TOP

สิ่งที่ต้องรู้! เลือกตั้ง 2562 ครั้งแรกต้องทำอย่างไร & หากไม่ใช้สิทธิ์จะเกิดอะไรขึ้น

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้ง การเข้าคูหาครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรกของใครหลายๆคน ซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปคือวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยคนไทยทั่วประเทศมีเวลา 9 ชั่วโมงในการเดินทางไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. แล้วคณะกรรมการประจำการเลือกตั้งจะทำการนับคะแนน ณ จุดเลือกตั้ง เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในเวลา 17.00 น. การเลือกตั้งครั้งนี้มี ‘บัตรเลือกตั้งใบเดียว’ ให้เราตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต เท่ากับว่ากากบาทเพียง 1 ครั้ง คะแนนจะถูกนับในระบบ ส.ส. แบบแบ่งเขต และคะแนนที่เลือกไปนั้นจะถูกนำไปคิดรวมเป็นคะแนนของพรรคเพื่อคำนวณหา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในคราวเดียวกัน

— คุณสมบัติสำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง — 

 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์

—  คู่มือ สำหรับการเลือกตั้ง สำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก —

  1. แสดงบัตรประชาชน (กรณีบัตรหมดอายุก็สามารถใช้สิทธิ์ยืนยันตัวตนได้) หรือบัตรที่หน่วยงานราชการออกให้ที่มีรูปถ่าย เลขประจำตัวบัตรประชาชน,หนังสือเดินทาง(passport),ใบขับขี่ ก็สามารถใช้ประกอบการแสดงสิทธิ์ได้เช่นกัน
  2. ตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ณ จุดเลือกตั้ง โดยมีเวลากำหนดตั้งแต่ 08.00-17.00 น. เท่านั้น
  3. ยื่นบัตรประชาชนให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง และเซ็นชื่อพร้อมใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้ จากนั้นคุณจะได้บัตรลงคะแนน 1 ใบ พร้อมพิมพ์ลายนิ้วมือของคุณลงเป็นต้นขั้วบัตรลงคะแนน เพื่อทำการยืนยันตัวตนอีกครั้ง
  4. เข้าคูหา พร้อมเลือกพรรคในใจคุณ โดยรายละเอียดในใบลงคะแนนประกอบด้วย หมายเลข, โลโก้พรรค และชื่อพรรคการเมือง โดยใช้สิทธิ์กากบาทหมายเลขผู้สมัครที่คุณชอบ หรือถ้าคุณไม่มีพรรคที่ชื่นชอบ ก็ใช้สิทธิ์กากบาทลงช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด (โดยข้อควรระวังคือ ใช้สัญลักษณ์ กากบาท เท่านั้น หากคุณใช้เครื่องหมายอื่น เช่น เครื่องหมายถูกต้อง หรือวงกลม จะทำให้บัตรเสียทันที )
  5. พับบัตรเลือกตั้งให้เรียบร้อย หย่อนบัตรลงในหีบเลือกตั้ง ในบริเวณคูหาที่จัดเตรียมไว้ เป็นอันว่าคุณได้ใช้สิทธ์เลือกตั้งเรียบร้อย

 

— หากไม่ไปเลือกตั้ง 2562 คุณจะเสียสิทธิการเมืองดังต่อไปนี้ — 

  1. สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น
    2. สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น
    3. สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
    4. สิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรับสภาฝ่ายการเมือง
    5. สิทธิดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น

    หากในวันเลือกตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เพราะมีกิจธุระจำเป็น ต้องแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเทียนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เสียสิทธิ

— เหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุไว้ มีดังนี้ — 

  1.  มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  2.  เจ็บป่วย พิการ สูงอายุ ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้
  3. เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  4.  อาศัยอยู่ห่างจากจุดลงคะแนนเลือกตั้ง เกินกว่า 100 กิโลเมตร
  5.  มีเหตุสุดวิสัยอื่น นอกเหนือจากที่ กกต. กำหนดไว้

— ส่วนวิธีการแจ้งเหตุที่ไม่ไปเลือกตั้ง ควรแจ้งก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน จนถึงหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน โดยมีขั้นตอนทั้งหมด ดังนี้ — 

1. กรอกแบบฟอร์มหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ (ส.ส. 28) โดยระบุหมายเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน

2. แนบหลักฐานเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

3. ยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ได้ 3 วิธีการ คือ

– ยื่นด้วยตนเอง
– มอบหมายบุคคลอื่นไปยื่นแทน
– ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

ชลธิช วรรณอุบล I บรรณาธิการดิจิทัล