เปิดตลาดเยาวชนทั่วโลก ท่องเที่ยวชุมชนเรียนรู้วัฒนธรรมไทย ในโครงการ Thailand Village Academy
“THAILAND VILLAGE ACADEMY” โครงการท่องเที่ยวชุมชนเรียนรู้วัฒนธรรม โดยมี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง เป็นแกนนำ ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, เว็บไซต์ Hello Local, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด สร้างสรรค์พัฒนาชุมชนท่องเที่ยว จำนวน 22 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อยกระดับให้เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมไทย สำหรับเยาวชนทั่วโลก ขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ทำการคัดเลือกชุมชนแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม โดยพิจารณาตามเกณฑ์ของการคัดเลือก ต้องเป็นชุมชนที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรม รวมถึงมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น อันควรค่าแก่การสืบสานอนุรักษ์ และต้องมีความตั้งใจที่จะนำต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนตัวเอง มาต่อยอดเพิ่มคุณค่าเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยปราชญ์ชุมชนที่มีความรู้อย่างลึกซึ้งในวัฒนธรรมชุมชนจะเป็นเสมือนผู้ช่วยพระเอก สามารถถ่ายทอดให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวอย่างเข้าถึง และทำให้สนุกสนานกับการมีส่วนร่วมได้ในทุกกิจกรรม
ทั้งนี้มีชุมชนผ่านเกณฑ์จำนวน 70 ชุมชนจากทั่วประเทศ จากนั้นนำมาสำรวจความคิดเห็นจากนักท่องเที่ยว เพื่อค้นหาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านความชื่นชอบและเป็นที่สนใจมากที่สุด ได้จำนวน 22 ชุมชน จาก 70 ชุมชน เพื่อนำมาต่อยอดสร้างสรรค์โปรแกรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้เหมาะกับเยาวชนต่างชาติโดยเฉพาะ ได้แก่ ชุมชนบ้านน้ำจำ จ.เชียงใหม่, ชุมชนหล่อโย จ.เชียงราย, ชุมชนบ้านท่ามะโอ จ.ลำปาง, ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมลาวเวียง ต.หาดสองแคว จ.อุตรดิตถ์, วิสาหกิจกลุ่มชุมชน บ้านโคกเมือง จ.บุรีรัมย์, ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชนเผ่าไทกวนบ้านนาถ่อน จ.นครพนม, ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเขมราฐ นางเวียง เจียด จ.อุบลราชธานี, ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ต.บ้านเชียง จ.อุดรธานี, ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านภู จ.มุกดาหาร, ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย จ.สุโขทัย, ชุมชนตำบลหนองโรง จ.กาญจนบุรี, วิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนตำบลถ้ำรงค์ จ.เพชรบุรี, ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท, หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, ชุมชนตำบลบ้านแหลม จ.สุพรรณบุรี, ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยพวน จ.นครนายก, ชุมชนบ้านบางพลับ จ.สมุทรสงคราม, ชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก จ.กระบี่, ชุมชนบ้านลำขนุน จ.ตรัง, ท่องเที่ยวชุมชน ตำบลทุ่งหว้า จ.สตูล, ชุมชนการท่องเที่ยวโดยชุมชนพรหมโลก จ.นครศรีธรรมราช, หมู่บ้านชาวนาวิถีไทย วิถีโหนด นา เล จ.สงขลา
แม้แต่ในด้านชุมชน ทางโครงการฯ ยังได้เตรียมความพร้อมด้วยการจัดกิจกรรมสัมมนา อบรม เพื่อเตรียมความพร้อม ความเข้าใจ ให้กับชุมชน ทางด้านการเป็นนักสื่อความหมายชุมชน และการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อการตลาดและการประชาสัมพันธ์อีกด้วย ที่ผ่านมาทางโครงการฯ ยังจัดกิจกรรม The Village Story เปิดโอกาสให้บล็อกเกอร์เยาวชนทั่วโลก ที่มีความสามารถในการเล่าเรื่องราวท่องเที่ยว และมีทักษะในการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทาง ให้สมัครเข้าร่วมภารกิจแข่งขันชิงเงินรางวัล มูลค่ากว่า 500,000 บาท (ห้าแสนบาท) โดยมีบล็อกเกอร์เยาวชน จำนวน 1,423 คน จาก 86 ประเทศทั่วโลก สมัครเข้าร่วมกิจกรรมนี้ และมีผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมแข่งขันเพียง 44 คน จาก 17 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย, อังกฤษ, รัสเซีย, เนปาล, สิงค์โปร์, มาเลเซีย, ภูฏาน, อิสราเอล, อิตาลี, ยูเครน, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เปรู, ออสเตรเลีย, ตูนิเซีย, ไนจีเรีย และ ประเทศไทย ผู้แข่งขันทุกคนต้องใช้ชีวิตกับชุมชน 6 วัน เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชุมชนอย่างไทย กับ “ปราชญ์ชุมชน” หรือ Local Master อย่างใกล้ชิด โดยผู้แข่งขันต้องถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนผ่านมุมมองจากประสบการณ์ตรง โปรโมตสร้างแรงบันดาลใจผ่านสื่อออนไลน์ และทางโครงการฯ ได้ผู้เข้ารอบรับ “รางวัล Most Talented Story Curation” จำนวน 5 อันดับ ดังนี้ อันดับ 1. ประเทศมาเลเซีย โปรโมต ชุมชนบ้างเชียง จังหวัดอุดรธานี, ประเทศไทย โปรโมต ชุมชนตำบลบ้านแหลม จังหวัดสุพรรณบุรี | อันดับ 2 ประเทศภูฏาน โปรโมต ชุมชนบ้านภู จังหวัดมุกดาหาร, ประเทศไทย โปรโมต ชุมชนแหลมสัก จังหวัดกระบี่ | อันดับ 3 ประเทศอินเดีย โปรโมต ชุมชนตำบลบ้านแหลม จังหวัดสุพรรณบุรี, ประเทศไทย โปรโมต ชุมชนบ้านลาวเวียง จังหวัดอุตรดิตถ์ | อันดับ 4 ประเทศอิสราเอล โปรโมต ชุมชนเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย, ประเทศไทย โปรโมต ชุมชนสรรพยา จังหวัดชัยนาท | อันดับ 5 ประเทศไนจีเรีย โปรโมต ชุมชนพรหมโลก จังหวัดนครศรีธรรมราช, ประเทศไทย โปรโมต ชุมชนหล่อโย จังหวัดเชียงราย
จาก 22 ชุมชนที่ผ่านความชื่นชอบและเป็นที่สนใจมากที่สุดนั้น มี 7 ชุมชนที่เป็นชุมชุนภาคกลาง และเพื่อเป็นการต่อยอดการท่องเที่ยวให้ได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้มีการจัด Thailand Village Academy Showcase ทริปนำร่องท่องเที่ยวชุมชนวัฒนธรรมในภาคกลาง
-||-
7 ชุมชนภาคกลาง
พร้อมแล้วโชว์ศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว
เชิงวัฒนธรรม
ผอ. อภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การจัดกิจกรรม Thailand Village Academy Showcase ถือว่าเป็นการเปิดตลาดท่องเที่ยวชุมชน ที่ตรงกับความต้องการกลุ่มเยาวชนต่างชาติ เพราะเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจในการเดินทางท่องโลกเพื่อเรียนรู้ และสัมผัสวัฒนธรรมที่แตกต่าง ชอบใช้ชีวิตแบบคนท้องถิ่น ดังนั้นกลุ่มเยาวชนต่างชาติจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ที่จะช่วยเผยแพร่ส่งต่อเรื่องราวของวัฒนธรรมและวิถีชีวิต อันมีเสน่ห์โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ของไทย ให้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก
และในปี 2562 นี้ ชุมชนภาคกลางทั้ง 7 ชุมชน ที่ได้รับคัดเลือกเป็นชุมชนต้นแบบวัฒนธรรมสำหรับเยาวชนต่างชาติ ในโครงการ Thailand Village Academy ที่สร้างสรรค์โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม อันได้แก่ หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โฮมสเตย์ไทรน้อย จ. พระนครศรีอยุธยา, ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยพวน จ. นครนายก, วิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชน ตำบลถ้ำรงค์ จ. เพชรบุรี, ชุมชนบ้านบางพลับ จ. สมุทรสงคราม, ชุมชนตำบลบ้านแหลม จ. สุพรรณบุรี, ชุมชนตำบลหนองโรง จ. กาญจนบุรี, ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา จ. ชัยนาท
เพื่อเป็นการต่อยอดในการส่งเสริมการตลาดอย่างเป็นรูปธรรม ททท. ภาคกลาง จึงได้ร่วมกับทางโครงการฯ จัด Thailand Village Academy Showcase ทริปนำร่องท่องเที่ยวชุมชนภาคกลาง 3 ชุมชน 3 จังหวัด ณ วิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลถ้ำรงค์ จังหวัดเพชรบุรี เรียนรู้วิถีชีวิตของคนเมืองเพชร อันมีความผูกพันกับประวัติศาสตร์ อาชีพทางการเกษตร สวนต้นตาล ขนมหวานขึ้นชื่อ ผลิตผลและผลิตภัณฑ์อันได้จากทุกส่วนของต้นตาล ที่นำมาทำตั้งแต่อาหารยันของตกแต่งประดับบ้าน และได้ลงมือทำขนมตาลพื้นบ้าน, สานผลงานจากใบตาล, ทำตุ๊กตาจากกะโหลกตาล และทำว่าวไทย, สำหรับชุมชนที่ 2 ท่องเที่ยวชุมชนตำบลบ้านแหลม จังหวัดสุพรรณบุรี เส้นทางตามรอยเสด็จประพาสต้นรัชกาลที่ 5 เรียนรู้และลงมือตำน้ำพริกเผาโบราณ การทำขนมไทยโบราณ การทำธูปหอมสมุนไพรหลากหลายสีประจำวันเกิด ซึ่งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ล่องเรือชมบรรยากาศสองริมคลองแม่น้ำสุพรรณ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ย้อนรอยเยี่ยมชมพื้นที่ในตำนานนิราศสุพรรณ ท่านสุนทรภู่, และชุมชนที่ 3 หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์ไทรน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียนรู้อนุรักษ์วีถีเกษตรทำนา ปลูกพืชไร่ พักโฮมสเตย์ ตามรอยขนมไทยชาววังท้าวทองกีบม้า เปิดประสบการณ์ได้ลงมือทำยาหม่อง และย้อนประวัติศาสตร์กรุงเก่า ที่ยังคงบอกเล่าเรื่องราวเชื่อมโยงอดีตสู่ปัจจุบัน โดยเชิญ บริษัททัวร์ท่องเที่ยวเยาวชน, สถาบันการศึกษานานาชาติ, ตัวแทนขายท่องเที่ยวออนไลน์, สื่อมวลชน และบล็อกเกอร์ ร่วมทริปต้นแบบท่องเที่ยววัฒนธรรมสำหรับเยาวชนต่างชาติไปกับเรา ที่จะได้เรียนรู้วิถีชีวิต สัมผัสภูมิปัญญาของชาวชุมชน เรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง อันถูกถ่ายทอดโดยปราชญ์วัฒนธรรม
-||-
โครงการ Thailand Village Academy
เชิดชูวัฒนธรรม
ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยสู่ตลาดโลก
ผอ. อภิชัย กล่าวถึงจุดแข็งส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม “ประเทศไทยมีวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่บนพื้นฐานของความศรัทธา เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่สืบทอดกันมาเป็นวัฒนธรรม ที่แสดงออกในรูปแบบของพิธีกรรม และพิธีการ รวมไปถึงการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การแต่งกาย อาหารการกิน ภาษาพูด และการประกอบอาชีพ ที่ส่วนหนึ่งแสดงถึงความสามารถในเชิงช่างสร้างงานฝีมือที่งดงาม คือหนึ่งในทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่มีคุณค่าของประเทศ เมื่อก่อนนี้การเดินทางท่องเที่ยวในบ้านเรา เป็นเพียงการเดินทางไปในที่ต่างๆ เพื่อชมธรรมชาติบริสุทธิ์สวยงาม เป็นการพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่ปัจจุบันทิศทางการท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ในเส้นทางของการศึกษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โฮมสเตย์ เที่ยวชุมชนเรียนรู้วัฒนธรรม เป็นอีกรูปแบบที่กำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ได้มีโอกาสเข้าไปใช้ชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกับคนในท้องถิ่น อยู่บ้านเดียวกัน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน
และนับเป็นความลงตัวที่ ททท. มีจุดแข็งด้านส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการตลาด ส่วนกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นำจุดแข็งด้านการพัฒนา เผยแพร่ ส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานจารีตประเพณีภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเสริมสร้างค่านิยมที่เหมาะสมในสังคม สนับสนุนการนำเนื้อหาสาระทางวัฒนธรรม มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เป็นการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกัน ให้เกิดมิติของการท่องเที่ยวเรียนรู้ และเชิดชูวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ของชุมชน ถ่ายทอดความงดงามแบบอย่างไทยในทุกด้าน สื่อสารออกไปยังกลุ่มเป้าหมาย และยังเป็นการผลักดันโครงการฯ ออกไปสู่วงกว้าง ให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความแข็งแรงของวัฒนธรรมไทย เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวเยาวชนต่างชาติ ที่ชอบเรียนรู้เรื่องของวัฒนธรรมอันแตกต่าง ได้มาลองสัมผัสเสน่ห์วัฒนธรรมอย่างไทย โดยเฉพาะชุมชนคนพื้นบ้านในพื้นที่ภูมิภาคภาคกลาง ได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งภาคกลางเป็นทั้งที่ตั้งเมืองหลวงของไทย และยังเป็นศูนย์กลางการศึกษา เศรษฐกิจ และคมนาคม การเดินทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงนัก และยังมีความหลากหลายของผู้คนทางวัฒนธรรมให้ได้เรียนรู้ ผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติตั้งหลักปักฐานอยู่อย่างยาวนาน ลูกหลาน ตายาย ปู่ย่า ไม่ว่าจะเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ ญวน จีน ลาว ต่างทำมาหากินประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะปลูกข้าว ทำประมง ด้วยภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ สองริมทางช่วงฤดูต้นข้าวกำลังเติบโตจะสวยงามเขียวสดชื่นเต็มผืนนา หรือแม้แต่ช่วงข้าวออกรวงสีทองอร่าม เหมาะทั้งกับการท่องเที่ยวธรรมชาติ และเรียนรู้วัฒนธรรม ”
-||-
กลุ่มเป้าหมาย “เยาวชนต่างชาติ”
ผอ. พิชัย ยังกล่าวถึงกลุ่มเป้าหมาย “เยาวชนชาวต่างชาตินั้น จะนับตั้งแต่อายุระหว่าง 18 – 35 ปี กลุ่มเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในโครงการฯ นั้นรวมทั้งเยาวชนต่างชาติจากนานาชาติ และเยาวชนนานาชาติลูกหลาน Expat ของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและพำนักอยู่ในประเทศไทยด้วย ซึ่งมีจำนวน Expat อยู่ไม่น้อยหลายแสนคนในเมืองไทยเลยทีเดียว จากการสำรวจโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย ที่มีจำนวนกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ โดยโรงเรียนนานาชาติเหล่านี้ มีทั้งลูกหลานคนไทยที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์ รวมไปถึงกลุ่ม Gap Year (แก๊ปเยียร์) ต่างชาติ ที่กำลังมองหาประสบการณ์ต่างแดน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนพบเจอเพื่อนใหม่จากหลายชาติ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ โดยพวกเขาจะมีเป้าหมายเลือกโปรแกรมในแบบที่ต้องการ ประสบการณ์จะเป็นส่วนหนึ่งของโปรไฟล์ในเรซูเม่ ถือเป็นเรื่องที่ชาวต่างชาติให้ความสำคัญ เพราะยังมีนัยยะแสดงถึงวิสัยทัศน์ของการเปิดโลกกว้าง กิจกรรมเรียนรู้ต่างๆ ในต่างแดน เป็นทางเลือกและทางลัดในการพัฒนาทักษะ ทัศนคติ การพึ่งพาตัวเอง และการอยู่ร่วมกันในสังคม ผมเชื่อว่าระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ (7 วัน 6 คืน) ของการได้ใช้ชีวิตแบบโฮมสเตย์ ที่เราได้ร่วมกันพัฒนาที่พักโฮมสเตย์ ยกระดับสู่มาตราฐานโฮมสเตย์ไทยร่วมกับพันธมิตร “การบินไทย” จนสามารถเปิดบ้านต้อนรับ ในโครงการ Thailand Village Academy จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดทำให้เด็กๆ ได้ค้นพบตัวเองชอบหรือสนใจอะไรเป็นพิเศษได้จากสิ่งรอบตัว และกิจกรรมที่ถูกออกแบบเฉพาะนี้ จะยิ่งส่งเสริมความแน่นแฟ้นผูกพัน เข้าถึงความเป็นธรรมชาติของคนไทย ที่มีพื้นฐานความเอื้ออาทรณ์ รับรู้ถึงคุณค่าจากการได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมสื่อความหมาย กินอยู่หลับสบายภายใต้ชายคาแห่งมิตรภาพ สิ่งเหล่านี้กลับเป็นเป้าหมายที่เยาวชนต่างชาติคนรุ่นใหม่ ต่างให้ความสนใจ พวกเขารับรู้ได้ถึงคุณค่าความงดงามของวัฒนธรรมอันแตกต่าง เติมเต็มความรู้สึกในแบบที่ไม่เคยได้รับมาก่อนจากที่ไหน และเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาจะกลายเป็นนักเดินทางคุณภาพที่พร้อมเปิดโลกกว้าง และ “เมืองไทย” จะเป็นจุดหมายที่พวกเขาอยากกลับมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็เพราะมิตรภาพจากคนไทยของเรานี่ล่ะครับ”
-||-
สิ่งที่เยาวชนต่างชาติได้รับ
ผอ. พิชัย ยังกล่าวถึงสิ่งที่นักท่องเที่ยวเยาวชนต่างชาติจะได้รับ “การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยครับ สัมผัสถึงความเอื้อเฟื้อมีน้ำใจ ซึมซับความเป็นอยู่ของไทยในมุมที่มีความเกื้อกูลซึ่งกัน ดูแลกันแบบครอบครัว เป็นภาพสะท้อนกลับไปเติมเต็มพวกเขา ที่สังคมบ้านเขา เมื่อโตสู่วัยเยาวชนต้องดูแลตัวเอง แตกต่างจากสังคมบ้านเราที่ดูแลซึ่งกันไปทั้งชีวิต สัมผัสใจถึงใจ และประตูพรมแดนแห่งมิตรภาพไทยกับชาวต่างชาติเปิดกว้างยิ่งขึ้น”
-||-
ชาวชุมชนภูมิใจ “บ้านฉันมีดี”
“เมื่อหันกลับมามองชุมชนได้อะไรจากโครงการฯ นี้ แน่นอนชุมชนได้ความเข้มแข็ง ได้ความร่วมมือ ได้ความภาคภูมิใจในการแสดงศักยภาพให้คนทั่วโลกเห็นว่า “บ้านฉันมีดี” มีวัฒนธรรมอันงดงาม มีอัตลักษณ์ชุมชนที่ไม่เหมือนที่ไหนในโลก มีอาหารคาวหวานพื้นบ้านที่อร่อยล้ำ มีน้ำใจ ปราชญ์ชุมชนสืบทอดวีถีที่สื่อความหมายเข้าถึงจับใจ มีความร่วมไม้ร่วมมือทุกภาคส่วน กลายเป็นชุมชนต้นแบบแห่งการเรียนรู้ มีเอกลักษณ์ในสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ มีที่พักนอนหลับสบายคลายกังวล มีความปลอดภัย สะอาดถูกสุขอนามัย มีต้นไม้เติบใหญ่ให้ผลผลิตแบ่งกันชมแบ่งกันชิม มีความพร้อมเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวเรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้านของตัวเอง เกิดเป็นความผูกพันระหว่างนักท่องเที่ยวกับเจ้าบ้าน ความผูกพันทางใจอันเกิดจากความเอื้ออาทร ความมีน้ำใจ เป็นเสน่ห์ดึงดูดอันเป็นธรรมชาติที่ไม่เคยจางหายไปจากคนไทย เป็นอีกคุณค่าที่เติมเต็มการท่องเที่ยวไทย จูงใจให้นักท่องเที่ยวอยากกลับมาซ้ำ”
-||-
การประชาสัมพันธ์และการเปิดตลาด
ผอ. อภิชัย กล่าวว่า “การที่เราเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ชัดลงไป คือกลุ่มเยาวชนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนต่างชาติจากนานาชาติ และเยาวชนนานาชาติลูกหลาน Expat ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและพำนักอยู่ในประเทศไทย และลูกหลานคนไทยที่เรียนอินเตอร์ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย ที่จะช่วยกระจายรายได้ในระดับประเทศและชุมชน สู่การท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน โดยมีการวางแผนนำโครงการไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และขายโปรแกรมดังกล่าว อาทิ งานเพลินจิตแฟร์ ซึ่งเป็นงานประจำปียิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับชาวอังกฤษในประเทศไทย และงาน Expat community ต่างๆ อีกทั้งเพื่อเป็นการขยายฐานของตลาด เราได้มีการทำการตลาดออนไลน์ Search Engine Advertising (SEA) ด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่เยาวชนต่างชาติเริ่ม Search หาสถานที่วางแผนใช้เวลาช่วง Gap Year หรือ Student Trip โครงการ Thailand Village Academy ตั้งเป้าให้ชื่อของโครงการฯ จะเป็น Top Rank บน Google Search เพื่อเป็นอีกช่องทางเข้าถึงการค้นหาด้วยระบบออนไลน์ สื่อสารโปรดักส์ท่องเที่ยวจุดหมายในคอนเซ็ปต์ที่เยาวชนต่างชาติมองหา ตอบโจทย์ด้วยความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมในโครงการฯ ฉีกไปจากจุดหมายท่องเที่ยวแบบเดิมๆ อย่างที่ชาวต่างชาติเคยรู้จัก อีกทั้งบล็อกเกอร์ต่างชาติ ยังเป็นแนวร่วมสำคัญ ในการเป็นกระบอกเสียงของโครงการนี้อีกด้วย และแน่นอนเราไม่มองข้ามคู่แข่ง Youth Tourism Destinations ในระดับเอเชียแปซิฟิก เพื่อนบ้านคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน บาหลี เวียดนาม เหล่านี้เป็นจุดหมายของกลุ่มเยาวชนต่างชาติด้วยเช่นเดียวกัน เคยมีองค์กรที่ recruit expat จากทั่วโลกเพื่อมาทำงานในแถบเอเชียแปซิฟิก ในข้อมูลหนึ่งกล่าวไว้ ถ้าต้องการเข้าใจเอเชี่ยนเคาว์เจอร์ ต้องมีประสบการณ์ที่ประเทศไทยก่อน เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งรวมทุกสิ่งของเคาว์เจอร์ ทุกอย่างของความเป็นเอเชียในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เป็นประเทศที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่า expat ที่ผ่านประสบการณ์เคาว์เจอร์ในเมืองไทยมาแล้ว HR จะพิจารณาเป็นพิเศษจัดสรรให้ไปอยู่ประเทศแถบเอเชียได้ ซึ่งเป็นอีกมิติที่ทำให้เห็นภาพชัดว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมแถบเอเชีย และโครงการ Thailand Village Academy ยังตอบโจทย์ของการท่องเที่ยวเรียนรู้วัฒนธรรมอย่างแท้จริงอีกด้วย
-||-
ความภาคภูมิใจ . ประสบการณ์ . ปริญญาชีวิต
สำหรับโครงการ Thailand Village Academy ในปีนี้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง ให้การสนับสนุน สำหรับเยาวชนต่างชาติจากนานาชาติ ที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านประสบการณ์ท่องเที่ยวเรียนรู้ จากชุมชนใดชุมชนหนึ่งใน 7 ชุมชนภาคกลาง จะได้รับหมวกปริญญา และเสื้อครุยส์ผ้าขาวม้า จากอะคาเดมี่อีกด้วย
จึงขอเชิญชวน สถาบันการศึกษา, มหาวิทยาลัยนานาชาติ หรือองค์กร Corporate ต่างๆ จัดทริปพาเยาวชนมาเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยววัฒนธรรม ที่ชุมชนภาคกลางทั้ง 7 ชุมชน ที่ได้รับคัดเลือกเป็นชุมชนต้นแบบวัฒนธรรมสำหรับเยาวชนต่างชาติ ใน โครงการ Thailand Village Academy นะครับ รับรองได้ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เปิดโลกการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สนุกและประทับใจที่สุดครับ”
ชมโปรแกรมและติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม หรือจองแพ็กเกจท่องเที่ยว ได้ที่
www.thailandvillageacademy.com