TOP

4 ล่ามภาษามือ ผู้เชื่อมโลกแห่งเสียงเพลง สู่ผู้พิการทางการได้ยิน

เมื่อปัจจุบันโลกของดนตรีไม่ได้ถูกจำกัดไว้ให้แค่คนหูดีฟังเท่านั้น และภาษามือ ภาษากาย ที่ใช้สื่อสารกับเพื่อนผู้บกพร่องทางการได้ยิน ก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในบทสนทนา โลกทำให้เราได้รู้ว่ามีประชากรผู้บกพร่องทางการได้ยินอยู่จำนวนไม่น้อย ที่ต่างพัฒนาทักษะการสื่อสารด้วยภาษามือในแต่ละภูมิภาคของตนเอง “ภาษามือ” ไม่ได้เป็นภาษาสากลที่ใช้เหมือนกันทั้งโลก ภาษามือของแต่ละประเทศต่างมีวิวัฒนาการที่เป็นอิสระจากกัน แม้แต่ละประเทศจะที่มีภาษาพูดใกล้เคียงกัน ก็มีภาษามือที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

 

ในขณะที่ “ดนตรี” เป็นการเชื่อมโลก เชื่อมความรู้สึก จิตวิญญาณ สื่อสารผ่านท่วงทำนอง บทเพลง ไม่มีกำแพงของภาษา หรือความสมบูรณ์พร้อมของร่างกายมาปิดกั้นการเข้าถึงสุนทรียะในการฟังเพลง ความสุขที่เชื่อมโยงให้ทุกคนได้มาอยู่ในโลกใบเดียวกัน โลกแห่งเสียงเพลง จะเห็นได้จากงานเทศกาลดนตรีระดับสากล ต่างให้บทบาทกับ “ล่ามภาษามือ” ไม่น้อยไปกว่านักร้องนำ ทุกสายตาของแฟนเพลงจะพุ่งมาหยุดอยู่ที่ ลีลา ท่าทาง อินเนอร์ ภาษากาย ภาษามือ ที่ถ่ายทอดพลัง และความสนุกสนานได้ไม่แพ้นักร้องในดวงใจ ราวกับเป็นร่างทรงของกันจนกว่าจะสิ้นสุดการแสดง

 

ควมสุขที่ยิ่งใหญ่ในการเข้าถึงอารมณ์เพลงของศิลปิน ผ่าน “ล่ามภาษามือ” ถือเป็นบุคคลที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษจริงๆ คนกลางที่ต้องซึมซับตัวตน อินเนอร์ของศิลปิน ถ่ายทอดอารมณ์และความหมายของบทเพลงสู่แฟนเพลงที่บกพร่องทางการได้ยิน ขณะที่ต่างตีตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ตกันอย่างคับคั่ง และปัจจุบันอาชีพนี้ยังถือว่ามีจำนวนน้อยอยู่มาก

 

มารู้จัก ‘ล่ามภาษามือ’ ที่โด่งดังไม่แพ้ศิลปินระดับโลก

Holly Maniatty

ฮอลลี มานิแอตตี้ ล่ามภาษามือชาวอเมริกันที่โด่งดัง ทุกครั้งที่เธออยู่หน้าเวทีคอนเสิร์ต จะเรียกความสนใจได้ไม่แพ้ศิลปินที่กำลังทำแสดงบนเวทีเลย เมื่อเธอสร้างจุดเด่นจากการใช้ศาสตร์แห่งการสื่อสารด้วยภาษามือ ผสานกับออกท่าทางตามจังหวะดนตรี กลายเป็นลีลาเฉพาะตัวที่ช่วยให้แฟนเพลงผู้บกพร่องทางการได้ยิน สามารถสนุกสนานไปกับคอนเสิร์ต ได้ไม่ต่างจากแฟนเพลงทั่วไป ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เวทีมีสีสันกลายเป็นที่กล่าวขาน เธอจึงได้รับโอกาสจากศิลปินชั้นนำมากมาย ให้ร่วมแจมคอนเสิร์ตในบทบาทของ “ล่ามภาษามือมือโปร” ไม่ว่าจะเป็น Marilyn Manson, U2, Waka Flocka, Snoop Dogg หรือแม้กระทั่ง Eminem

ความสำเร็จของ ฮอลลี มานิแอตตี้ อยู่ที่ความมุ่งมั่นมอบความบันเทิง เธอต้องศึกษาเนื้อเพลง จนถึงการจดจำท่าทางเฉพาะตัวของศิลปินแต่ละราย เพื่อให้การสื่อสารผ่านภาษามือ สามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้ใกล้เคียงกับผลงานต้นฉบับของศิลปินมากที่สุด จนเธอได้รับการติดต่อทาบทามให้ร่วมงาน ตั้งแต่การแสดงของนางโชว์สาวประเภทสอง จนถึงคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดัง หลายคลิปการแสดงอันยอดเยี่ยมของเธอที่ได้ร่วมเต้นและใช้ภาษามือบนคอนเสิร์ตต่างๆ ยังได้รับความนิยมบนโลกออนไลน์อย่างมากอีกด้วย

 

ฮอลลี มานิแอตตี้ กล่าวว่า หน้าที่ของเธอคือการสร้างภาษาทางกาย ที่ทำให้ผู้บกพร่องทางการได้ยิน สามารถสนุกไปกับการแสดงคอนเสิร์ตให้มากที่สุด เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ชมการแปลภาษามือ เข้าถึงเรื่องราวและความหมายที่คนแต่งเพลงเขียนมันออกมาได้มากขึ้น ฉันต้องแน่ใจว่าฉันสามารถสื่อสารออกไปด้วยภาษามือได้ดีพอเท่าที่ทำได้ ซึ่งการที่ศิลปินหันมาทำงานร่วมกับล่ามภาษามือมากขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นการเปิดโลกให้ผู้ที่ไม่อาจได้ยินเสียงเหมือนคนทั่วไป สามารถเข้าถึงผลงานสร้างสรรค์ของพวกเขาได้มากขึ้นนั่นเอง

 

(Amber Galloway Gallego)

อีกคนที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการภาษามือคือ แอมเบอร์ กัลโลเวย์ กัลเลโก (Amber Galloway Gallego) เธอเป็นล่ามภาษามือชาวอเมริกันที่มีสไตล์ส่วนตัวในการแปลเพลงผ่านภาษามือ และยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคอนเสิร์ตของศิลปินดังหลายคน ทั้ง Coldplay, Adele, Lady Gaga, Twista และเธอยังนำเพลงดังของศิลปินต่างๆ มาแปลภาษามือในช่องยูทูปของตัวเอง เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินมีตัวเลือกในการฟังเพลงมากขึ้น เธอได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางอารมณ์ระหว่างเนื้อเพลง และดนตรี ผ่านการเคลื่อนไหวของมือได้อย่างยอดเยี่ยม
และสังคมได้เห็นแล้วว่าไม่มีช่องว่างใดๆ ที่ผู้บกพร่องทางการได้ยิน จะทำร่วมกับคนทั่วไปไม่ได้

 

 

และนี่เป็นอีกคอนเสิร์ตที่ฮือฮาไปทั่วโลก เมื่อ แอมเบอร์ กัลโลเวย์ กัลเลโก กำลังวาดลวดลาย โชว์ลีลารัวแปลบทเพลงด้วยภาษามือ บนเวทีคอนเสิร์ตตามจังหวะการพ่นท่อนแร็ปของ “ทวิสต้า” (Twista) แร็ปเปอร์ชื่อดัง ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของตำแหน่งนักร้องเพลงแร็ป ที่แร็ปเร็วที่สุดในโลกตลอดกาล เมื่อปี 2014 โดยได้เผยให้เห็นลีลาพริ้วไหวและแม่นยำแบบแร็ปไม่มีตกหล่นของเธอไปพร้อมศิลปิน สร้างความประทับใจและเรียกเสียงฮือฮาจากผู้เข้าร่วมชมคอนเสิร์ตเป็นอย่างมาก

Laetitia Tual

เป็นเวลากว่า 15 ปีที่ Laetitia Tual สาวชาวฝรั่งเศส คร่ำหวอดการเป็นล่ามภาษามือ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอตกหลุมรักตั้งแต่อายุได้ 18 ปี เธอมุ่งมั่นและมีความสุขที่ได้สื่อภาษาดนตรีผ่านภาษามือ ให้ผู้บกพร่องทางการได้ยิน มีโอกาสสัมผัสความงดงามของดนตรี ผ่านอารมณ์ สีหน้า ภาษามือ และภาษากาย รวมการจัดทำคลิปวิดิโอที่ทำให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินเข้าถึงโลกแห่งเสียงเพลงผ่านจิตวิญญาณ และคอนเสิร์ตที่คนเหล่านี้สามารถสนุกสนานไปกับคนทั่วไปอีกด้วย เพื่อต้องการสื่อวัฒนธรรมของคนบกพร่องทางการได้ยิน สามารถอยู่ร่วม ทำกิจกรรมต่างๆ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ อยู่ร่วมสังคมกับคนทั่วไปได้ไม่แตกต่าง คนบกพร่องทางการได้ยิน พวกเขาป็นคนที่มีศักยภาพ วันนี้เราอาจนึกว่าเราปกติเพราะคนส่วนมากหูดี แต่ถ้าเราได้ลองเข้าไปสัมผัสในสังคมของคนหูหนวกแล้ว เราจะรู้เลยว่า เราต่างหากที่เป็นคนที่ต่างแต่ไม่พยายามปรับตัว เพราะฉะนั้นนอกจากจะให้เขาปรับตัว ใช้ชีวิตในสังคมหูดีแล้ว เราเองก็ควรเอาตัวเข้าไปเช่นเดียวกัน สองวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งเดียว เข้าใจซึ่งกัน

เพลงรบ ฐิติกุลดิลก

เราอาจคุ้นหน้า “เพลงรบ ฐิติกุลดิลก” หนุ่มไทยล่ามภาษามือ จากกรอบเล็กๆ บนจอทีวี ช่วงข่าว ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง7 เอชดี มาก่อนที่จะเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากการเป็นล่ามภาษามือ เพลง ‘เธอคือเมโลดี้’ ของศิลปินเกิร์ลกรุ๊ป BNK48 จากวิชาที่ร่ำเรียนมาจากสาขาหูหนวกศึกษา คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดทางสู่เส้นทางอาชีพครั้งแรก ได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวข้องกับล่ามภาษามือ ที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก่อนที่จะมาร่วมงานกับช่อง 7

 

ตอนที่รู้ว่า ต้องแปลเพลงของ BNK 48 เพลงรบ ต้องเสิร์ชเพลงแล้วนั่งฟัง จับจังหวะดูท่าทางก่อนที่จะแปลงออกมาเป้นภาษามือ และแสดงออกทั้งสีหน้า ท่าทาง จังหวะที่ต้องลงตัวไปกับศิลปิน น้องศิลปิน BNK 48 นับว่าพวกเขาคือแรงดึงดูด สร้างแรงกระเพื่อมที่ทำให้คนรู้ว่า “ภาษามือร้องเพลงได้” ผมเคยแปลเพลง ‘เต่างอย’ ของ จินตหรา พูนลาภ หรือเพลงของ วงคอกเทล อีกด้วย

 

คนบกพร่องทางการได้ยินในไทย เขามีศักยภาพมากกว่าที่เราคนปกติคิด ในต่างประเทศคอนเสิร์ตมีล่ามแปลเพลงข้างเวทีเช่นเดียวกับที่ไทย เพียงแต่เราไม่มีสื่อโชเชียลที่นำเสนอ ผมคิดว่าถ้ามีล่ามในคอนเสิร์ต คนบกพร่องทางการได้ยินเค้าจะต้องไปร่วมสนุกกับคอนเสิร์ตแน่นอน เพียงแต่ทุกวันนี้อาจมีไม่มีล่ามภาษามือจริงจังในงานคอนเสิร์ต และหลายครั้งที่คนเหล่านี้แฝงอยู่ในคอนเสิร์ต แต่คุณอาจไม่รู้ว่าเขาไม่ได้ยิน ถ้าวันหนึ่งมีล่ามอยู่บนเวทีได้ ก็แสดงให้เห็นว่า สังคมเราเปิดรับจริงๆ ไม่ใช่เกิดจากกฎหมายบังคับ

จะเห็นได้ว่าล่ามภาษามือในระดับสากลมีจำนวนมากกว่าในเมืองไทย ที่ยังไม่เปิดกว้างเท่าที่ควร ทุกคนฝึกได้ แล้วเราจะมีล่ามคนรุ่นใหม่ที่พัฒนาคนพิการได้ด้วย

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด