TOP

5 เทคนิคเที่ยวทริปฉุกเฉิน สไตส์ “หมอเปียง”

บนโลกออนไลน์ ในยุคที่การสื่อสารเชื่อมโลกทั้งใบให้มาอยู่ใกล้เพียงปลายนิ้วคลิ๊ก ไม่ต้องเคาะประตูน็อกๆ เพื่อขออนุญาติเข้าถึง ประตูทุกบานพร้อมเปิดรับการสื่อสารทุกทิศทางอย่างเสรี และทุกคนมีอิสระในการนำเสนอบอกเล่าเรื่องราว การแชร์ประสบการณ์สู่สังคมออนไลน์ เป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้รวดเร็วและดึงดูดความสนใจได้ดี หากบุคคลนั้นรู้วิธีสร้างตัวตนที่แตกต่าง เราจึงมักใช้พื้นที่บนโลกออนไลน์ในการสื่อสาร และแสดงตัวตนอย่างไร้ขีดจำกัด จะเห็นได้จากบุคคลที่สร้างชื่อเสียง และประสบความสำเร็จบนโลกออนไลน์ก็มีมาก

และเชื่อแน่ว่าหลายคนที่ใช้เฟสบุ๊ค คงรู้จัก เพจ PYONG: Traveller x Doctor ซึ่งเจ้าของเพจมีดีกรีเป็นถึงคุณหมอ ที่มีไลฟ์สไตล์รักการเดินทางท่องเที่ยวอย่าง “นายแพทย์กันตพงศ์ ทองรงค์” หรือเรียกกันเองว่า “คุณหมอเปียง” ผู้คนอาจจินตนาการภาพในหัวถึงคุณหมอทั่วไป จะต้องมีบุคลิกในแบบที่ชินตา แต่ภาพคุณหมอเปียงที่สื่อผ่านเพจ กลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง จนลบภาพเดิมๆ ของหมอที่เราต่างพบเจอในความคิดคำนึงของหลายๆ คนไปเลย ชายหนุ่มดีกรีพ่วงท้ายด้วยการเป็นไอดอลขวัญใจทั้งหนุ่มและสาวคนรุ่นใหม่ ใช้ชีวิตคุ้มค่าอย่างที่อยากบอกเป็นนัยกับทุกคนว่า “ควรหาเวลาเติมช่องว่างให้ชีวิต” บ้างนะ ด้วยประสบการณ์และเรื่องราวจากทัศนคติที่เป็นมิตร ข้อคิดเชิงบวก มักถูกนำมาแบ่งปันกับผู้ติดตามเพจเสมอ แม้ด้วยตารางงานที่แน่นในแต่ละวัน แต่หมอเปียงก็ขอเดินตามฝัน จัดสรรค์เวลาออกเดินทาง เติมช่องว่าง เติมไฟ ชาร์พลังในตัวเอง ลงมือทำสิ่งที่รักที่ต่างออกไป พร้อมนำเรื่องราวที่ได้จากการเดินทางมาแบ่งปันผ่านมุมมอง ผ่านภาพสวยๆ

และฝากไว้อีกผลงานการเขียนพ็อคเก็ตบุ๊ค “PYONG : See What I See “ทริปฉุกเฉินของหมอเปียง” โดยสำนักพิมพ์ “GEEK BOOK” (กี๊ก บุ๊ก) ในเครือโมโน กรุ๊ป ถ่ายทอดประสบการณ์แบ่งปันเคล็ดไม่ลับ 5 เทคนิค บริหารงานและเวลาให้สมดุล ไปพร้อมกับการเปิดโลกกว้างออกเดินทางตามฝัน เติมช่องว่างสู่ความสุขสนุกกับชีวิตในแต่ละวัน พร้อมกระซิบ “ผมยุ่งขนาดนี้ยังทำได้เลย คุณก็ทำได้เหมือนกัน”

 

1>    สิ่งสำคัญที่สุด คือการจัดลำดับความสำคัญ

สำหรับหมอเปียงแล้ว งานประจำที่ต้องทำในหน้าที่คุณหมอ ทำงานในโรงพยาบาล ตรวจผู้ป่วย ราวน์วอร์ด เข้าห้องผ่าตัด เคลียร์เอกสาร หรืออยู่เวร ถึงแม้จะกินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต แต่ในเมื่อเป็นงานหลักก็ต้องทำอย่างเต็มที่

2>    ทำในสิ่งที่ชอบ

หลังจากที่จัดการงานหลักเรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงจะมีเหนื่อย มีท้อ มีอ่อนล้า อยากพักผ่อน อยากทำอะไรโดยที่ไม่ต้องมีคนบังคับ การเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ซึ่งแต่ละคนอาจจะชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบออกกำลังกาย บางคนชอบปาร์ตี้สังสรรค์ ส่วนหมอเปียง ชอบที่จะออกไปถ่ายรูปในสถานที่สวยๆ

3>    เติมช่องว่าง

หมอเปียงแนะนำว่าควรมีตาราง 1 ตารางสำหรับชีวิตตัวเอง สำหรับงานหลัก กับสิ่งที่ชอบ จากนั้นเติมช่องว่างให้เต็มทุกอัน เพื่อให้เกิดการพักผ่อนในแบบที่เติมลงในช่องว่างนั้น มันช่วยทำให้คุณใช้ชีวิตแบบ effective มากขึ้น เพราะนั่นหมายถึงการวางแผนมาแล้ว ว่าเราจะพักในเวลานี้ ก็ควรจะได้พักจริงๆ

4>    การวางเป้าหมาย

การวางเป้าหมายในแต่ละวัน ในแต่ละเดือนที่กำลังจะถึง ว่าเราอยากจะ achieve อะไรบ้าง  ทำไว้ตอนต้นเดือนของทุกเดือน ทำให้มีพลังในการผลักดันในการพัฒนาตัวเองมากขึ้น

5>   ลองทำอะไรท้าทายใหม่ๆ

นิยามนี้ จะเป็นการบังคับตัวเองให้ออกจาก safe zone ไปทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน หลายครั้งเราไม่สามารถกำหนดได้หรอก ว่าเราจะเจอสถานการณ์แบบไหน แต่การที่เราตอบรับอะไรใหม่ๆ ทำให้โลกของเรากว้างขึ้นมาก และมันจะพาเราไปในที่ๆ ไม่คาดคิดเสมอ

“นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของผมเลยครับ พ็อคเก็ตบุ๊ค “PYONG : See What I See “ทริปฉุกเฉินของหมอเปียง” มันคงไม่ใช่หนังสือท่องเที่ยวทั่วๆ ไปแบบที่ทุกคนเคยรู้จัก แต่มันคือการเล่าถึงชีวิตช่วงหนึ่งที่หนักหน่วงที่สุด 6 เดือนที่มีบทบาทหน้าที่ของทั้ง ‘หมอ’ และ ‘บล็อกเกอร์’ ผสมอยู่ด้วยกัน สิ่งที่ผมเล่าในเพจหลายทีเป็นสิ่งที่ดูสนุกและสวยงาม แต่เบื้องหลังกว่าที่จะได้มาในแต่ละคอนเทนต์ ในเวลาที่เร่งรีบและจำกัด ก็เป็นอะไรที่เหนื่อยแต่น่าสนใจ และควรค่าแก่การแชร์ต่อเช่นกัน และแน่นอนว่าผมไม่เคยเล่าที่ไหนมาก่อน” 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด