กรมอุตุฯ ประกาศ หนาวนี้เริ่มแล้ว! กรุงเทพฯ เตรียมรับมืออุณหภูมิต่ำสุด 15-17 องศาฯ
ถ้าสังเกตุจากกราฟสถิติที่ผ่านมาของ “กรมอุตุนิยมวิทยา” จะเห็นได้ว่าช่วงเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูหนาวของปี จะอยู่ราวเดือนตุลาคม และสำหรับปี พ.ศ. 2562 ได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2562
- อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย บริเวณประเทศไทยตอนบน 20 – 21 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 19.9 องศาเซลเซียส) และจะมีอากาศหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา (อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 21.9 องศาเซลเซียส)
- สำหรับอุณหภูมิต่ำสุด 7- 8 องศาเซลเซียส จะอยู่บริเวณตอนบนของทั้งภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- ส่วนอุณหภูมิต่ำที่สุด ของกรุงเทพมหานคร 15-17 องศาเซลเซียส
ได้เวลารื้อตู้เสื้อผ้า จัดระเบียบกันใหม่ เตรียมเสื้อกันหนาว ผ้าพันคออุ่นไว้ให้หยิบใช้ง่ายๆ ปีนี้จะได้สัมผัสความหนาวเย็นกันนานกว่าปีก่อนๆ อีกด้วยจ้า
เนื่องจากอุณหภูมิต่่าสุดบริเวณประเทศไทยตอนบน จะลดลงอยู่ในเกณฑ์อากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยในระดับล่างที่ความสูงประมาณ 100 เมตร ถึงประมาณ 3,500 เมตร ได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ หรือลมตะวันออก ส่วนลมระดับบนที่ความสูงประมาณ 5,000 เมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนเป็นลมฝ่ายตะวันตก รวมทั้งปริมาณและการกระจายของฝน บริเวณประเทศไทยตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาคใต้ยังมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป
การคาดหมาย ลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย
ประมาณกลางเดือนตุลาคม 2562 ถึง กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563
โดยระบุว่า ฤดูหนาวของประเทศไทยปีนี้ คาดว่า
– บริเวณประเทศไทยตอนบน ฤดูหนาวจะเริ่มต้นในช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งจะใกล้เคียงเฉลี่ยปกติและจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563
– อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย บริเวณประเทศไทยตอนบน 20 – 21 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 19.9 องศาเซลเซียส) และจะมีอากาศหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา (อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 21.9 องศาเซลเซียส) สำหรับอุณหภูมิต่ำสุด 7- 8 องศาเซลเซียส จะอยู่บริเวณตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนอุณหภูมิต่ำที่สุดของกรุงเทพมหานคร 15-17 องศาเซลเซียส
– ช่วงเวลาที่จะมีอากาศหนาวเย็นที่สุด ส่วนใหญ่จะเริ่มครึ่งหลังของเดือนธันวาคม 2562 ถึงปลายเดือนมกราคม 2563
– สำหรับยอดดอยและยอดภู รวมทั้งบริเวณเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดและมักมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง
– ส่วนบริเวณภาคใต้ จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางวัน ส่วนมากตอนบนของภาค และยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นทางฝั่งตะวันออกของภาค ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม กับจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางแห่ง ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยจะมีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ บางช่วงมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร
ลักษณะอากาศทั่วไป
ประเทศไทยตอนบน
(ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง และภาคตะวันออก)
ช่วงประมาณครึ่งหลัง ของเดือนตุลาคม ถึง ปลายเดือนพฤศจิกายน
อากาศสูงสุดเฉลี่ย 29 – 31 องศาเซลเซียส
อากาศต่ำสุดเฉลี่ย 19 – 21 องศาเซลเซียส
บริเวณภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป กับมีอากาศหนาวบางแห่งในบางวัน ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีอากาศเย็นในหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาค สำหรับปริมาณและการกระจาย ของฝนจะลดลง โดยมีฝนฟ้าคะนอง 10-20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ และอาจมีลมกระโชกแรงในบางแห่ง เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นระยะๆ โดยมีกำลังปานกลางเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนเกือบตลอดช่วง
ต้นเดือนธันวาคม จนถึง ปลายเดือนมกราคม
อากาศสูงสุดเฉลี่ย 27 – 29 องศาเซลเซียส
อากาศต่ำสุดเฉลี่ย 13 – 15 องศาเซลเซียส
อากาศจะหนาวเย็นลงอีก โดย บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอากาศหนาวเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวจัดบางแห่งในบางวัน ทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณยอดดอย ยอดภู รวมทั้งเทือกเขา จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้ในบางช่วง ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ในบางช่วง ส่วนมากตอนบนของภาค เนื่องจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ยังคงแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยเป็นระยะๆ และต่อเนื่อง โดยจะมีกำลังค่อนข้างแรงเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทย
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ถึง กลางเดือนกุมภาพันธ์
อากาศสูงสุดเฉลี่ย 31 – 33 องศาเซลเซียส
อากาศต่ำสุดเฉลี่ย 14 – 16 องศาเซลเซียส
ลักษณะอากาศจะแปรปรวน โดยอากาศจะเริ่มอุ่นขึ้น และจะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน กับมีหมอกหนาหลายพื้นที่ แต่บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน จะมีกำลังอ่อนลง
-||-
ภาคใต้
ในช่วงครึ่งหลังของเดือนตุลาคม ถึง กลางเดือนมกราคม
ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป จะมีฝนฟ้าคะนอง 60-80 เปอร์เซนต์ ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง สำหรับคลื่นลมทะเลอ่าวไทย จะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ ในบางช่วงจะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนทะเลอันดามัน จะมีคลื่นสูง 1-2 เมตร เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ โดยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ประกอบกับในบางช่วงจะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนกลาง และภาคใต้ตอนล่าง ช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และ ธันวาคม ตามลำดับ นอกจากนี้ในบางช่วง ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำ กำลังแรง หรือพายุหมุนเขตร้อน เคลื่อนตัวเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านภาคใต้
ครึ่งหลังของเดือนมกราคม จนถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์
ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ จะมีกำลังอ่อนลง และจะเปลี่ยนเป็นลมตะวันออก หรือลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมแทน