8 เคล็ดลับ สำหรับครอบครัว สอนให้เด็กรับมือกับโควิด-19
โรคติดเชื้อไวรัสสายพันธ์ุใหม่ หรือที่เรียกว่า “โควิด-19” เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นและมีการแพร่ระบาดยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ภายใน 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ติดเชื้อมหาศาลทะลุหลักล้านคน และทำให้มีผู้เสียชีวิตจากทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นทุกวัน จึงเป็นเรื่องที่ทำให้ทุกคนหวั่นวิตก และส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่เด็กทุกช่วงวัย ที่ต้องหยุดการเดินทางไปยังสถานศึกษาเหมือนเช่นเคย ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนทางออนไลน์แทน ครู และผู้ปกครองต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ร่วมมือกันในช่วงที่มีการแพร่ระบาดนี้ ดูแลบุตรหลานที่บ้านเป็นพิเศษ และเพื่อไม่ให้การศึกษาเล่าเรียนหยุดชะงัก รวมถึงเฝ้าระวังในด้านอารมณ์ความรู้สึกของเด็ก ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบัน อันส่งผลลัพธ์ทำให้เกิดความเครียดได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ด้วยขาดความเข้าใจที่มากพอในการตั้งรับกับสถานการณ์อันแตกต่างกันไป เราสามารถช่วยน้องๆ ให้รู้สึกผ่อนคลายและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเข้าใจ ด้วย 8 เคล็ดลับเหล่านี้
เปิดโอกาสให้เด็กถาม แล้วตั้งใจรับฟัง
ชวนเด็กๆ พูดคุยด้วยการตั้งคำถาม เพื่อหยั่งการรับรู้ของเด็กๆ ก่อนว่าพวกเขาเคยรู้ และปฏิบัติอย่างไรที่ผ่านมา หากสัมผัสได้ว่าเด็กๆ ยังไม่เคยรับรู้เกี่ยวกับเรื่องเชื้อไวรัสชนิดนี้ที่มีผลในด้านต่างๆ เราอาจไม่จำเป็นต้องยกประเด็นขึ้นมา เพียงแค่ใช้โอกาสนี้ สอนหลักปฏิบัติด้านสุขอนามัยที่ถูกต้อง เปิดโอกาสในการพูดคุยถามตอบได้อย่างอิสระ หรืออาจง่ายขึ้นต่อความเข้าใจของเด็ก ด้วยการวาดภาพประกอบ หรือหนังสือภาพ เป็นอีกเครื่องมือที่จะช่วยเปิดการสนทนา สื่อสารให้เข้าใจกันง่ายขึ้นเข้าถึงช่วงวัยของพวกเขา ลดความกังวลของเด็กบางคนที่มีความกลัวเป็นพื้นฐาน แสดงออกถึงการรับฟังพวกเขาด้วยความสนใจ เพื่อให้เด็กๆ มั่นใจได้ว่าพวกเขาสามารถพูดคุยกับคนในครอบครัวและครูได้ทุกเมื่อที่ต้องการ
——————–||——————–
บอกเล่าสถานการณ์ความจริงที่เหมาะกับเด็ก
เด็กๆ มีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลไปตามความเป็นจริงทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เพียงแต่ผู้ใหญ่ต้องเรียนรู้ที่จะใช้ภาษาอันเหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กด้วยเช่นกัน และย่อยข้อมูลที่ไม่หนักเกินไป เฝ้าดูปฏิกริยาและความไวต่อการรับรู้ของเด็ก หากเกิดคำถามที่ไม่สามารถตอบได้ อย่าใช้ความคาดเดา ขอให้ใช้โอกาสนี้สำรวจค้นหาคำตอบไปด้วยกัน จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อย่าง เว็บไซต์ยูนิเซฟ, องค์การอนามัยโลก, กรมสุขภาพจิต หรือ กรมควบคุมโรค และถือเป็นโอกาสที่ได้อธิบายและสอนเด็กไปในตัว ว่าข้อมูลบางอย่างทางออนไลน์ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ควรให้ความไว้วางใจในข้อมูลจากหน่ายงานที่ได้รับการรับรองความน่าเชื่อถือ
——————–||——————–
แสดงวิธีการป้องกันตนเองให้เด็ก และเพื่อนได้เข้าใจ
การเป็นตัวอย่างที่ดีในการป้องกันตนเอง เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันเด็กๆ ให้ห่างไกลโควิด-19 ด้วยเช่นกัน เช่น สอนการล้างมืออย่างถูกวิธี และให้มีการล้างมือบ่อยๆ เป็นประจำเมื่อจับต้องสิ่งของสาธารณะ โดยให้เด็กมีส่วนร่วมปฏิบัติไปพร้อมกับผู้ใหญ่ จะทำให้เขาได้ซึมซับสนุกสนานกับการเรียนรู้ในชีวิตประจำวัน แม้แต่การสอนให้ใช้ข้อศอกป้องปากเวลาไอหรือจาม และบอกกล่าวให้ระวังตัวอย่าเข้าใกล้ผู้ที่มีอาการเหล่านั้น และขอให้เด็กๆ บอกกับผู้ใหญ่ทันที ที่พวกเขาเริ่มรู้สึกมีไข้ ไอ จาม หรือหายใจลำบาก
——————–||——————–
สร้างเสริมความมั่นใจ ให้เด็กคลายความกังวล
เนื่องจากข่าวการแพร่ระบาดในตอนนี้ สื่อสารให้เห็นถึงสถานการณ์ทั่วโลกที่หนักขึ้น รวมถึงในหลายๆ พื้นที่ประเทศไทย อาจทำให้เด็กๆ เกิดภาวะเครียดไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ที่ได้รับสื่อช่องทางต่างๆ ทั้งทางออนไลน์และโทรทัศน์ และเข้าใจว่าตนเองกำลังตกอยู่ในความอันตราย พ่อแม่มีส่วนช่วยให้เด็กๆ คลายความกังวลใจรับมือกับความเครียด ด้วยการสนับสนุนให้เล่นเพื่อผ่อนคลายตามกิจวัตรของเขาให้เป็นไปอย่างปกติ หรือสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ชวนกันจัดแต่งบ้านหรือโซนที่จะทำให้เด็กๆ ใช้เวลาไปกับความสุขในแบบที่เป็น หรือชวนกันออกกำลังกาย หากิจกรรมสนุกทำร่วมกัน และช่วยเหลือยามเด็กๆ ติดขัดในการเรียนหนังสือผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้พ่อแม่สามารถอธิบายเรื่องตัวช่วยที่จะทำให้เขาปลอดภัย และให้ความมั่นใจด้วยการให้ลูกปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง
——————–||——————–
ตรวจสอบเด็กถูกรังแก หรือไปรังแกผู้อื่นหรือไม่
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิดในเวลานี้ มีการแพร่ระบาดติดเชื้อจากชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้าออกประเทศของคนทั่วโลก จึงมีความหวั่นวิตกและหวาดกลัวผู้คนในบางประเทศกลุ่มเสี่ยง ทำให้มีรายงานของการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวขึ้น แม้แต่ในเด็ก จึงอาจเป็นโอกาสที่ทำให้เด็กบางกลุ่มถูกรังแก หรือเป็นผู้รังแกเพื่อนเสียเอง พ่อแม่ควรหมั่นตรวจสอบสภาวะจิตใจของเด็กๆ ว่าตกอยู่ในสภาวะแบบนี้บ้างหรือไม่ และควรอธิบายกับเด็กว่า เชื้อไวรัสโควิดไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับหน้าตา รูปลักษณ์ สีผิว หรือพูดภาษาอะไร เพื่อให้เด็กๆ ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ป้องกันไม่ให้เกิดการไปล้อเลียนผู้อื่นให้เกิดความเสียหาย หรือส่งผลกระทบทางจิตใจ หรือพร้อมรับมือหากตัวเองโดนล้อเลียนเกี่ยวกับไวรัสได้ และต้องเคียงข้างให้เด็กรู้สึกสบายใจที่จะบอกผู้ใหญ่ที่พวกเขาไว้วางใจ อย่าลืมที่จะเตือนเด็กๆ ว่าทุกคนควรได้รับความปลอดภัยทั้งจากที่โรงเรียนและที่บ้าน การกลั่นแกล้งเป็นสิ่งที่ผิดเสมอ เราควรช่วยเหลือและให้กำลังใจซึ่งกันมากกว่า
——————–||——————–
ส่งต่อเรื่องราวความเสียสละ ของผู้ให้ความช่วยเหลือสังคม
การให้เด็กรับรู้ถึงความเสียสละเพื่อคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ และภาคส่วนต่างๆ ที่ระดมความคิดสติปัญญา และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้เด็กๆ และคนทุกคนได้รับความปลอดภัย เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ปฏิบัติงานแล้ว ยังช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัย และยังช่วยปลอบประโลมจิตใจของพวกเขา ในช่วงเวลานี้ได้เป็นอย่างดี
——————–||——————–
พ่อแม่สตรอง ส่งผลให้เด็กไม่ตื่นตระหนก
การดูแลตัวเองทางด้านจิตใจของผู้ใหญ่เป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้ใหญ่ที่มีสติในการรับข่าวสารและสามารถรับมือได้อย่างดี จะช่วยให้เด็กๆ ไม่ตื่นตระหนกเกินไป ด้วยเพราะเด็กๆ จะมองเห็นรับรู้สัมผัสได้ถึงปฏิกิริยาของผู้ใหญ่ และส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กด้วยเช่นกัน หากคุณพ่อคุณแม่อยู่ในสภาวะวิตกกังวล ให้ใช้เวลากับตัวเองและติดต่อกับครอบครัวเพื่อน หรือคนที่เชื่อถือไว้วางใจทำสิ่งต่างๆ ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
——————–||——————–
จบการสนทนาด้วยความห่วงใย
สถานการณ์ในปัจจุบันไม่ใช่สถานการณ์ปกติ โรคระบาดที่ทำให้โลกปั่นป่วน เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนไปจากเดิม อาจทำให้เด็กๆ รู้สึกไม่ปลอดภัย การแสดงความห่วงใยต่อพวกเขาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก พ่อแม่สามารถวัดระดับความกังวลจากสีหน้า การแสดงออกทางร่างกาย การแสดงออกถึงการห่วงใยและพร้อมเป็นที่พึ่งให้กับพวกเขา จะช่วยบรรเทาความกังวลลงไปได้ ทำให้พวกเขารู้ว่า ผู้ใหญ่ของพวกเขาพร้อมจะพูดคุย และรับฟังอย่างเต็มใจอยู่เสมอ หากพวกเขามีความกังวลใจใดๆ
——————–||——————–
ที่มา : Unicef Australia: https://www.unicef.org.au/blog/news-and-insights/march-2020/how-to-talk-to-your-children-about-coronavirus