ใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด ไปพร้อมกับบริหารจัดการด้านการเงิน และการใช้ชีวิตในยุค New Normal
จนถึงวันนี้แม้ว่าในบ้านเราจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้ได้แล้ว หากแต่ผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ยังคงอยู่ โดยเฉพาะผลเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เราต้องรัดเข็มขัดและเฝ้าระวังการใช้จ่ายกันมากขึ้น Special Scoop ฉบับนี้จึงเชิญ คุณกนกนันท์ โชติชัชวาล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ธนาคารซิตี้แบงก์ ผู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการเงินมานานกว่า 10 ปี มาพูดคุยพร้อมแนะนำแนวทางการใช้จ่ายและบริหารจัดการเงินในสภาวะเช่นนี้
ระมัดระวังการใช้จ่ายเป็นพิเศษ
“สำหรับบางท่านที่อาจจะโดนผลกระทบจากสถานการณ์นี้ เช่น การปรับลดเงินเดือน ก็อาจจะต้องควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้น หรือว่าท่านที่ไม่ได้รับผลกระทบด้านเงินเดือน ก็อาจจะต้องมีการวางแผนในเรื่องของความไม่แน่นอนในด้านของอาชีพ ซึ่งทุกท่านก็อาจจะต้องระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่าย งดซื้อของฟุ่มเฟือย และต้องรู้จักประเมินความสามารถในการชำระค่าใช้จ่ายของตัวเองด้วย”
ออมเงินสม่ำเสมอ
“ถึงแม้จะไม่ใช่ช่วงเวลาแบบนี้ ทุกคนก็ต้องมีวินัยในการออมอยู่แล้ว แล้วยิ่งถ้าเป็นช่วงนี้ด้วยก็อาจจะต้องออมมากขึ้น อย่างที่ทราบกันว่าความไม่แน่นอนในอาชีพก็ยังมีอยู่ เพราะว่าเราก็ยังไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรในปีหน้า ส่วนตัวคิดว่าเราควรต้องมีการออมเพิ่มมากขึ้น เพื่อเตรียมการสำหรับอนาคต ซึ่งโดยทั่วไปก็ควรจะออมอย่างน้อย 30% ส่วนที่เหลือก็แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน”
มองหาตัวช่วยบริหารจัดการเงิน
“เข้าใจว่าด้วยเศรษฐกิจตอนนี้ คนก็อาจจะต้องระวังในเรื่องของการใช้จ่าย ดังนั้นก็ต้องลองมองดูว่ามีอะไรเป็นตัวที่จะมาช่วยในการจัดการค่าใช้จ่ายในแต่ละวันที่เกิดขึ้นได้บ้าง ซึ่งบัตรเครดิตก็ถือเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ทำให้ผู้ถือบัตรสามารถจัดการกับค่าใช้จ่ายรายเดือนได้ง่ายและสะดวกขึ้น เพราะอย่างที่ทราบกันว่าบัตรเครดิตจะมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 45 วัน หรือ 55 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทของบัตรเครดิต ซึ่งถ้าเราเป็นคนจ่ายตรงเวลา ก็จะไม่มีดอกเบี้ย โดยบัตรเครดิตจะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยในการจัดการ อย่างกรณีที่เราจะต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน จ่ายค่าประกัน หรือค่าใช้จ่ายอะไรก็ตามที่เราอาจจะยังไม่มีเงินสด ก็สามารถใช้บัตรเครดิตจ่ายไปก่อน แล้วเมื่อถึงกำหนดชำระ ตอนนั้นเราก็อาจจะมีรายได้ มีเงินเดือนออกมาแล้ว ก็ค่อยชำระตามกำหนด ซึ่งในส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ของบัตรเครดิต ที่เราสามารถเอามาจัดการกับการหมุนเวียนเงินสด หรือ cash flow ของเราได้”
ใช้สิทธิประโยชน์ลดรายจ่ายประจำวัน
“นอกจากนี้ ทุกการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นผ่านบัตรเครดิต ธนาคารจะมีคะแนนสะสมให้ลูกค้า ซึ่งสามารถเอาไปแลกเป็นสิทธิประโยชน์ได้มากมาย โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ที่มีตัวเลือก ในการแลกเยอะมากขึ้น ก็อาจจะใช้คะแนนสะสมแลกเป็นสิ่งของหรือส่วนลดต่างๆ ที่สามารถลดรายจ่ายในชีวิตประจำวันได้ เช่น แลกเป็นบัตรกำนัล เพื่อไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า หรือเวลาไปเติมน้ำมัน ก็อาจจะใช้คะแนนสะสมแลกเพื่อจ่ายเป็นส่วนลดค่าเติมน้ำมันได้ หรืออย่างร้านอาหารเราก็สามารถใช้คะแนนสะสมแลกเป็นส่วนลดได้เช่นกัน โดยคะแนนสะสมนี้สามารถนำมาใช้เป็นตัวช่วยลดรายจ่ายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นประโยชน์ของการใช้บัตรเครดิตในช่วงวิกฤตนี้เหมือนกัน”
ลงทุนให้เหมาะสม
“การลงทุนยังทำได้อยู่ เพราะมีทั้งการลงทุนระยะสั้น และการลงทุนระยะยาว ถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบความเสี่ยง ตามความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าการลงทุนระยะสั้นก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ ควรมองหาในส่วนของการลงทุนระยะยาวมากกว่า ว่าสุดท้ายแล้วเมื่อเกษียณเราอยากจะมีเงินไว้ใช้ตอนเกษียณเท่าไหร่ ซึ่งการลงทุนควรจะทำอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้หากจะให้บอกว่าการลงทุนระยะยาวน่าจะเหมาะกับสภาวะช่วงนี้มากกว่าหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนแต่ละคนด้วยค่ะ สำหรับบางท่านที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากหน่อย ก็อาจจะมีการลงทุนในระยะสั้นนิดหน่อย เพื่อให้ได้กำไรขึ้นมาบ้างในระยะเวลาสั้นๆ แต่โดยส่วนตัวเป็นคนที่ไม่ชอบความเสี่ยงมากนัก ก็จะมองในเรื่องของการลงทุนระยะยาวเพื่อเป็นการออมมากกว่า โดยสำหรับซิตี้เราก็มีให้บริการในส่วนนี้สำหรับลูกค้าทั้งการลงทุนระยะสั้นและระยะยาวด้วยเช่นกัน”
แนวทางบริหารการเงินหลังพ้นวิกฤต
“การทำบัญชีรายรับรายจ่าย หรือการวางแผนการออมการลงทุนต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้วนะคะ ไม่ว่าจะในสถานการณ์แบบไหน คือไม่ว่าจะเป็นในตอนนี้ที่เศรษฐกิจไม่ดี หรือในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจฟื้นแล้ว เรื่องการออมกับการลงทุนเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าช่วงที่เรามีเงินมากหน่อยการออมก็อาจจะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของรายได้ที่มี ซึ่งธนาคารมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมายให้เลือกใช้ ทั้งการลงทุน การออม รวมถึงผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต ซึ่งก็แบ่งออกเป็นหลายประเภทบัตรตามลักษณะการใช้จ่าย ที่ถ้าลูกค้ารู้จักใช้ก็จะสามารถจัดการการเงินของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยผลิตภัณฑ์ของธนาคาร”