TOP

กรุงเทพฯ เดินหน้าสู่ ‘เมืองอัจฉริยะ’ ยั่งยืน

Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ หรือ เมืองแห่งโลกอนาคต นับเป็นเทรนด์การพัฒนาเมืองยุคใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาปรับใช้ให้เมืองมีความเป็นอยู่ที่ทันสมัยมากขึ้น เชื่อมโยงให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริการสาธารณะที่เข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานของเมือง และทำให้เศรษฐกิจเติบโตควบคู่กันไป

สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลก็กำลังเดินหน้าพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” หรือ Smart City อย่างเต็มตัว โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี (DE) เป็นแม่งานหลัก โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (DEPA) เป็นหน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนา Smart City ตั้งเป้าหมายระยะแรกไว้ 7 เมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, เชียงใหม่, ขอนแก่น, ชลบุรี, ระยอง และ ฉะเชิงเทรา 

กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) ขึ้น ด้วยการนำแผนวิสัยทัศน์ของประชาชน เพื่อการพัฒนากรุงเทพฯ มากำหนดกรอบในการปรับปรุงบริการสาธารณะต่างๆ และประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการพัฒนา และแก้ไขเพื่อให้กรุงเทพฯ นั้น ก้าวสู่การเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” เป็น “มหานครอัจฉริยะ (Smart City)” ในปี พ.ศ. 2575 แบ่งช่วงการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 (พ.ศ. 2556 – 2560) ได้สิ้นสุดไปแล้ว ทาง กทม. ตอนนี้กำลังดำเนินสู่ระยะที่ 2 (พ.ศ.2561 – 2565)

 

โดยที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครเดินหน้านโยบาย ทั้งสร้างและผลักดันกรุงเทพฯ ให้ก้าวสู่การเป็น Smart City อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล เป็นเมืองอัจฉริยะตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0 และตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2559 – 2565” ด้วยรากฐานสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือการพัฒนา “พลเมืองสมาร์ท (Smart People)” ที่จะนำกรุงเทพฯ เข้าสู่ Smart City ได้อย่างยั่งยืน ด้วยแนวทางพัฒนาของ กทม. ใน 6 มิติ ได้แก่

 

Smart Environment

ด้านสิ่งแวดล้อม

กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการน้ำ การดูแลสภาพอากาศ การบริหารจัดการของเสีย การเฝ้าระวังภัยพิบัติ ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งในอนาคต กรุงเทพฯ จะเป็นมหานครสีเขียวที่สะดวกสบาย ภูมิทัศน์สวยงาม ไม่มีสายไฟ และสายสื่อสารรกรุงรัง รวมถึงมีพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่สีเขียวกระจายทั่วทุกพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนโดยตรง และช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มก๊าซออกซิเจน ซึ่งตามกรอบขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เมืองที่สิ่งแวดล้อมดี จะต้องมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคน โดยเป็นเป้าหมายของ กทม.จะทำให้ได้ในปี พ.ศ. 2575 นั่นเอง นอกจากนี้ในเรื่องการใช้พลังงาน ต้องมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จด้านพลังงานทางเลือก รวมถึงเมืองปลอดขยะ โดย กทม.ได้ตั้งเป้าลดขยะลงร้อยละ 20 ในปี พ.ศ. 2575 เช่นกัน ด้วยแนวคิด “ของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste Management)” เป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และทำขยะให้เหลือน้อยที่สุด

-||-

 

Smart Mobility

ด้านการเดินทางและขนส่ง

กรุงเทพฯ จะต้องมีระบบขนส่งมวลชน และระบบการคมนาคมทางเลือกต่างๆ อย่างทั่วถึง กล่าวคือ มีความสะดวก ประหยัด การจราจรคล่องตัว และมีทางเลือกให้ชาวกรุงเทพฯ ทั้งทางเรือ จักรยาน และทางเดินเท้า โดยทั้งช่องทางจักรยานและทางเดินเท้า ต้องมีความกว้างอย่างเพียงพอให้คนได้สัญจร ส่วนการสัญจรทางน้ำมีความคล่องตัว ไม่แออัด

-||-

 

Smart People

ด้านประชาสังคม

ชาวกรุงเทพฯ ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสถานภาพ อยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคและสมานฉันท์ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เคารพสิทธิกันและกัน ได้รับโอกาสที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเอง และเข้าถึงบริการสาธารณะ ในขณะเดียวกันชาวกรุงเทพฯ แต่ละกลุ่ม แต่ละชุมชน สามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรมที่หลากหลาย จากนี้ไป กทม.จะจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและสวัสดิการ ให้กับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในกรุงเทพฯ ด้วยการจัดทำระบบฐานข้อมูลที่ครบถ้วนทันสมัย ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป พร้อมกับมีระบบอาชีพ และการแสวงหารายได้ที่สามารถเพิ่มโอกาส ให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ สำหรับด้านการศึกษาสำหรับทุกคน คือ กทม. สามารถจัดการการศึกษาให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างทั่วถึง ไม่แบ่งแยกความแตกต่างทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และศาสนา สร้างจิตสำนึกแก่เยาวชนให้รักกรุงเทพฯ

-||-

 

Smart Governance

ด้านการบริหารภาครัฐ

กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่พัฒนาระบบบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ โดยมุ่งเน้นความโปร่งใส และการมีส่วนร่วม อีกทั้งมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมบริการ

-||-

 

Smart Safety

ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

กรุงเทพฯ สู่การเป็นมหานครแห่งความปลอดภัย หมายถึง กรุงเทพฯ ของเราต้องเป็นมหานครที่ปลอดมลพิษ ด้วยระบบการจัดการน้ำเสีย การจัดการขยะ การควบคุมฝุ่นละออง กลิ่น และสารเจือปนในอากาศ รวมถึงระบบการควบคุมระดับเสียงในเขตเมืองนั้น ต้องมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วพื้นที่เขตเมือง อีกทั้งเป็นเมืองปลอดอาชญากรรม ยาเสพติด ปลอดอุบัติเหตุ รักษาความสงบเรียบร้อยในการจัดการระบบจราจร และเฝ้าระวังป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ต้องเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม การกัดเซาะชายฝั่ง ฯลฯ รวมถึงกรุงเทพฯ ยังต้องมีความปลอดภัยต่อการใช้งานอาคารสาธารณะ อุบัติภัยจากสิ่งปลูกสร้าง ส่วนอีกหนึ่งความสำคัญในมิติความปลอดภัย ก็คืออาหารปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคและสารเคมี อีกทั้งถูกสุขอนามัย

-||-

 

Smart Economy

ด้านเศรษฐกิจ

เพราะเป้าหมาย คืออีก 20 ปีข้างหน้า กรุงเทพฯ จะก้าวสู่การเป็น ‘เมืองหลวงของเอเชีย’ จึงต้องสร้างให้เป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีความสำคัญระดับภูมิภาคและนานาชาติ โดยกรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของเอเชีย รวมถึงเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้วิทยาการด้านต่างๆ ของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการสีเขียว, ศูนย์กลางการค้า การเงิน และการลงทุน, ศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลก, ศูนย์กลางธุรกิจตามฐานนวัตกรรม-วัฒนธรรม และเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมนิทรรศการ และศูนย์รวมการจัดตั้งสำนักงานของภูมิภาค กทม.ได้พัฒนาพื้นที่นำร่อง 20 เขตให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ พื้นที่เขตปทุมวัน อันเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการศึกษาก่อน จากนั้นจึงขยายออกไปยังเขตพื้นที่โดยรอบ ที่มีความพร้อมในการพัฒนา อาทิ สาทร สุขุมวิท มักกะสัน พหลโยธิน ฯลฯ ส่วนด้าน ฝั่งธนบุรี ได้เริ่มการพัฒนาจากย่านสะพานตากสิน หรือสะพานสาทร เขตคลองสาน แล้วขยายไปยังเขตพื้นที่ข้างเคียง ได้แก่ เขตบางกอกน้อย เขตธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ และเขตบางขุนเทียน

-||-

 

5 ส. เพื่อการพัฒนากรุงเทพฯ เป็นเมืองอัจฉริยะ

การจะพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็น Smart City จะเป็นจริงได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 5 ด้านหรือเรียกย่อๆ ว่า 5 ส. คือ
(1.) สะดวก ในการเดินทาง การติดต่อหน่วยงานราชการ ฯลฯ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้
(2.) สะอาด สวยงาม ถนน ทางเดินเท้าต้องสะอาด
(3.) สงบ ความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
(4.) สิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการขยะ น้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ มีคลองสวยงาม น้ำใสสะอาด เนื่องจากกรุงเทพฯ มีคลองจำนวนมาก
(5.) สุข ประชาชนต้องมีความสุข ประชาชนของเมืองได้รับการดูแลตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ อนามัย การประกอบอาชีพ การดูแลผู้สูงวัย ฯลฯ

 

**********************

เรื่อง : อโนชา ทองชัย

ที่มา: ฺBKK NEWS Issue 269 / กรุงเทพมหานคร

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด