TOP

ท่องเที่ยววิถีชุมชน คนตาล บ้านถ้ำรงค์ สืบสานวัฒนธรรมเมืองพริบพรี (เพชรบุรี) กับ “THAILAND VILLAGE ACADEMY”

เพราะการท่องเที่ยว ไม่ได้มีเพียงต้นทุนทางธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวอันงดงาม แลนมาร์คฮอตฮิต หรือดีไซน์โฮเทลที่สะดวกสบายเท่านั้น มิติของการท่องเที่ยวยังมีความหลากหลาย ที่พร้อมเปิดบ้าน เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการอันแตกต่างของนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก โดยเฉพาะเปิดมิติการท่องเที่ยวชุมชนสัมผัสลึกซึ้งถึงวัฒนธรรม และจดจำไทยแลนด์แดนแห่งความสุขนี้ด้วยรอยยิ้ม และเต็มอิ่มกับทุกกิจกรรมที่ทำให้ซึมซับ พร้อมเก็บเอาความประทับใจกลับไปสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทาง

ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ติดเครื่องเดินหน้าส่งเสริมต่อยอดการท่องเที่ยวไทยในหลากมิติอย่างต่อเนื่อง ให้ทุกแคมเปญ ทุกเส้นทาง เข้าไปนั่งอยู่ในใจลำดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ โดยมุ่งเป้าเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจท่องเที่ยวในระดับประเทศ และมุ่งหวังกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนอีกด้วย

THAILAND VILLAGE ACADEMY” โครงการท่องเที่ยวชุมชนเรียนรู้วัฒนธรรม โดยมี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคกลาง เป็นแกนนำ ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, เว็บไซต์ Hello Local, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด สร้างสรรค์พัฒนาชุมชนท่องเที่ยว จำนวน 22 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อยกระดับให้เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมไทย สำหรับเยาวชนทั่วโลก ขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ทำการคัดเลือกชุมชนแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม โดยพิจารณาตามเกณฑ์ของการคัดเลือก ต้องเป็นชุมชนที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรม รวมถึงมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น อันควรค่าแก่การสืบสานอนุรักษ์ และต้องมีความตั้งใจที่จะนำต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนตัวเอง มาต่อยอดเพิ่มคุณค่าเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยปราชญ์ชุมชนที่มีความรู้อย่างลึกซึ้งในวัฒนธรรมชุมชนจะเป็นเสมือนผู้ช่วยพระเอก สามารถถ่ายทอดให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวอย่างเข้าถึง และทำให้สนุกสนานกับการมีส่วนร่วมได้ในทุกกิจกรรม ทั้งนี้มีชุมชนผ่านเกณฑ์จำนวน 70 ชุมชนจากทั่วประเทศ จากนั้นนำมาสำรวจความคิดเห็นจากนักท่องเที่ยว เพื่อค้นหาชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านความชื่นชอบและเป็นที่สนใจมากที่สุด ได้จำนวน 22 ชุมชน จาก 70 ชุมชน เพื่อนำมาต่อยอดสร้างสรรค์โปรแกรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้เหมาะกับเยาวชนต่างชาติโดยเฉพาะ

แม้แต่ในด้านชุมชน ทางโครงการฯ ยังได้เตรียมความพร้อมด้วยการจัดกิจกรรมสัมมนา อบรม เพื่อเตรียมความพร้อม ความเข้าใจ ให้กับชุมชน ทางด้านการเป็นนักสื่อความหมายชุมชน และการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อการตลาดและการประชาสัมพันธ์อีกด้วย ที่ผ่านมาทางโครงการฯ ยังจัดกิจกรรม The Village Story เปิดโอกาสให้บล็อกเกอร์เยาวชนทั่วโลก ที่มีความสามารถในการเล่าเรื่องราวท่องเที่ยว และมีทักษะในการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทาง ให้สมัครเข้าร่วมภารกิจแข่งขันชิงเงินรางวัล มูลค่ากว่า 500,000 บาท (ห้าแสนบาท) โดยมีบล็อกเกอร์เยาวชน จำนวน 1,423 คน จาก 86 ประเทศทั่วโลก สมัครเข้าร่วมกิจกรรมนี้ และมีผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมแข่งขันเพียง 44 คน จาก 17 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย, อังกฤษ, รัสเซีย, เนปาล, สิงค์โปร์, มาเลเซีย, ภูฏาน, อิสราเอล, อิตาลี, ยูเครน, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เปรู, ออสเตรเลีย, ตูนิเซีย, ไนจีเรีย และ ประเทศไทย ผู้แข่งขันทุกคนต้องใช้ชีวิตกับชุมชน 6 วัน เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชุมชนอย่างไทย กับ “ปราชญ์ชุมชน” อย่างใกล้ชิด โดยผู้แข่งขันต้องถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนผ่านมุมมองจากประสบการณ์ตรง โปรโมตสร้างแรงบันดาลใจผ่านสื่อออนไลน์ และทางโครงการฯ ได้ผู้เข้ารอบรับ “รางวัล Most Talented Story Curation” จำนวน 5 อันดับ ดังนี้ อันดับ 1. ประเทศมาเลเซีย โปรโมต ชุมชนบ้างเชียง จังหวัดอุดรธานี, ประเทศไทย โปรโมต ชุมชนตำบลบ้านแหลม จังหวัดสุพรรณบุรี | อันดับ 2 ประเทศภูฏาน โปรโมต ชุมชนบ้านภู จังหวัดมุกดาหาร, ประเทศไทย โปรโมต ชุมชนแหลมสัก จังหวัดกระบี่ | อันดับ 3 ประเทศอินเดีย โปรโมต ชุมชนตำบลบ้านแหลม จังหวัดสุพรรณบุรี, ประเทศไทย โปรโมต ชุมชนบ้านลาวเวียง จังหวัดอุตรดิตถ์ | อันดับ 4 ประเทศอิสราเอล โปรโมต ชุมชนเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย, ประเทศไทย  โปรโมต ชุมชนสรรพยา จังหวัดชัยนาท | อันดับ 5 ประเทศไนจีเรีย โปรโมต ชุมชนพรหมโลก จังหวัดนครศรีธรรมราช, ประเทศไทย โปรโมต ชุมชนหล่อโย จังหวัดเชียงราย

“ผอ. อภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ” ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เป็นที่น่ายินดีที่ชุมชนท่องเที่ยววัฒนธรรมในภาคกลาง 7 ชุมชนจาก 22 ชุมชน อันได้แก่ หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โฮมสเตย์ไทรน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยพวน จังหวัดนครนายก, วิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชน ตำบลถ้ำรงค์ จังหวัดเพชรบุรี, ชุมชนบ้านบางพลับ จังหวัดสมุทรสงคราม, ชุมชนตำบลบ้านแหลม จังหวัดสุพรรณบุรี, ชุมชนตำบลหนองโรง จังหวัดกาญจนบุรี และ ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ได้รับคัดเลือกให้เป็นชุมชนต้นแบบวัฒนธรรมสำหรับเยาวชนต่างชาติ ใน “โครงการ Thailand Village Academy” ที่สร้างสรรค์โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และเพื่อเป็นการต่อยอดในการส่งเสริมการตลาดอย่างเป็นรูปธรรม ททท. ภาคกลาง ร่วมกับทางโครงการฯ ได้จัด “กิจกรรม Thailand Village Academy Showcase” นำร่องทริปชุมชนท่องเที่ยววัฒนธรรม พร้อมด้วย บริษัททัวร์ท่องเที่ยวเยาวชน, สถาบันการศึกษานานาชาติ, ตัวแทนขายท่องเที่ยวออนไลน์, สื่อมวลชน และ บล็อกเกอร์ ร่วมกิจกรรมทริปต้นแบบท่องเที่ยววัฒนธรรมสำหรับเยาวชนต่างชาติ ณ ชุมชนตำบลถ้ำรงค์ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเยาวชนที่มาที่นี่จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยอย่างสนุกสนาน ผ่านการถ่ายทอดของปราชญ์วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของชุมชน อาทิเช่น เรียนรู้วิถีชีวิตชาวสวนตาลของชุมชน, ขนม และ อาหารจากตาล, การใช้ใบตาล และ ลูกตาล นำไปประดิษฐ์เป็นงานจักรสานอันลือชื่อของจังหวัดเพชรบุรี และยังได้เรียนรู้การทำว่าวไทยอีกด้วย ททท. ขอเชิญชวน สถาบันการศึกษา, มหาวิทยาลัยนานาชาติ, องค์กร Corporate ต่างๆ ตามรอยทริปพาเยาวชนมาเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยววัฒนธรรม ที่ชุมชนภาคกลางทั้ง 7 ชุมชนนี้ได้แล้ว เดินทางสะดวกไม่ไกลจากกรุงเทพฯ รับรองได้ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เปิดโลกการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่สนุกและประทับใจที่สุดครับ”

 

“THAILAND VILLAGE ACADEMY”

ชวนท่องเที่ยววิถีชุมชน คนตาล บ้านถ้ำรงค์

สืบสานวัฒนธรรมเมืองพริบพรี

“บ้านถ้ำรงค์” เป็นหนึ่งในชุมชนเข็มแข็งของจังหวัดเพชรบุรี ที่ ททท. ภาคกลาง เน้นโชว์ศักยภาพชุมชน และวัฒนธรรมในภาคกลางของไทย พร้อมมุ่งเป้าเปิดตลาดท่องเที่ยวเยาวชนไปทั่วโลก AROUND ONLINE เป็นหนึ่งในคณะร่วมเดินทางนำร่องยัง “ชุมชนบ้านถ้ำรงค์” ขยับเข้าใกล้ “วิถีคนตาล ที่คงลมหายใจแห่งลุ่มน้ำเพชร” จุดหมายท่องเที่ยวภาคกลางแห่งการเรียนรู้วัฒนธรรม เมืองดงตาล สัญลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี

 

“หลวงพ่อดำ” อายุ 1,000 ปี

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่ชุมชน ตำบลถ้ำรงค์

“คุณชัชชัย นาคสุข” (พี่น้อย) รองประธานท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านถ้ำรงค์ พร้อมพี่ป้าน้าอาชาวชุมชน ให้การต้อนรับด้วยฟ้อนรำกลองยาว เสน่ห์ที่ชาวบ้านถ้ำรงค์คงความเป็นอัตลักษณ์ ทักทายแขกผู้มาเยือน เมื่อแวะมาถึงถิ่นตาลเมืองเพชร แน่นอนว่าต้องได้ลองลิ้มชิม “ขนมตาล” สดใหม่หอมหวานเคี้ยวเพลินเกินห้ามใจ กินคู่กับ “น้ำตาลสด” ผลผลิตที่ได้จากช่อดอกของต้นตาล ดับกระหายคล้ายร้อนต้อนรับคณะ

ก่อนพาเข้ากราบ “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยทวารวดี ที่อยู่คู่ชุมชนนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ประดิษฐานใน “ถ้ำรงค์” คงความเก่าแก่ยาวนานมาเกือบ 1,000 ปี อัศจรรย์ที่ฐานชุกชีจนถึงช่วงเอวขององค์พระ แกะจากผนังหินถ้ำเป็นชิ้นเดียว ตั้งแต่ช่วงเอวขึ้นไปจนถึงเศียรพระแกะจากหินทราย อยู่ในอิริยาบทท่ายืนปางห้ามญาติ ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวบ้านถ้ำรงค์มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก

และตรงข้ามถนนอีกฟากของถ้ำหลวงพ่อดำ เป็นที่ตั้ง “วัดถ้ำรงค์” วัดเก่าแก่ศูนย์รวมความศรัทธาของคนในชุมชน มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2509 (ตามคำบอกเล่า) ความศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏ เคยนิมนต์พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ, หลวงพ่อไห วัดบางทะลุ มาสวดมนต์ในถ้ำเกิดปรากฎการณ์อัศจรรย์ เสียงโบสถ์ลั่นฟ้าร้อง โดยรอบของพระอุโบสถ งดงามด้วยศิลปะลวดลายปูนปั้นอันประณีตฝีมือช่างเมืองเพชร หนึ่งในช่างสิบหมู่ของไทย ภายในพระอุโบสถจะประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังคงสีสันสวยสด ด้วยวิธีการหมักสีจากยางหมันตามแบบโบราณ โบสถ์ที่นี่มีทางเข้าออกทางเดียว เรียกว่าโบสถ์มหาอุตม์ ตามคำบอกเล่าของคนโบราณ จะทำพิธีปลุกเสกเรื่องคงกระพันชาตรี ถือว่าเป็นสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของชุมชน

 

“นั่งรถราง” สัมผัสวิถีคนตาล

เดินทางต่อยังจุดหมาย “สวนตาลลุงถนอม” ด้วยพาหนะ “รถนำเที่ยว”ที่คนชุมชนเรียก “รถราง” ช่วยให้การเดินทางภายในชุมชนเป็นไปด้วยความสะดวกสบาย รองรับนักท่องเที่ยวได้ราว 20 ที่นั่ง รับลมชมวิวได้รอบทิศ พาเราลัดเลาะสู่จุดหมายสัมผัสวิถีไทย ถือได้ว่าเป็นวิถีการจัดการท่องเที่ยวชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม พร้อมรับฟังเรื่องราวเสน่ห์แห่งวิถีชีวิตชุมชน จากไกด์ชุมชนผู้บรรยาย ความเป็นกันเองของชาวชุมชนบนใบหน้าแห่งความสุขเปื้อนยิ้ม ที่รอผู้มาเยี่ยมเยือน รับรู้คุณค่าแห่งวัฒนธรรม สัมผัสวิถึพื้นบ้านของพวกเขาสักครั้ง

 

เรียนรู้วิถีคนตาล ณ “สวนตาลลุงถนอม”

ในอดีตชุมชนบ้านถ้ำรงค์อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าตาล ไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาวนับร้อยปี ชีวิตของคนที่นี่จึงผูกพันกับต้นตาลอย่างแยกไม่ออก พืชเศรษฐกิจสำคัญที่ใช้หล่อเลี้ยงทุกชีวิตในชุมชนมาช้านานตั้งแต่บรรพบุรุษ “ลุงถนอม ภู่เงิน” ปราชญ์ชาวบ้านที่สนใจในการเพาะขยายพันธุ์ต้นตาลอย่างจริงจัง ด้วยมุ่งหวังอนุรักษ์ต้นตาลให้เป็นอาชีพทำกินของครอบครัว จนสามารถคิดค้นวิธีควบคุมระดับความสูงของต้นตาล เพื่อง่ายต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต “สวนตาลลุงถนอม” ทุกวันนี้จึงกลายเป็นพื้นที่สีเขียว ที่ปลูกต้นตาลมากที่สุดของจังหวัดเพชรบุรี ถึง 450 ต้น บนเนื้อที่ 10 ไร่ พร้อมเปิดสวนต้อนรับนักท่องเที่ยวให้เข้าถึงวิถีของคนตาลเมืองเพชร

ที่นี่เป็นเสมือนห้องเรียนธรรมชาติ ให้เราได้เรียนรู้ถึงประโยชน์ของตาล อะเมซิ่งกินใช้ได้ตั้งแต่ราก ต้น ใบ ดอก และ ผล “พี่อำนาจ” ผู้สืบทอดสวนตาลของลุงถนอม เล่าเรื่องราวให้เราเข้าถึงสรรพคุณของต้นตาลเป็นด่านแรกก่อนที่เราจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ตรง ไม่ว่าจะเป็นวิธีสกัดน้ำตาลสดจากช่อดอกตาล หรือจาวตาลที่สามารถกินได้แบบสดหวานมัน แม้แต่ผลตาลนำไปประกอบอาหาร ทำขนม และใบตาลนำไปตากแห้งทำจักสานสินค้าโอทอปขึ้นชื่อ

 

เมนูเด็ดจากตาล ที่ “บ้านถ้ำรงค์”

หลังจากได้รู้และว้าวกันไปแล้ว กับดงตาลแสนมหัศจรรย์ และต่างจินตนาการถึงเมนูอาหารพื้นบ้านตรงหน้า ที่จะได้ลิ้มลองชิมฝีมือเชฟชุมชน รังสรรค์จากวัตถุดิบส่วนต่างๆ ของต้นตาลที่เราไปสัมผัสกันมาแล้วนี่เอง “พี่น้อย – รองประธานท่องเที่ยวโดยชุมชนฯ” ยังออกปาก พระเอกตัวจริงที่เป็นสุดยอดเมนูเด็ด หารับประทานที่อื่นคงไม่อร่อยเท่าที่บ้านถ้ำรงค์ นั่นคือ “แกงหัวตาล” หรือเรียก “แกงโตนด” ชาวบ้านบอกกับเราว่า แต่ก่อนนี้แกงหัวตาล ไม่ใช่ว่านึกจะอยากกินเมื่อไรก็ได้ เพราะกรรมวิถีในการเก็บลูกตาลโตนด ไม่สามารถทำได้ง่าย คุณพ่อบ้านต้องออกไปโยงตาล (เก็บลูกตาล) เพื่อเอาส่วนหัวตาลที่อ่อน เนื้ออ่อนๆ มาทำ “แกงหัวตาล” จึงไม่ใช่แค่อาหารแสนอร่อย แต่มีนัยยะของกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวเลยทีเดียว ส่วนนางเอกเมนูของหวาน “ลูกโตนด” หารับประทานที่ดงตาลบ้านถ้ำรงค์ได้ทุกฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน นอกจากนี้ยังได้ชิม “แกงศรีนวลใส่หัวปลี” ที่หน้าตาและรสชาติคล้ายต้มข่าไก่ “ทอดมันมะละกอทอด” และ “น้ำพริกกะปิแก้มปลาทูทอด” จิ้มกับผักริมรั้วปลอดสารพิษที่ชาวบ้านปลูกเอง หรือถ้าติดใจในความหอมและรสชาติเข้มข้นของน้ำพริกแกงสูตรโบราณเมืองเพชร ทั้งน้ำพริกแกงเผ็ด และน้ำพริกแกงส้ม ที่นี่กลุ่มแม่บ้านเค้ารวมตัวกัน นำผักสวนครัวปลอดสารพิษที่ปลูกในชุมชน มาทำน้ำพริกแกงออกวางจำหน่าย ให้ซื้อกลับไปปรุงเองที่บ้านได้เช่นกัน

และพวกเรายังได้มีส่วนร่วมทำขนมตาล ทำสบู่จากเนื้อตาล ของดีของฝากแปรรูปทำมือ เป็นประสบการณ์ท่องเที่ยวครบรส สัมผัสทั้ง 5 อย่างแท้จริง ตั้งแต่ชมด้วยตา ฟังเรื่องราวอันทรงคุณค่า สูดกลิ่นหอมของธรรมชาติ รับรสจากอาหาร และสนุกสนานจากการได้ลงมือทำ ณ “ชุมชบ้านถํ้ารงค์”

 

จักสานใบตาล

ของที่ระลึกมาตรฐานโอทอปของตำบล

เยี่ยมชมบ้านตุ๊กตากะโหลกตาล

เมื่อหนังท้องตึงจากความอิ่ม เพื่อไม่ให้หนังตาหย่อน โปรแกรมถัดไปจะได้ลงมือสนุกสนาน สร้างสรรค์ผลงานด้วยสองมือของตัวเอง ไม่น่าเชื่อว่าในชุมชนบ้านถ้ำรงค์แห่งนี้ มีช่างฝีมือดีขึ้นชื่อเรื่องงานจักสาน ชนิดที่เห็นแล้วทึ่ง ชิ้นผลงานสร้างสรรค์สานสวยละเอียดนี้ วัตถุดิบจากส่วนของ “ใบตาล” นั้นเอง นอกจากให้ร่มเงาแล้ว คุณสมบัติความเหนียว ยังนำมาต่อยอดชิ้นงานเพิ่มมูลค่าเข้าไปอีก ยกนิ้วให้กับความช่างคิด ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง ปลาตะเพียน, กุ้งนาง, พวงมาลัย, โคมห้อย, ดอกไม้ สามารถถ่ายทอดเรื่องราวผ่านความสุขเรียบง่าย วิถีท่องเที่ยวนอกกระแส แต่ได้ซึมซับเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีลมหายใจ แถมเรายังได้ความภูมิใจกลับไปจากการได้ลงมือสานต่อบอกเล่าเรื่องราว ที่นี่เป็นดั่งลานกิจกรรมทำมือ นั่งพักผ่อนสบายๆ ยังได้อุดหนุนศิลปะพิ้นบ้านกระจายรายได้ในชุมชนอีกด้วย

ถัดบ้านไปอีกหลังหากได้ชมละครดัง “ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง” ฉากความน่ารักน่าชังของตุ๊กตาน้องรำพึง หรือ สะพรึง นุ่งผ้าโจงห่มสไบของเล่นเด็กสมัยโบราณ นี่เลยฝีมือ “คุณตาผุด นามมั่น” ภูมิปัญญาแห่งบ้านม่วงงาม ที่นำเอากะลาตาล และวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ ชิ้นส่วนต่างๆ ของต้นตาล เมล็ดตาลที่ผ่านการยีโตนดแล้ว นำมาประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาบ้าง สัตว์ชนิดต่างๆ ตามจินตนาการ นก ช้าง ควาย ลิง กระรอก รวมถึง “กระดิ่งกระดองตาล” เครื่องแขวนที่มีเสียงดังหวานไพเราะยามลมพัดผ่าน ศิลปะแฮนด์เมดจากสองมือคุณตาผุด กับ คุณยายทองใบ คู่ทุกข์คู่ยาก สะท้อนคุณค่าชีวิตแบบไทยโบราณที่ยังคงรักษาไว้ กาลเวลาเดินหน้าเช่นเดียวกับสองตายายที่ไม่เคยหยุดนิ่ง นั่งต้อนรับแขกผู้มาเยือนถึงชานบ้าน ให้พวกเราได้อุดหนุนตุ๊กตาในราคามิตรภาพ

 

“ว่าว” ทำมือ 

ที่บ้านถ้ำรงค์มีการสืบสานอนุรักษ์การเล่นว่าวไว้อย่างเหนียวแน่น ปักหมุด ณ “บ้านทำว่าว” เราจะได้เห็นว่าวจุฬาขนาดเท่าฝาบ้าน สัญลักษณ์ที่บอกถึงจุดหมายบ้าน “พี่โอ-อุดม โฉมงาม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และรองประธานชุมชนท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี บ้านถ้ำรงค์” ช่างทำว่าวฝีมือดีการันตีด้วยรางวัลชนะการประกวดว่าว และเป็นผู้ตัดสินการแข่งขันชักว่าวในหลายปีๆ ที่ผ่านมา ได้เล่าเรื่องราวให้ได้รู้จักว่าวชนิดต่างๆ และบอกเคล็ดลับของการทำโครงว่าว ที่บอกกับเราว่าบินได้ทุกตัว ก่อนให้ลงมือสร้างสรรค์ประดิษฐ์ว่าวด้วยตัวเองตามจินตนาการ จะเห็นได้เลยว่าการตกแต่งว่าวให้สวยงาม การเลือกใช้สีสันที่ส่งเสริมกัน และความถ่วงดุลของเชือกกับตัวว่าว ถือเป็นอีกศาสตร์ที่ต้องอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวและหัวศิลปะไม่น้อย

ที่บ้านทำว่าวแห่งนี้มีผลงานว่าวตัวเล็กใส่กรอบไม้ตาลสวยงาม ให้เลือกซื้อหาเป็นของขวัญของฝาก ไม่ว่าจะเป็นว่าวจุฬาเงิน จุฬาทอง ปักเป้า เพลิดเพลินสนุกสนานได้เรียนรู้ทั้งวัฒนธรรมการเล่นว่าว ลงมือทำ และนำไปทดลองบิน ก่อนจะโบกมือลาชุมชนบ้านถ้ำรงค์ในทริปนี้ ที่ฝากทั้งรอยยิ้ม ความทรงจำ ความประทับใจ และแน่นอนว่าจากนี้ไป บ้านถ้ำรงค์คงได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวมากมายเร็วๆ นี้ จากเยาวชนทั่วโลกที่รักในวัฒนธรรมไทย

 

เช็คอิน “นาตาชม คอฟฟี่”

ร้านกาแฟบรรยากาศดี เซลฟี่กับทุ่งนาและต้นตาล

ไอเดียเก๋ของคาเฟ่กลางทุ่งนา ที่แฮงเอาท์ชื่อว่า “นาตาชม คอฟฟี่” ยกเอาเสน่ห์ชนบทธรรมชาติแบบบ้านนา ต้นตาล สัญลักษณ์เมืองเพชรบุรี เนรมิตให้กลายเป็นที่ปักหมุดหมายเก๋ๆ ต้อนรับนักเดินทางแวะแชะภาพเช็คอิน ฟินนั่งชิลรับลมชมวิวนาผืนกว้างสุดตา สั่งเครื่องดื่มเย็นๆ เอกเขนกเร้นกายในกระท่อมปลายนาส่องนกกินปลา โดยเฉพาะวิวมิติท้องฟ้ายามอาทิตย์อัศดง ขับให้ทิวตาลสวยเด่นจับใจ เดินเล่นบนสะพานไม้ที่ทอดตัวยาว ให้ได้ย้อนกลับไปคิดถึงคำกล่าวของท่าน “สุนทร ภู่” ในบทกวีนิราศเมืองเพชร ความตอนหนึ่งว่า “ทุกเขตแคว้นแดนพริบพรี เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล” จากวันวานแม้เวลาจะผ่านไป ต้นตาลก็ยังคงเป็นดั่งลมหายใจของคนตาลเมืองเพชร (พริบพรี) ตลอดกาล

 

 อัศจรรย์ “ถ้ำเขาหลวง” เมืองเพชร

เพชรบุรี หรือเรียก เมืองพริบพรี นอกจากจะเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อันปรากฏเป็นหลักฐานมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แล้ว ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมได้จากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองเพชรตั้งแต่อดีตกาล ความเลื่อมใสศรัทธาสื่อผ่านศาสนสถานสำคัญ อย่างวัดวาอาราม โดยเฉพาะวัดถ้ำที่สร้างอยู่บนภูเขาน้อยใหญ่ทั่วจังหวัดเพชรบุรี “ถ้าเขาหลวง” สันนิษฐานว่าถูกค้นพบก่อนยุคกรุงรัตนโกสินทร์ จากการที่พบพระพุทธรูปโบราณแบบอู่ทองสมัยอยุธยาตอนต้นและพระพุทธรูปมากมายภายในถ้ำ อีกหลักฐานจากวรรณคดี “นิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่” บรรยายถึงสภาพภูมิประเทศ พระเจดีย์ และพระพุทธไสยาสน์ ปูชนียวัตถุที่สำคัญในถ้ำ และจาก “นิราศเขาหลวง” ประพันธ์ขึ้นโดยขุนวรการในสมัยรัชกาลที่ 5

ตามหลักฐาน “วัดถ้ำเขาหลวง” นั้นสร้างขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระองค์มีพระราชประสงค์สร้างอารามขึ้นภายใน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระชนกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ที่ครั้งหนึ่งเคยเสด็จประพาสมายังถ้ำแห่งนี้ และโดยโปรดฯ ให้สร้างพระพุทธรูปเพิ่มเติมและหนึ่งในนั้นมีการประทับตราประจำรัชกาลที่ 1-5 ไว้ที่ฐานพระ ภายในถ้ำเขาหลวง แบ่งเป็น 4 คูหา มีความวิจิตรงดงามเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อย จุดเด่นที่มีช่องเขาให้แสงธรรมชาติลอดผ่าน ยามดวงอาทิตย์ขึ้นตรงตำแหน่งของช่องเขานี้ จะเกิดลำแสงตกกระทบแนวหิน ให้ความสว่างและมิติแห่งแสงอันงดงาม ใกล้กับบริเวณลำแสงเป็นที่ประดิษฐานหสวงพ่อถ้ำหลวง ถัดไปเป็นพระพุทธไสยยาสน์ขนาดองค์ 6 เมตร พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทแกะสลักจากศิลา ลักษณะลวดลายมงคล 108 ประการในตารางเต็มฝ่าพระบาท ลายเหล่านี้จัดเรียงตามคติไตรภูมิ รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดฯ ให้สร้างบันไดคอนกรีตยาวประมาณ 10 เมตร ตั้งแต่เชิงเขาไปจนถึงเบื้องล่างของถ้ำ ทำให้การเดินทางเข้าสู่ตัวถ้ำไม่ลำบาก เป็นอีกแลนมาร์กอันซีนเพชรบุรีที่พลาดไม่ได้

 

สืบสานตำนานหนังใหญ่

ณ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดพลับพลาไชย 

ปราชญ์ชุมชน “คุณโฟล์ค-ปภังกร จรรยงค์ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี ได้เล่าเรื่องราวที่มาของเมืองพริบพรี (เพชรบุรี) ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพชรบุรีเป็นเมืองที่ไม่ได้ถูกเผาทำลายอย่างอยุธยา และสุโขทัย มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาอย่างยาวนานจนปัจจุบัน จากการขุดพบเครื่องไม้เครื่องมือการใช้งานในชีวิตประจำวันบริเวณเขาย้อยและอำเภอท่ายาง ในยุคทวารวดีเป็นยุครุ่งเรืองของเพชรบุรีที่มีการติดต่อค้าขายทางน้ำ และพบว่ามีฐานเจดีย์ยุคทวารวดีปรากฎเป็นหลักฐานที่อำเภอชะอำ จนมาถึงในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พบปราสาทขอมอยู่กลางเมืองเพชร ซึ่งอยู่ห่างจากเขมรประมาณ 100 กิโล และ “วัดกำแพงแลง วัดที่ก่อด้วยศิลาแลงจึงเป็นหลักฐานสำคัญ ที่ปรากฏแสดงให้เห็นเด่นชัดถึงเส้นทางการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสมัยสุโขทัย พบว่าหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ปรากฏเนื้อความ “เพชรบุรีอยู่ในราชอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย” ทิ้งร่องรอยการสืบต่อของผู้คนเพชรบุรี จนได้รับการขนานนามว่า “เพชรบุรีคืออยุธยาที่ยังคงมีชีวิตอยู่”

สืบต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2137 สมเด็จพระเอกาทศรถเลือกพื้นที่ดั้งเดิมของวัดพลับพลาไชยแห่งนี้ เป็นที่มั่นในการประชุมกองทัพของทหารอยุธยา ก่อนไปตีพม่าทางฝั่งตะนาวศรี และในยุคปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ราวปี พ.ศ. 2229 – 2310 “วัดพลับพลาไชย” จึงได้ถูกสร้างขึ้น ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 4 พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยบรรดาขุนนางพ่อค้าคหบดีและประชาชนรวมทุนกันสร้างวัด สถาปัตยกรรมของวิหารที่ประดิษฐานขององค์พระคันธารราช จะเป็นช่วงปลายสมัยอยุธยาลักษณะจะแอ่นทรงเรือสำเภา หรือเรียกตกท้องช้าง และตัวโบสถ์วิหารจะมี 3 ประตู จากปกติทั่วไปจะมีเพียงประตูเดียว

จนปี พ.ศ. 2412 หลวงพ่อฤทธิ์ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ท่านมีความสนใจทางด้านศิลปศาสตร์ และวิทยาการต่างๆ มีความชำนาญรอบรู้ศิลปะหลายแขนง ทั้งด้านจิตรกรรม ประติมากรรม การแกะสลักไม้ รวมถึงการแกะสลักหนังใหญ่ ท่านได้ระดมลูกศิษย์ที่มีฝีมือมาแกะสลักหนังใหญ่เรื่อง “รามเกียรติ์” กว่า 200 ตัว ที่มีความสูงราว 1 เมตร โดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นสถานที่ฉลุหนังใหญ่ และท่านเป็นผู้ก่อตั้งคณะหนังใหญ่วัดพลับพลาไชยที่มีชื่อเสียง และเคยทำการแสดงหน้าพระที่นั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มาแล้วในงานบำเพ็ญพระราชกุศลโอกาสครบรอบปีของพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภชสินพระชนม์ ณ บริเวณปะรำพระราชพิธีก่อพระฤกษ์พระที่นั่งบ้านปืน ปัจจุบันได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ภายในวิหารพระคันธารราช และคงเหลือหนังใหญ่ที่เก็บรักษาอย่างดีเพียงจำนวน 32 ตัวเท่านั้น ภายหลังที่เคยเกิดเพลิงไหม้วัดพลับพลาไชย ในปี พ.ศ. 2458 ลมหายใจของศิลปะเก่าแก่หนังใหญ่ยังคงบอกเล่าเรื่องราว

 

“ถอดรหัส วัดเกาะ ชุมชน 300 ปี”

แล้วก็ได้มาถึงจุดหมายสุดท้ายของทริป Thailand Village Academy Showcase ณ “ชุมชนโบราณวัดเกาะ” ชุมชนแห่งสายน้ำเพชรบุรีเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมไทย-จีน ในสมัยก่อนวัดเกาะถูกโอบล้อมด้วยสายน้ำที่ไหลผ่านรอบด้านจนมีสภาพเป็นเกาะ โดยมี “วัดเกาะแก้วสุทธาราม เป็นศูนย์กลางชุมชน วัดที่มีความเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สถาปัตยกรรมแบบตกท้องช้าง หรือเรียกแอ่นเรือสำเภา ส่วนอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมผนังแบบลับแลง และเสามีการย่อมุมสิบสอง ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถสวยงามลวดลายดั้งเดิม ลายเส้นของภาพยังคงมีความคมชัดและสมบูรณ์ ระบุปีที่เขียน พ.ศ. 2277 ทำให้เชื่อได้ว่าปีที่วาดตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และชุมชนวัดเกาะนี้น่าจะมีอายุกว่า 300 ปีมาแล้ว

พระอุโบสถเล็กๆ ที่ผ่านกาลเวลา และได้รับการบูรณะมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ภายในประดิษฐานองค์พระประธานสมัยอยุธยาปางสมาธิ บนผนังอุโบสถจิตรกรรมฝาผนัง บอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติผ่านฝีมือช่างเมืองเพชร ที่มีความงดงามแปลกตา และให้แปลกใจเมื่อตามธรรมเนียมนิยมเรามักพบเจอการเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ อยู่บนผนังอุโบสถเบื้องหน้าองค์พระประธาน แต่ที่วัดเกาะกลับเป็นเรื่องราว “จักรวาล” และเขียนภาพ “มารผจญ” ที่ผนังเบื้องหลังพระประธาน เหตุเพราะสมัยอยุธยาไม่สามารถวาดภาพสามมิติได้ และหากสังเกตองค์พระประธานวัดเกาะอยู่ในปางสมาธิ ภาพผจญมารจึงอยู่ในเรื่องราวสมาธิก่อนการตรัสรู้ เป็นที่มาควรรู้ของภาพมารผจญ ที่อยู่เบื้องหลังองค์พระนั่นเอง และหากองค์พระพุทธเจ้าอยู่ในปางตรัสรู้ ภาพผจญมารจึงจะอยู่ด้านหน้า แล้วภาพจักรวาลจะเคลื่อนที่ไปอยู่ด้านหลัง

ภาพ “มารผจญ” เบื้องหลังองค์พระประธานแห่งนี้ บอกเล่าเรื่องราวขณะที่พญาวสวัตตีมาร ยกทัพมารบกวนรังขวานไม่ให้พระมหาบุรุษตั้งจิตมั่นเป็นสมาธิ พระแม่ธรณีบีบมวยผมให้เกิดน้ำไหลท่วมกองทัพพญามารจนเกิดพ่ายแพ้ ปกป้องพระมหาบุรุษให้ตั้งจิตมั่นสู่สมาธิ เป็นการเบิกทางของการตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะในราตรีนั้นเอง

ส่วนภาพเขียนบนผนังฝั่งทิศเหนือ มีการแบ่งภาพโดยใช้ช่องภาพแบบเจดีย์สลับกับฉัตร เล่าเรื่องราวสถานที่สำคัญขณะพระพุทธเจ้าเสด็จประทับหลังจากตรัสรู้และต้องเดินทางไปเสวยวิมุตติสุข ใช้ความเพียรอยู่ในสมาธิ 7 แห่ง เรียกว่า สัตตมหาสถาน ได้แก่ ต้นโพธิ์, อนิมิสเจดีย์, พุทธจงกลมเจดีย์, เรือนแก้ว, ต้นไทร, สระมุจลินทร์ และ ราชาตนพฤกษ์ (ร่มไม้เกด) โดยภาพผนังฝั่งทิศใต้มีการเขียนภาพในลักษณะภาพเจดีย์สลับกับฉัตรเช่นกัน ภาพเล่าเรื่องราวพระพุทธประวัติที่เกิดขึ้นในสถานที่สำคัญ 8 แห่ง เรียกว่า อัฏฐมหาสถาน คือ ที่ประสูติ, ตรัสรู้, ปฐมเทศนา, ที่ประทับป่าลิไลยก์, ช้างนาฬาคีรีวิ่งเข้าใกล้พระพุทธเจ้า, ยมกปาฏิหาริย์, พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ต่อเดียรถีย์, ปรินิพพาน

 

นอกจากคติความเชื่อในเรื่องศาสนาแล้ว ยังได้เห็นคติของช่างฝีมือจิตรกรสมัยอยุธยา สามารถถ่ายทอดอารมณ์หรือการแสดงสัญลักษณ์ของภาพได้อย่างน่าทึ่ง เช่น การเปรียบเปรยเดียรถีย์ (คนนอกศาสนา) ออกมาให้เป็นภาพ ในเรื่องราว “พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิฤทธิ์ต่อเดียรถีย์” ศิลปินช่างเขียนภาพจึงได้จินตนาการคนนอกศาสนา ด้วยการนำเอาสัญลักษณ์คนต่างชาติวาดขึ้น หรือแม้แต่วิธีการแบ่งช่องภาพ ด้วยผนังทั้งสองด้านไม่มีหน้าต่าง ที่จะมาเป็นตัวช่วยกำหนดกรอบภาพเล่าเรื่องได้ จึงใช้ภูมิปัญญาความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง แบ่งช่องด้วยภาพองค์เจดีย์นั่นเอง ด้วยลักษณะความอ่อนช้อยลวดลายเป็นเอกลักษณ์ จึงเกิดเป็นต้นแบบถูกนำไปสร้างจริงในหลายๆ วัดต่อมา และเกิดเป็นคตินิยมในยุคนั้น เมื่อมีการสร้างอุโบสถก็ต้องสร้างเจดีย์ด้านหน้าวัดด้วย รวมถึงยังเห็นถึงการสอดแทรกเรื่องราววิถีชีวิตของคนในสมัยอยุธยา ผ่านภาพที่มีรายละเอียดของทรงผม เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงดอกไม้ และพันธุ์พฤกษา อันอาจกล่าวได้ว่า ถ้าอยากรู้ว่าศิลปินคิดหรืออยากจะบอกอะไร ให้ไปถอดรหัสได้จากผลงานจิตรกรรม

 

ท้ายนี้ อาจารย์ ดร. อรุณศรี อื้อศรีวงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวทิ้งท้าย “กรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีหน้าที่ในการส่งเสริมให้ความเข้มแข็งกับชุมชน โดยใช้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนมาแล้วมากมาย ในปีนี้ทางโครงการ Thailand Village Academy เข้ามาหนุนเสริมต่อยอดโครงการฯ อย่างมืออาชีพ เรามองว่าโครงการที่ภาครัฐได้หนุนเสริมนี้ ต้องไปถึงจุดความยั่งยืนอย่างแน่นอน เพราะมันเป็นการบูรณาการทำงานระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน ทุกฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และเติมเต็มซึ่งกัน อาจารย์เชื่อว่ามิตินี้ เป็นมิติที่เรามองเห็นความยั่งยืน อันเป็นเป้าหมายของรัฐบาลนี้ ต้องสัมฤทธิ์ผลอย่างแน่นอน เพราะการเดินทางท่องเที่ยวเป็นแค่เครื่องมือ ฉะนั้นถ้ามีการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ไหนก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเราต้องวางแผนและคิดตามเลยว่า คนมาเที่ยวจะเที่ยวอะไร เที่ยวอย่างไร ใครพาเที่ยว เที่ยวแล้วจะกินอะไร กินแบบไหน นอนยังไงถึงเรียกว่าอยู่สบายแบบไทยๆ และก่อนกลับก็ต้องมีของที่ระลึกของฝาก แต่กระบวนการการทำกิจกรรมท่องเที่ยว เราจะเห็นเลยว่าถ้าเป็นการท่องเที่ยวชุมชน สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ การสร้างประสบการณ์ทำมือสื่อความหมาย เมื่อนักท่องเที่ยวมาและได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม จะทำให้เขามีความประทับใจและเกิดประสบการณ์ โดยเฉพาะเยาวชนต่างชาติชอบในเรื่องการสร้างสรรค์ ที่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมคิดดีไซน์ และสามารถกลับไปเติมเต็มให้ชาวบ้าน เป็นแบบอย่างของการท่องเที่ยวที่สร้างแรงดึงดูดใจเป็นสิ่งสำคัญมาก เราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมท่องเที่ยว อาหารการกิน ก็ต้องเน้นที่อยู่ตามสภาพแวดล้อมในบริบทและโลคัลโปรดักส์ของชุมชน เพื่อนำไปสู่การกระจายรายได้ทั้งหมด ดังนั้นโครงการที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์รู้สึกดีใจที่ทางกรมส่งเสริมฯ เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยดึงเอาส่วนที่เป็นเอกชนมืออาชีพทางด้านการตลาดเข้ามาต่อยอด และการร่วมเดินทางในทริป จะเห็นว่ามีสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญ ในการบอกต่อสื่อสารถึงนักศึกษาชาวต่างชาติร่วมด้วย ได้เห็นการทำงานของคนรุ่นใหม่มีความคิดกว้างไกล และขอฝากคีร์เวิร์ดที่เป็นหัวใจของการท่องเที่ยวชุมชน “ต้องสะดวก สะอาด สบาย ปลอดภัย เปิดประสบการณ์ แล้วเกิดนวัตกรรม แชร์สร้างสรรค์กับชุมชน” ค่ะ “

 

ติดตามรายละเอียดโปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนวัฒนธรรมได้ที่ www.thailandvillagacademy.com

 

 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด