนุกมากจริงๆ และท้าทาย ไหวพริบด้วย การได้อยู่กับธรรมชาติมันจะทำให้เรามีความสุขด้วยนะครับ”
นพเก้า พูนพัฒน์
อีกหนึ่งนักกีฬาเรือใบหญิงไทย นาย–นพเก้า พูนพัฒน์ กัปตันเรือใบหญิงวัย 24 ปี เจ้าของเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ ปี 2010 ประเภทเรือใบออฟติมิสต์หญิง และเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ ปี 2014 เรือใบประเภททเวนตี้ไนเนอร์หญิง สั่งสมประสบการณ์พัฒนาฝีมือ ลงแข่งเรือใบใหญ่แบบเต็มตัว พร้อมรับหน้าที่กัปตันหญิงหนึ่งเดียวให้กับเรือทีเอชเอ 72 ในรุ่นไออาร์ซี 0 ในการแข่งขัน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 33 นี้ ด้วยการพาทีม 15 คน คว้ารางวัลที่ 2 เล่าความรู้สึกว่า “รู้สึกภูมิใจที่ได้รับรางวัลพระราชทานฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะแข่งขันเราทำงานกันเป็นทีมเวิร์ค ทำให้ได้รับมิตรภาพที่ดีจากเพื่อนร่วมทีม เป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ในแต่ละครั้งที่ลงแข่ง ความท้าทายคือ ความเข้าใจธรรมชาติสภาพอากาศ ปัจจัยสำคัญของการแข่งขันเรือใบคือ “ลม” โดยรวมของสภาพอากาศระหว่างการแข่งขันในปีนี้ กระแสลมแรงสลับเบาเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง กระแสน้ำพร้อมคลื่นลูกโต บางช่วงที่กระแสลมเปลี่ยนทิศ ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนด้วย ต้องปรับกลยุทธ์การเดินเรือกันแบบฉับพลันตลอดเวลา ถือได้ว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก ในการแข่งขันครั้งนี้ค่ะ”
กัปตันอิทธินัย ยิ่งศิริ
ทีมเรือไพน์แปซิฟิก ที่ครั้งนี้ คว้ารางวัลที่ 3 ในรุ่นพรีเมียร์ สำหรับรายการแข่งขัน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 33 ผู้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการ “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” มาแล้วถึง 15 ครั้ง ที่ผ่านมา เป็นผู้ชิงชัยที่คว้ามาแล้วหลายรางวัล และเคยครองความเป็นแชมป์รุ่นพรีเมียร์ถึง 5 ปีซ้อนที่ผ่านมา มีเป้าหมายต่อไปในการแข่งขันเรือใบใหญ่รุ่น ไออาร์ซี 0 ได้แบ่งปันประสบการณ์ร่วมการแข่งขันในปีนี้ “ปีก่อนๆ นี้ลมภูเก็ตไม่ค่อยแรง แต่ครั้งนี้ลมดีมากนะครับ ทำให้เรือใหญ่สามารถทำเวลาได้ดี จากการแข่งขันหลายวัน มันท้าทายทุกวัน สลับกันไปบางวันประสบความสำเร็จ บางวันก็ไม่ครับ บางครั้งลมที่แรงจะผลักดันให้เรามีความพยายามมากขึ้น กีฬาเรือใบทำให้ผมได้ข้อคิดที่ดีมาปรับใช้กับชีวิตในหลายแง่มุม โดยเฉพาะเรื่องการทำอะไรต้องเต็มที่ที่สุด และการเป็นทีมเวิร์คครับ พอแข่งขันเสร็จมันจะทำให้เรารับความรู้สึกนั้นได้เลย ว่าเราพยายามดีมากแล้วหรือยัง ถ้าทำดีแล้วมันก็ให้ความสุขได้โดยไม่ต้องคิดถึงเรื่องแพ้ชนะ การเป็นทีมเวิร์ค ถ้าทีมทำงานได้ดี ถึงแม้ว่าจะแพ้แค่เสี้ยววินาที ก็ยังรู้สึกแฮปปี้และยอมรับได้ ทีมเรามี 16 คนในเรือ แต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกัน หน้าที่ขึ้นใบ ดึงใบเรือ คนขับเรือ คนวางเกม คนดูเทคนิค ถ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่งเสียก็จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้ การเล่นเรือใบทำให้เราจะรู้สึกซาบซึ้งเข้าใจธรรมชาติ มีความละเอียดอ่อนกับธรรมชาติมากขึ้น สัมผัส และฟังเสียง ลมมาทิศไหน ลมแรงขนาดไหน เราต้องทำมุมกับลมประมาณไหน น้ำขึ้นน้ำลงก็มีผลต่อการเดินเรือ บางคนอาจไม่ได้ต้องแข่งเรือ แต่การได้แล่นล่องเรือไปเรื่อยๆ มันให้เกิดความสุขสงบ ความเหนื่อย ร้อน ฝนตก เปียก เป็นประสบการณ์ให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น สำหรับผม เมื่อหมดฤดูการแข่งขันก็นำเรือไปท่องเที่ยวยังสถานที่สวยงามของไทยเรา
ผมเลือกเรือพรีเมียร์ เพราเหตุผลนี้เลย ใช้แข่งขันและท่องเที่ยวได้ด้วย ผมเลือกลงแข่งขันในรายการของ “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” เพราะรายการนี้เริ่มต้นเพื่อสดุดีพระอัจฉริยภาพ และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นอีเว้นต์ที่เฉลิมพระเกียรติในหลวง และผมรักในหลวง รัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงเรือใบที่ต่อด้วยพระองค์เอง ที่มีขนาดเล็ก และไม่ใช่เรือใบหรูหรา เป็นเพียงเรือใบไม้ธรรมดา สำหรับคนเล่นเรือใบจะรู้ว่าไม่ได้มีความสบายเลย ผมซาบซึ้งในพระปรีชาสามารถ และความเป็นต้นแบบในทุกด้านของพระองค์ท่าน รวมถึงแนวคิดที่ทรงดำรัสว่า เราไม่สามารถควบคุมลมได้ แต่เราสามารถปรับตัวเข้ากับลม ผมมีความภาคภูมิใจที่เป็นทีมคนไทยหนึ่งในการแข่งขัน ท่ามกลางนักกีฬาต่างชาติมากมายจากทั่วโลก ผมว่านักกีฬาที่เป็นเยาวชนไทยเก่งมากๆ นะครับ พวกเขามีความกล้าหาญมากจริงๆ เหมือนเอากะละมังใส่ใบออกไปผจญภัยกลางทะเลได้ ผมต้องยกนิ้วให้เลย จังหวัดภูเก็ต ถ้าจะให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโตขึ้นไปมากกว่านี้ น่าจะมีการสร้างมารีน่าให้เป็นที่จอดเรือด้วย จะช่วยเรื่องการท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริม สร้างเยาวชนไทยรุ่นใหม่ๆ ให้มาเล่นกีฬาเรือใบมากขึ้นด้วยครับ”
ผลการแข่งขัน
เรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ๊ทและมัลติฮัลล์
รุ่นไออาร์ซี 0
ผู้ชนะการแข่งขัน : เรือทีมฮอลลีวู้ด โดย กัปตันเรย์มอนด์ โรเบิร์ต จากออสเตรเลีย
รุ่นไออาร์ซี 1
ผู้ชนะการแข่งขัน : เรือเมกาซิป โดย กัปตันอเล็กซี มาชคิน จากรัสเซีย
รุ่นไออาร์ซี 2
ผู้ชนะการแข่งขัน : เรือโอเวอร์เฮียร์ โดย กัปตันมอร์เต็น จาค็อบเซน จากไทย
รุ่นพรีเมียร์
ผู้ชนะการแข่งขัน : เรือแอนตีพอดส์ โดย กัปตันเจฟฟ์ ฮิลล์ จากฮ่องกง
รุ่นแบร์โบ๊ท ชาร์เตอร์ เอ
ผู้ชนะการแข่งขัน : เรือจิงจิงทู (โทนิโคลา 2) โดย กัปตันฟิล บีทตี้ จากออสเตรเลีย
รุ่นแบร์โบ๊ท ชาร์เตอร์ บี
ผู้ชนะการแข่งขัน : เรืออิยาราดา โดย กัปตันมูซิคิน เซอร์จี จากรัสเซีย
รุ่นมัลติฮัลล์
ผู้ชนะการแข่งขัน : เรือฟูกาซี โดย กัปตันแดน ฟีด็อค จากออสเตรเลีย
รุ่นไฟร์ฟลาย 850
ผู้ชนะการแข่งขัน : เรือวูดู โดย กัปตันฮานส์ ราห์มานน์ จากไทย
รุ่นมัลติฮัลล์ครูซิ่ง
ผู้ชนะการแข่งขัน : เรือคลุก สตาร์ เทร็ค โดย กัปตันอังเดร ลี จากไทย
รุ่นครูซิ่ง
ผู้ชนะการแข่งขัน : เรือกะตะ ร็อกส์ ซี เอสเคปส์ โดย กัปตันอังเดรย์ โนโวเดเรซกิน จากรัสเซีย
ผลการแข่งขันเรือใบเล็ก อินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้ คลาส
รุ่นออพติมิสต์ เยาวชนชาย
ผู้ชนะการแข่งขัน : ม.ล.เวฆา ภานุพันธ์
รุ่นออพติมิสต์ เยาวชนหญิง
ผู้ชนะการแข่งขัน : ทอฝัน บุนนาค
รุ่นเลเซอร์ 4.7
ผู้ชนะการแข่งขัน : ปาลิกา พูนพัฒน์
รุ่นเลเซอร์สแตนดาร์ด
ผู้ชนะการแข่งขัน : จารุพงศ์ มีอยู่สามเสน
รุ่นเลเซอร์เรเดียล
ผู้ชนะการแข่งขัน : สุชาครีย์ เดชทศพล
รุ่น 420
ผู้ชนะการแข่งขัน : ธนวรรณ เอี่ยมมี และ ณัฐพงศ์ ยวงงาม
ผลการแข่งขันเรือใบบังคับวิทยุ
(International One Meter Class: IOMC)
ผู้ชนะการแข่งขัน : กง ฉวินซิง จากจีน
ผลการแข่งขันเรือใบเล็ก ดิงกี้ ซีรี่ส์
ผู้ชนะการแข่งขัน : นันนภัทร พูลทอง
ดูผลการแข่งขันเรือใบทุกรุ่นได้ที่ https://kingscup.com/result
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.kingscup.com
Photos Credit: Phuket King’s Cup Regatta Official | Guy Nowell | WangBo