TOP

ขบวนเรือพระราชพิธี ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562

ในสมัยอยุธยา การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ โดย ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ถือเป็นเรื่องปกติ ด้วยเกี่ยวกับภูมิประเทศที่มีแม่น้ำลำคลองเป็นจำนวนมาก แม้การเสด็จพระราชดำเนินไปใพระราชสงคราม ก็ต้องจัดไปทั้งขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค และทางชลมารค เพราะในสภาพภูมิประเทศที่ไม่อาจไปทางสถลมารคได้ ก็จะต้องไปทางชลมารค และเมื่อถึงฤดูกาลออกพรรษามีเทศกาลทอดกฐินไปตามพระอารามต่างๆ ก็จัดเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานพระกฐิน

 

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ได้แก่ ขบวนพยุหยาตราเพชรพวง สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีการจัดเป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอย่างใหญ่ รวมจำนวนเรือในขบวนได้ถึง ๑๑๓ ลำ โดยจัดขบวนออกเป็น ๕ ตอน คือ ขบวนนอกหน้า ขบวนในหน้า ขบวนเรือพระราชยาน ขบวนในหลัง และขบวนนอกหลัง

 

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคนั้น ในสมัยอยุธยาใช้จัดเป็นขบวนทัพ เมื่อว่างเว้นจากการศึกสงครามก็นำขบวนเรือนั้นไปใช้ในงานพระราชพิธีอย่างอื่น เช่น เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปพระราชทานพระกฐิน เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทรงสักการะรอยพระพุทธบาทที่เมืองสระบุรี เป็นการฝึกฝีพายและเตรียมสรรพกำลังให้พร้อมเพื่อการสงคราม ​การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าจะจัดรูปขบวนทางชลมารคเป็น 2 แบบ คือ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอย่างใหญ่ และ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอย่างน้อย การจัดขบวนพยุหยาตราในลักษณะนี้ใช้มาถึงสมัยธนบุรี ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอย่างใหญ่ ไปรับพระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และมีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอย่างใหญ่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค

 

สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลมี่ 1) และ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดให้สร้างเรือพระที่นั่งและเรืออื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อทดแทนเรือที่ชำรุดเสียหายไปครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2310 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เมื่อเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จึงโปรดให้จัดขบวนเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค เป็นขบวนพยุหยาตราทางชลมารคอย่างใหญ่ เรือในขบวนครั้งนั้นมีจำนวน 269 ลำ ในรัชกาลต่อ ๆ มาเรือที่มีอยู่ชำรุดเสียหายไปตามกาลเวลา ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวนเรือก็เหลืออยู่ไม่มาก ไม่สามารถที่จะจัดขบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่เหมือนเดิมได้ จึงมีการปรับขบวนเรือตามความเหมาะสมหลายครั้ง จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7)

 

ในสมัยรัชกาลที่ 7 โปรดให้ จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งทรงทำการแทนเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ทรงวางหลักเกณฑ์การจัดระเบียบขบวนเรือสำหรับเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคขึ้นใหม่ ริ้วขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ทรงจัดขึ้นใหม่นี้มี 5 แบบ คือ 1) ขบวนพยุหยาตราใหญ่ เดิมใช้ว่า “ขบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่” ใช้ในโอกาสพระราชทานพระกฐิน หรือในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางชลมารค 2) ขบวนพยุหยาตราน้อย เดิมใช้ว่า “ขบวนพยุหยาตราอย่างน้อย” โดยปรกติจัดในการพระราชทานพระกฐินทางชลมารค 3) ขบวนราบใหญ่ทางชลมารค 4) ขบวนราบน้อยทางชลมารค และ 5) ขบวนราบย่อทางชลมารค เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเห็นชอบ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตามระเบียบนี้ทุกประการ

 

การเตรียมขบวนเรือพระราชพิธี ในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562

 

ขบวนเรือพระราชพิธีในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร

โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  พ.ศ. 2562

เรือทองขวานฟ้า และ เรือทองบ้าบิ่น

จัดอยู่ในประเภทเรือเหล่าแสนยากรสำหรับทำหน้าที่เป็นเรือประตูในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

 

เรือพิฆาต

เรือพิฆาต เป็นเรือในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค หัวเรือเขียนลายเป็นรูปสัตว์ มีช่องสำหรับวางปืนใหญ่ไว้ที่โขนเรือ เรือพิฆาตจัดเป็นเรือขบวนที่อยู่ในขบวนนอกหน้าและขบวนนอกหลัง ปรากฏหลักฐานในขบวนพยุหยาตราเพชรพวงทางชลมารค สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยจัดเป็นเรือคู่หน้าสำหรับนำขบวน 3 คู่ และเป็นเรือในขบวนนอกหลังอีก 2 คู่ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้จัดสร้างเรือพิฆาตขึ้นใหม่แทนของเดิม 12 ลำ แบ่งตามสีพื้นท้องเรือเป็นคู่ๆ ได้แก่ พื้นชาด พื้นหงดิน พื้นเหลือง พื้นแดงเสน และพื้นน้ำเงิน ดังนี้
1. เรือมังกรจำแลง เรือมังกรแผลงฤทธิ์ พื้นชาด
2. เรือเหราล่องลอยสินธุ์ [เห-รา-ล่อง-ลอย-สิน] เรือเหราลิลลาสมุท [เห-รา-ลิน-ลา-สะ-หฺมุด] พื้นหงดิน
3. เรือสางกำแพงหาญ เรือสางชาญชลสินธุ์ [สาง-ชาน-ชน-สิน] พื้นเหลือง
4. เรือโตขมังคลื่น เรือโตฝืนสมุท พื้นแดงเสน
5. เรือกิเลนประลองเชิง เรือกิเลนละเลิงชล พื้นน้ำเงิน
6. เรือเสือทยานชล เรือเสือคำรนสินธุ์ พื้นน้ำเงิน

เรือพิฆาตในปัจจุบันเหลือเพียงคู่เดียวคือ เรือเสือทยานชลกับเรือเสือคำรนสินธุ์

 

เรืออสูร
​เรืออสูร เป็นเรือศีรษะสัตว์ที่ทำโขนเรือเป็นรูปอมนุษย์ กายท่อนบนเป็นอสูร ท่อนล่างเป็นนก สันนิษฐานว่าได้แบบอย่างจากภาพสัตว์หิมพานต์ ดังปรากฏรูปอมนุษย์ครึ่งอสูรครึ่งนก ในหนังสือภาพสัตว์หิมพานต์จากสมุดไทยดำ ของหอสมุดแห่งชาติ ระบุชื่อว่า อสุรวายุภักษ์ และ อสุรปักษา รูปอมนุษย์นี้อาจได้รับอิทธิพลมาจากพญาวายุภักษ์ ในเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งเป็นอสูรที่มีหน้าเป็นยักษ์ กายเป็นนกอินทรี บินโฉบเอาพระรามและพระลักษมณ์ไป แต่เหล่าพญาวานรเหาะตามไปช่วยไว้ได้ ในขบวนพยุหยาตราเพชรพวงทางชลมารค สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไม่พบเรืออสูรในขบวน จึงเป็นไปได้ว่าเรืออสูร มีขึ้นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้น 1 คู่ ได้แก่ เรืออสุรวายุภักษ์ และเรืออสุรปักษี มีลักษณะโดยรวมเหมือนกัน ต่างที่สีโขนเรือ คือ สีโขนเรืออสุรวายุภักษ์เป็นสีน้ำเงิน ส่วนสีโขนเรืออสุรปักษีเป็นสีเขียว

 

เรือเรือกระบี่ปราบเมืองมาร และ เรือกระบี่ราญรอนราพณ์

จัดอยู่ในประเภทเรือเหล่าแสนยากรสำหรับทำหน้าที่เป็นเรือรูปสัตว์หรือเรือศีรษะสัตว์ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นเรือคู่ของเรือกระบี่ราญรอนราพณ์ สร้างลำเรือขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 1

 

เรือพาลีรั้งทวีป และ เรือสุครีพครองเมือง

จัดอยู่ในประเภทเรือเหล่าแสนยากรสำหรับทำหน้าที่เป็นเรือรูปสัตว์หรือเรือศีรษะสัตว์ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นเรือคู่ของเรือสุครีพครองเมือง สร้างลำเรือขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1

 

เรือครุฑเหินเห็จ และ เรือครุฑเตร็จไตรจักร

จัดอยู่ในประเภทเรือเหล่าแสนยากรสำหรับทำหน้าที่เป็นเรือรูปสัตว์หรือเรือศีรษะสัตว์ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นเรือคู่ของเรือครุฑเตร็จไตรจักร สร้างลำเรือขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 1

เรือคู่ชัก
เรือคู่ชัก คือเรือสำหรับจูงเรือพระที่นั่ง และเรืออื่นๆ ที่ไม่มีฝีพาย เช่น เรือการละเล่นในตอนหนึ่งของพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ระบุว่ารัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างเรือพระที่นั่งและเรือขบวนประเภทต่างๆ มีเรือครุฑ เรือกระบี่ เป็นคู่ชัก พ.ศ. 2326 รัชกาลที่ 1 เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานพระกฐิน ณ วัดบางหว้าใหญ่ และวัดหงส์โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประทับเรือพระที่นั่งศรีสักหลาด มีเรือพระที่นั่งทองแขวนฟ้า คู่ 1 เป็นเรือคู่ชัก ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเรือคู่ชัก ทองแขวนฟ้า เป็นทองขวานฟ้า ลำ 1 เรือทองบ้าบิ่น ลำ 1 เรือคู่ชักนี้เป็นเรือดั้งทอง คือปิดทองที่หัวเรือและท้ายเรือ ในจดหมายเหตุเรื่องบัญชีเรือพระที่นั่งและเรือขบวนในรัชกาลที่ 3 มีชื่อเรือเอกชัยเหินหาว และเรือเอกชัยหลาวทอง เป็นเรือคู่ชัก

 

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สร้างขึ้นในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 ชื่อเรือมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า อเนกะชาตะภุชงฺคะ แปลว่า งูหลากหลายชนิด ซึ่งสอดคล้องกับรูปโขนเรือที่ลงรักปิดทอง มีลายรูปงูตัวเล็กๆ จำนวนมาก คำว่า “ภุชงฺคะ” ในภาษาสันสกฤต มีความหมายเดียวกันกับคำว่า นาคะ หรือ นาค ในภาษาไทย โดยนาคที่เป็นเทพหรือทิพยนาค เป็นตัวแทนแห่งพลังอำนาจ ความรอบรู้ และความอุดมสมบูรณ์

 

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำแรก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เริ่มใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏชื่อว่า เรือพระที่นั่งบัลลังก์อนันตนาคราช สำหรับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชลำปัจจุบัน

สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 และเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2457

 

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 สร้างน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เมื่อพุทธศักราช 2539 นารายณ์ทรงสุบรรณ มีความหมายเดียวกันกับ พระวิษณุทรงครุฑ เนื่องจาก นารายณะ (ไทยเรียก นารายณ์) เป็นพระนามหนึ่งของพระวิษณุ ส่วนสุบรรณ ก็เป็นชื่อเรียก ครุฑ หรือ พญาครุฑ พาหนะของพระวิษณุ ส่วนที่เติมสร้อยว่า รัชกาลที่ 9 เพื่อสื่อให้ประจักษ์ว่าเรือลำนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 เนื่องจากชื่อเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณมีมาแล้วแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 3

 

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในปลายรัชสมัย รัชกาลที่ 5 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพุทธศักราช 2454 โดยตั้งชื่อตามเรือพระที่นั่งโบราณของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือศรีสุพรรณหงส์ หรือ เรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2091

 

เรือดั้ง

เป็นเรือไม้ทาสีน้ำมัน ไม่มีลวดลายอย่างใด ใช้เป็นเรือกระบวนสายนอก กลางลำมีคฤห์ ซึ่งมีนายทหารนั่งลำละ 1 นาย ในเรือนี้มีพลปืน 4 นาย และมีนายเรือนายท้าย และฝีพาย ลำละ 29-35 คน

ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ และมีคนกระทุ้งเส้า ลำละ 2 นาย

 

เรือตำรวจ

มีลักษณะคล้ายกับเรือแตงโมและเรือดั้ง ไม่ปรากฏหลักฐานที่สร้าง มีพระตำรวจหลวงชั้นปลัดกรม หรือข้าราชการในพระราชสำนักที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ นั่งประจำ

 

เรือครุฑยุดนาคหิ้ว ลิ่วลอยมาพาผันผยอง

​เรือครุฑเป็นเรือพระราชพิธีซึ่งมีที่มาจากคติความเชื่อเรื่อง “พญาครุฑ” พาหนะของพระนารายณ์ เหตุที่พญาครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์นั้น ในคัมภีร์ปุราณะกล่าวว่า ครุฑกับนาคมีบิดาเดียวกันแต่ต่างมารดา ต่อมามารดาของครุฑแพ้พนันมารดาของนาค ต้องไปเป็นทาสของพวกนาค พญาครุฑจึงไปตกลงกับพวกนาค พวกนาคให้พญาครุฑไปลักน้ำอมฤตบนสวรรค์มาให้พวกนาคแล้วจะปล่อยมารดาพญาครุฑให้เป็นอิสระ พญาครุฑจึงบินไปยังสวรรค์ผ่านด่านต่าง ๆ แล้วนำคนโทน้ำอมฤตออกมา บรรดาเทวดาทราบเรื่องจึงมาตามจับพญาครุฑ แต่ไม่มีใครสามารถเอาชนะได้ เทวดาจึงไปขอร้องให้พระนารายณ์มาช่วยนำน้ำอมฤตคืน พระนารายณ์รบกับพญาครุฑ แต่ไม่มีใครแพ้ใครชนะจึงตกลงกันว่า พระนารายณ์ยอมให้พญาครุฑอยู่เหนือกว่าในเวลาที่ประทับ แต่เมื่อเสด็จไปที่ใดครุฑต้องเป็นพาหนะ และพระนารายณ์ยังให้พรพญาครุฑว่า ให้จับนาคกินเป็นอาหารได้ จึงเป็นที่มาของ “ครุฑยุดนาค” และเป็นที่มาของการสร้างโขนเรือพระราชพิธีเป็นรูปครุฑ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระนารายณ์

 

เรือแซ
​เรือแซ เป็นเรือขุนนางนั่งประจำในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือตำนานเรือรบไทยว่า ที่เรียกว่าเรือแซเป็นเรือยาว ใช้ตีกรรเชียงประมาณลำละ ๒๐ กรรเชียง มักสันนิษฐานกันว่าได้แบบอย่างมาจากเรือของพวกกระแซ จึงเรียกว่า “เรือแซ” แต่เมื่อพิจารณาจากหลักฐานสันนิษฐานว่า คำว่า “แซ” นั้น น่าจะมาจากคำว่า “เซ” ที่มีความหมายว่าแม่น้ำ เรือแซจึงน่าจะหมายถึงเรือที่ใช้ในแม่น้ำ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โปรดให้แปลงเรือแซเป็นเรือชัย และเรือศีรษะสัตว์ ในขบวนพยุหยาตราเพชรพวง สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรือแซอยู่ในขบวนนอกหน้า และขบวนนอกหลัง ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างเรือแซขึ้นใหม่หลายลำ เช่น เรือตลุมละเวง เรือตะเลงละวน เรือคชรำบาญ เรือสารสินธู 

 

 

เรือประตู
เรือประตู เป็นคำเรียกเรือประเภทที่ทำหน้าที่คั่นขบวนเรือต่างๆ ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อรักษาความปลอดภัยในการเสด็จพระราชดำเนิน การจัดขบวนพยุหยาตราเพชรพวงทางชลมารค มีการจัดตำแหน่งเรือประตูไว้ 4 คู่ คือ 1) เรือประตูที่คั่นระหว่างขบวนนอกหน้ากับขบวนในหน้า 2) เรือประตูที่คั่นระหว่างขบวนในหน้ากับขบวนพระราชยาน 3) เรือประตูที่คั่นระหว่างขบวนพระราชยาน กับขบวนในหลัง และ ๔) เรือประตูคู่สุดท้าย คือ เรือประตูที่คั่นระหว่างขบวนในหลัง กับขบวนนอกหลัง เรือประตูต้องคอยป้องกันไม่ให้เรืออื่นๆ ล่วงล้ำเข้ามาในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ดังมีการระบุไว้ในกฎมณเฑียรบาลที่ตราขึ้นในสมัยอยุธยา ขบวนพยุหยาตราเพชรพวงทางชลมารค สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ใช้เรือรูปสัตว์และเรือชัยเป็นเรือประตู

 

นักสราช
​นักสราช เป็นตำแหน่งคนเชิญธง ในลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งเมื่อ พ.ศ. 2340 เพื่อบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประเพณี ในการจัดขบวนพยุหยาตราแต่ก่อน มีโคลงบาทหนึ่งว่า “นักสราชโบกธงชาย ไกววาก” และโคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีโคลงบาทหนึ่งว่า “นายนักสราชถือธง ประนบ หน้าแฮ” หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล อธิบายไว้ว่า ธงที่นักสราชถือเป็นธง 3 ชาย ทำด้วยผ้าปักหักทองขวาง การปักหักทองขวางใช้ไหมทอง ปักเป็นลวดลายอย่างแน่นทึบบนผืนผ้า ส่วนเครื่องแต่งกายของนักสราช สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน บรรยายว่า “สวมเสื้อผ้ามัสรู่ไหม นุ่งผ้าเกี้ยวลาย คาดผ้าโหมดเทศ สวมหมวกหูกระต่ายสีแดงติดลูกไม้ใบข้าว สวมถุงเท้ายาวสีขาว รองเท้าหนังสีดำ”

 

เรือกลอง
​เรือกลอง เดิมเรียก เรือกลองแขก เป็นเรือซึ่งมีหน้าที่บรรเลงกลองแขก และปี่ชวาในเวลาแห่เสด็จ มีธรรมเนียมเกี่ยวกับการบรรเลงดังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า “เมื่อถึงที่ประทับ เรือกลองต้องลอยลำถวายเสียงอยู่กลางน้ำ ตรงเรือพระที่นั่่งจนเสด็จขึ้นบกแล้วจึงหยุด เรือกลองมี 2 ลำ คือ เรือกลองนอก และเรือกลองใน อยู่ในสายกลางของขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในแนวเดียวกับเรือพระที่นั่ง เรือกลองนอกอยู่ในขบวนหน้า เดิมเป็นเรือสำหรับเจ้ากรมอาสา หรือเจ้ากรมเขนทอง ผลัดเวรกันลง หากข้างขึ้นเป็นเวรเจ้ากรมเขนทองขวา หรือ เจ้ากรมอาสาขวา หากข้างแรมเป็นเวรเจ้ากรมเขนทองซ้าย หรือเจ้ากรมอาสาซ้าย ต่อมาเป็นเรือสำหรับรองผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ปัจจุบันใช้เรือกราบชื่อ “เรืออีเหลือง” เป็นเรือกลองนอก เรือกลองในอยู่หน้าเรือคู่ชัก เดิมเป็นเรือสำหรับเจ้ากรมอาสาหกเหล่า ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ หากข้างขึ้นเป็นเวรพระยาสีหราชเดโชชัย เจ้ากรมอาสาหกเหล่าขวา หากข้างแรมเป็นเวรพระยาสีหราชเดโชชัยท้ายน้ำ (พระยาท้ายน้ำ) เจ้ากรมอาสาหกเหล่าซ้าย ต่อมาเป็นเรือสำหรับผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ปัจจุบันใช้
เรือกราบชื่อ “เรือแตงโม” เป็นเรือกลองใน

 

 

ขอบคุณที่มา : เพจเฟสบุ๊ก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด