TOP

ยกระดับสาธารณสุขท้องถิ่น ให้เทียบเท่าโรงพยาบาลชั้นแนวหน้า ช่วยเซฟชีวิตมีค่าของเด็กนับล้าน

ซีแอตเติล – จากการศึกษาเกี่ยวกับการเสียชีวิตในเด็ก เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าแนวโน้มของเด็กที่อยู่รอด จนถึงอายุ 5 ปีในประเทศไทยนั้น มีความแปรผันระหว่างพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่นทั่วประเทศ มากกว่าสี่เท่า

และจากการศึกษาภาระโรคทั่วโลก (Global Burden of Disease) พบว่า ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2560 มีเด็กจำนวน 5,807 คน เสียชีวิตก่อนมีอายุครบ 5 ปี ในขณะที่เมื่อปี พ.ศ. 2543 มีเด็กเสียชีวิตมากถึง 18,509 คน โดยพบว่า พื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่น อ. สังขละบุรี จ. กาญจนบุรี มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด อยู่ที่ 19.6 คน ส่วนอัตราการเสียชีวิตต่ำสุด ที่ 4.5 คน ที่ อ. บ้านกรวด จ. บุรีรัมย์ ความผิดปกติของทารกแรกเกิด เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในเด็กวัยก่อน 5 ปี จากสถิติทั้งในปี พ.ศ. 2543 และ ปี พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ กว่าครึ่งของเด็กที่เสียชีวิตทั้งหมด ในช่วงที่ทำการศึกษานี้ ล้วนมาจากสาเหตุดังกล่าว

การศึกษานี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาภาวะการเสียชีวิตในเด็ก ในระดับสาธารณสุขท้องถิ่น ของประเทศที่มีรายได้ระดับล่าง และระดับกลาง จำนวน 99 ประเทศทั่วโลก ผลการศึกษาได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร เนเชอร์ (Nature) ในวันนี้แสดงถึงแผนผังความไม่เท่าเทียมด้านสาธารณสุข ทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค ซึ่งมักเห็นไม่ชัดเจนในการวิเคราะห์ระดับประเทศ และยังมี แผนภูมิเชิงปฏิสัมพันธ์ ที่แสดงอัตราการเสียชีวิตในเด็กในแต่ละปีอีกด้วย

 

จากการศึกษาโดยสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation – IHME) แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เผยว่า ในประเทศต่างๆ ที่มีอัตราการเสียชีวิตในเด็ก สูงกว่าร้อยละ 90 เมื่อ พ.ศ. 2560  เมื่อเปรียบเทียบทุกประเทศที่ทำการศึกษา แนวโน้มของเด็กที่จะเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปี มีความต่างกันในระดับสาธารณสุขท้องถิ่น มากกว่า 40 เท่า

 

นักวิจัยได้ประเมินว่า หากสาธารณสุขท้องถิ่น ทุกแห่งในประเทศที่มีรายได้ระดับล่างถึงระดับกลางที่ทำการศึกษา สามารถทำได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal – SDG) ของสหประชาชาติ จะส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิตลดลงอย่างน้อย 2.6 ล้านคน หรือ 25 คนต่อเด็กที่เกิดมา 1,000 คน และหากสาธารณสุขท้องถิ่นทุกแห่ง สามารถยกระดับขึ้นมาได้ ในระดับเดียวกับโรงพยาบาลชั้นแนวหน้าของประเทศนั้นๆ คาดว่า จำนวนเด็กเสียชีวิตจะสามารถลดลงได้ถึง 2.7 ล้านคน

จากสาธารณสุขท้องถิ่น จำนวน 17,554 แห่ง ใน 99 ประเทศ ที่ทำการศึกษานั้น ส่วนใหญ่มีพัฒนาการที่ดี ในการลดการเสียชีวิตในเด็ก แต่ในระหว่างการศึกษา ระดับของความไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างสาธารณสุขท้องถิ่นแต่ละแห่งนั้นต่างกันไป แม้ว่าโดยมากแล้วการเสียชีวิตในเด็ก จะลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่อัตราการเสียชีวิตที่สูงที่สุด ในปี พ.ศ. 2560 ก็ยังคงอยู่ในชุมชนเดิมๆ ที่เคยมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดเมื่อปี พ.ศ. 2543

 

ดร. ไซมอน ไอ. เฮย์ ผู้อำนวยการกลุ่มภาระโรคท้องถิ่น (Local Burden of Disease – LBD) ของสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ และเป็นนักวิจัยอาวุโสของการศึกษานี้ กล่าวว่า “เป็นเรื่องแย่และน่าเศร้า ที่โดยเฉลี่ยแล้วมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตเกือบ 15,000 คน ทุกวัน น่าสงสัยว่า ทำไมบางพื้นที่จึงทำได้ดี ในขณะที่อีกหลายพื้นที่ ยังมีปัญหาในการที่จะลดจำนวนเด็กเสียชีวิต เราจำเป็นต้องเลือกวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด เช่น การให้วัคซีนต่างๆ ซึ่งผลการศึกษาของเราได้ให้รูปแบบข้อมูล (platform) สำหรับรัฐมนตรีสาธารณสุข คณะแพทย์ และผู้เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ เพื่อใช้ในการระบุพื้นที่ ที่ควรเร่งพัฒนาระบบสาธารณสุข”

ดร. เฮย์ กล่าวว่า “การศึกษานี้ได้รับทุนจาก “มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์” โดยผลการศึกษาเผยให้เห็นถึง พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จด้านสาธารณสุข ซึ่งสามารถนำกลยุทธ์ของพื้นที่เหล่านั้น ไปปรับใช้ได้กับพื้นที่อื่นๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ”

 

ยกตัวอย่างจาก ประเทศรวันดา ในพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่น ที่มีอัตราเด็กเสียชีวิตสูงที่สุด ในปี พ.ศ. 2560 มีจำนวนน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ของพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่น ที่มีอัตราเด็กเสียชีวิตต่ำสุด เมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งอัตราการเสียชีวิตในเด็กที่ลดลงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุน เพื่อสุขภาพเด็กในชุมชนที่ยากจนที่สุด การขยายตัวของการประกันสุขภาพ และการเพิ่มจำนวนของบุคลากรด้านสาธารณสุขในชุมชน ส่วน ประเทศเนปาล มีการลดความไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างสาธารณสุขท้องถิ่นอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดระยะเวลาที่ทำการศึกษา ในขณะเดียวกัน ประเทศเปรู ก็สามารถลดอัตราการเสียชีวิตในเด็ก และความไม่เท่าเทียมลงได้ หลังจากริเริ่มโครงการเพื่อสุขภาพ และโครงการต้านความยากจนอย่างยั่งยืน

 

ผลการศึกษานี้ ได้ประเมินทั้งอัตราและจำนวนที่แน่นอนของการเสียชีวิต ในแต่ละพื้นที่ของสาธารณสุขท้องถิ่น และนำเสนอภาพรวมของการเสียชีวิตในเด็กทั่วโลก ซึ่งชี้ให้เห็นถึง แนวโน้มและรูปแบบที่สำคัญในประเด็นดังกล่าว

จากการศึกษาพบว่า สัดส่วนของการเสียชีวิตในเด็กนั้นเพิ่มสูงขึ้น ในบริเวณที่เคยมีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมต่ำ และพบว่า ทั้งการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด (การเสียชีวิตของทารกในช่วง 28 วันหลังคลอด) และการเสียชีวิตของทารก (การเสียชีวิตของทารกในช่วงขวบปีแรก) มีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็น ในการปรับวิธีจัดการให้เข้ากับท้องถิ่น

 

ดร. เฮย์ และ ทีมวิจัย กำลังศึกษาลงลึกในรายละเอียดของกลุ่มปัจจัย ที่มีผลต่อการอยู่รอดของเด็ก ซึ่งรวมถึงด้านการศึกษา ภาวะทุพโภชนาการ และการป้องกันโรค เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น เกี่ยวกับอุปสรรคที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละภูมิภาค

 

ผลการศึกษาในครั้งนี้ ยังพบว่า:  

  • ในพ.ศ. 2560 เกือบ 1 ใน 3 ของสาธารณสุขท้องถิ่น จำนวน 17,554 แห่งใน 99 ประเทศ ที่ทำการศึกษานั้น สามารถทำได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือมีการเสียชีวิตในเด็ก ไม่เกิน 25 คน ต่อเด็กที่เกิดมา 1,000 คน
  • ใน 43 ประเทศ ที่ทำการศึกษานั้น พื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่น ที่มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กที่แย่ที่สุด ในปี พ.ศ. 2560 นั้น ก็ยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าพื้นที่สาธารณสุขท้องถิ่น ที่มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กที่ดีที่สุด ในปี พ.ศ. 2543
  • อัตราการเสียชีวิตในเด็กสูงสุด ในปี พ.ศ. 2543 ในระดับท้องถิ่นนั้น เกิน 300 คนต่อเด็ก 1,000 คนเพียงเล็กน้อย ส่วนในปี พ.ศ. 2560 อัตราการเสียชีวิตในเด็กที่สูงสุด คือ 195 คนต่อเด็ก 1,000 คน ซึ่งทั้งสองสถิตินั้น เป็นของ “ประเทศไนจีเรีย”
  • ส่วนในระดับประเทศนั้น โคลัมเบีย กัวเตมาลา ลิเบีย ปานามา เปรู และ เวียดนาม ล้วนประสบความสำเร็จในการทำตามเป้าหมาย คือ มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กไม่เกิน 25 คนต่อเด็ก 1,000 คน ในปี พ.ศ. 2560 แต่ก็มีหลายเทศบาล อำเภอ หรือจังหวัดที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้า
  • ในช่วงที่ทำการศึกษา ร้อยละ 91 ของประเทศทั้งหมดที่ทำการศึกษา มีสัดส่วนของการเสียชีวิตในทารกแรกเกิด จนถึง 28 วันหลังคลอดเพิ่มขึ้น และร้อยละ 83 ของสาธารณสุขท้องถิ่นในประเทศเหล่านั้น ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
  • มีการเพิ่มสูงขึ้นของสัดส่วนการเสียชีวิตในเด็ก ในพื้นที่ที่เคยมีอัตราการเสียชีวิต “ต่ำ” โดยในปี พ.ศ. 2543 มีการเสียชีวิตเพียงร้อยละ 1.2 ในพื้นที่ที่ทำได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ แต่ในปี พ.ศ. 2560 สัดส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าเป็นร้อยละ 7.3
  • ในปี พ.ศ. 2543 ประมาณร้อยละ 25 ของการเสียชีวิตในเด็ก เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีอัตราการเสียชีวิตในเด็กต่ำกว่า 80 คนต่อเด็ก 1,000 คน ส่วนในปี พ.ศ. 2560 เกือบร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตในเด็ก เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีการเสียชีวิตของเด็กต่ำกว่า 80 คนต่อ 1,000 คน

โครงการของกลุ่มภาระโรคท้องถิ่น ได้มอบการชี้วัดผลลัพธ์ด้านสุขภาพ และมาตรการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมทุกทวีป และลงลึกในระดับท้องถิ่น คณะผู้นำโครงการกำลังต้องการผู้ร่วมงานเพิ่ม ซึ่งรวมถึงนักวิชาการ นักวิจัย ฯลฯ เพื่อให้ข้อมูลและประเมินผลการศึกษา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อทีมงานกลุ่มภาระโรคท้องถิ่นได้ที่ gbdsec@uw.edu

 

ผู้สนใจทั่วไปสามารถดูการชี้วัดต่างๆ ที่ได้จากการศึกษานี้ได้ที่เว็บไซต์  Global Health Data Exchange: http://ghdx.healthdata.org

 

สถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ:

Amelia Apfel, +1-206-897-3733 (ที่ทำงาน); +1-206-359-5111 (มือถือ); arapfel@uw.edu

Kelly Bienhoff, +1-206-897-2884 (ที่ทำงาน); +1-913-302-3817 (มือถือ); kbien@uw.edu

 

เกี่ยวกับสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ

สถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation – IHME) เป็นองค์กรอิสระที่ทำการศึกษาด้านสุขภาพทั่วโลก ตั้งอยู่ ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งนำเสนอมาตรฐานชี้วัด ที่เปรียบเทียบได้และแม่นยำเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่สำคัญระดับโลก พร้อมประเมินกลยุทธ์สำหรับใช้ในการรับมือปัญหาสุขภาพดังกล่าว สถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ ยึดมั่นต่อความโปร่งใส และเผยแพร่ข้อมูลในวงกว้าง เพื่อให้ผู้มีอำนาจในการวางนโยบายมีข้อมูลหลักฐานสำหรับการตัดสินใจ ในการจัดสรรทรัพยากร เพื่อปรับปรุงสุขภาพของประชากรให้ดียิ่งขึ้น

 

เกี่ยวกับโครงการภาระโรคท้องถิ่น

โครงการภาระโรคท้องถิ่น (Local Burden of Disease – LBD) เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันชี้วัด และประเมินผลด้านสุขภาพ มุ่งมั่นที่จะสร้างการชี้วัดผลลัพธ์ด้านสุขภาพ และมาตรการที่เกี่ยวข้องซึ่งครอบคลุมทุกทวีป โดยลงลึกในระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ การชี้วัดดังกล่าวจะช่วยให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ สามารถกำหนดเป้าหมายในการจัดสรรทรัพยากร และหาวิธีแก้ไขได้อย่างตรงจุด เพื่อให้การตัดสินใจเชิงนโยบายนั้น เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น มากกว่าจะเป็นนโยบายโดยรวมสำหรับทั้งประเทศ โดยรวบรวมรายละเอียดของท้องถิ่น เข้ากับข้อมูลในภาพรวม เพื่อการชี้วัดสำหรับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นทั่วทวีป 5 จะทำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีเครื่องมือในการตัดสินใจอย่างมีข้อมูลสนับสนุน โครงการภาระโรคท้องถิ่นนี้ นำโดย ดร.ไซมอน ไอ. เฮย์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การชี้วัดด้านสุขภาพ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน อีกทั้งยังเป็นผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์ เชิงพื้นที่ของสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพด้วย

 

-||-

 

Credit Photo : by_AhmadFahmi_onReshot

Info Credit : สถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation – IHME) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด