‘วทานิกา’ แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกสัญชาติไทย จับมือ UN Women สร้างพลังขับเคลื่อนผู้หญิงทั่วโลกสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศ
เป็นความมุ่งมั่นก้าวสู่อีกบทบาทสำคัญระดับโลกของ คุณแพร-วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ดีไซเนอร์สาวไทยผู้มากความสามารถที่นำพาแบรนด์ไทย ‘วทานิกา’ VATANIKA สู่สากลระดับอินเตอร์มากว่า 7 ปี และในครั้งนี้ยังสร้างปรากฎการณ์พลังหญิงนำทีม บริษัท วทานิกา กรุ๊ป จำกัด เดินหน้าร่วมมือกับ องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนให้ผู้หญิงทั่วโลก สามารถแสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจของตัวเอง พร้อมส่งเสริมผู้หญิงให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค และให้ผู้หญิงมีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้มี การลงนามอย่างเป็นทางการ ยอมรับหลักการ Women’s Empowerment Principles หรือ WEPs (หลักการแห่งการเสริมสร้างศักยภาพและพลังของผู้หญิง) นับได้ว่า ‘คุณวทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา’ เป็นผู้บริหารหญิงคนแรกในประเทศไทย ที่ได้ให้สัตยาบันนำประเด็นการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มาเป็นหลักการบริหารธุรกิจในบริษัท และเครือข่ายอุตสาหกรรมแฟชั่น พร้อมทั้งการออกแบบในประเทศไทย โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ผู้นำสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของผู้หญิง” (Empower Women Champion for Change) คนล่าสุด ซึ่งเป็นอีกความภาคภูมิใจตัวแทนหญิงไทย ที่ยึดมั่นในหัวใจและแนวทางของหลักการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศในสถานที่ทำงาน ตลาดแรงงาน และชุมชน ด้วยใช้หลัก 7 ข้อ อันได้แก่ 1) เป็นองค์กรที่มีผู้บริหารระดับสูงที่ชูนโยบายเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ 2) ปฏิบัติต่อหญิงและชายอย่างเท่าเทียม คือ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการไม่เลือกปฏิบัติ 3) รับประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน ให้กับพนักงานหญิงและชาย 4) ส่งเสริมการศึกษา ฝึกอบรม และการพัฒนาทางอาชีพ 5) นำประเด็นเรื่องการพัฒนาองค์กรมาใช้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ต้นทางของสินค้าหรือตลาดที่ส่งเสริมผู้หญิง และให้ผู้หญิงเป็นเจ้าของวัตถุดิบนั้น 6) ส่งเสริมด้านความเสมอภาคระหว่างเพศผ่านกิจกรรมชุมชน 7) ติดตามผลการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ
คุณแพร-วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา
กล่าวถึงความตั้งใจในความร่วมมือครั้งสำคัญ
“ทุกวันนี้ผู้หญิงยังต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาคในสังคม รวมถึงการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในหลายๆ ประเทศ แพรเชื่อมั่นว่า ผู้หญิงทุกคนล้วนมีศักยภาพในตนเอง จึงให้ความสนใจเรื่องความเสมอภาคกันในที่ทำงาน และในฐานะที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “Empower Women Champion for Change” แพรมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของผู้หญิงด้วยค่ะ”
ประเดิมโปรเจ็กต์แรก
“โดยเริ่มจากการเข้าไปช่วยเหลือผู้หญิงใน ศูนย์อเนกประสงค์สำหรับผู้หญิง (Multi-Purpose Women’s Centre) คอกส์บาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ เป็นโปรเจ็กต์แรก ผ่านการระดมทุนโดยตั้งเป้าในการระดมเงินบริจาคประมาณ 3 ล้านบาทค่ะ เพื่อนำเงินจำนวนนี้ไปช่วยเหลือเรื่องส่งเสริมคุณภาพชีวิตพื้นฐาน การฝึกอาชีพ ฝึกทักษะ อย่างเช่นเรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้าของใช้ ให้ผู้หญิงที่ศูนย์ฯ สามารถสร้างรายได้ในอนาคตด้วยตัวเอง ก่อนที่จะมาร่วมงานกับ UN Women แพรได้ริเริ่มโครงการชื่อ “The Invisible Path” เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กสาวมองหาเส้นทางชีวิตของตนเอง การร่วมงานกับ UN Women จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ใช้ศักยภาพและความสามารถ ในการทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ โดยไม่มีข้อจำกัดทางเชื้อชาติ ให้ทุกคนมีสิทธิและโอกาสในการได้รับความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน อีกสิ่งแพรคิดว่าเรื่องสุขอนามัยก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าพวกเค้าได้รับความรู้ จะยิ่งช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เยอะมาก เป็นการยกระดับมาตราฐานชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป ปัญหานั้นมีอยู่ทั่วโลกค่ะ อย่างเช่นในเมืองไทยก็มีอยู่มากมายเช่นกัน แพรเคยได้ไปสัมผัสด้วยตัวเอง เพราะแพรชอบไปวัดทำบุญ ติดกับจังหวัดตากเป็นแนวชายแดน มีวัดหลายวัดที่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบความลำบาก อาทิ เด็กยากไร้ที่พ่อแม่ติดเชื้อเอชไอวี และติดยาเสพติด ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกนำมาฝากวัด พอหน้าหนาวเสื้อผ้าเครื่องใช้สอยไม่เพียงพอ บางครั้งแพรเห็นภาพผ้าห่มผืนเดียวใช้ห่มมัดให้ความอบอุ่นกับเด็กถึง 3 คน แพรอยากทำประโยชน์ตรงนี้ เพราะทุกปีโรงงานของเราทำผ้าขายเมืองนอก เราได้ผ้าคืนมาและไม่มีที่ระบายผ้า แพรคิดว่าเอาผ้าส่วนนี้ นำมาให้ผู้หญิงที่อยู่ในอำเภอแม่สอดที่มีฝีมือในการเย็บผ้า เพียงแต่พวกเค้ายังตัดเย็บได้ขั้นพื้นฐานในวิถีแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน เย็บกระโปรง กระเป๋าย่ามใช้งาน พวกเธอไม่รู้วิธีการทำตลาด เมื่อเย็บแล้วจะนำไปประกอบธุรกิจได้อย่างไร แพรและทีมคุยกันประเมินความสามารถในความช่วยเหลือ เราคิดจะเอาจักรเย็บผ้าที่ทันสมัยขึ้นไปเสริมและทีมช่างที่พร้อมจะสอนวิชาพวกเค้าได้ ไม่ใช่เพียงพวกเค้าจะได้มีอาชีพดูแลตัวเองและครอบครัวในระยะยาวเท่านั้น แต่เด็กๆ ก็ยังได้มีเสื้อผ้าอุ่นๆ ใช้หน้าหนาวกันอีกด้วย พอได้มีการพูดคุยแชร์ไอเดียกันมันสามารถต่อยอด และเห็นถึงศักยภาพของเราและบริษัทที่จะทำได้ แต่ถึงอย่างไร เราก็ยังคงไว้ซึ่งความเป็นตัวตน โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนตัวเอง ที่จะทำให้ยากเกินศักยภาพของเรา และภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เราจะมีการจัดงานกาล่าดินเนอร์เพื่อส่งมอบเงินบริจาค และขอบคุณผู้บริจาคอย่างเป็นทางการ รวมถึงในอนาคตยังมีอีกหลายโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงในเรื่องสิทธิและความเสมอภาคด้วยค่ะ แต่คิดว่าโปรเจ็กต์ช่วยเหลือผู้หญิงที่แม่สอด จังหวัดตาก จะเริ่มภายหลังจากโปรเจ็กต์ช่วยเหลือศูนย์อเนกประสงค์สำหรับผู้หญิง (Multi-Purpose Women’s Centre) คอกส์บาซาร์ ประเทศบังคลาเทศค่ะ”
ส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่ตระหนักถึงการสร้างแบรนด์ ไม่ใช่เก๋เพียงอย่างเดียว
“สำหรับแพร การสร้างแบรนด์อะแวร์เนสในวงการแฟชั่น อินดัสทรี แพรต้องการส่งเสริมเรื่องนี้ โดยเป็นตัวอย่างให้เด็กรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงการสร้างแบรนด์ ไม่ใช่มีความคิดเพียงต้องการทำให้เก๋เพียงอย่างเดียว ควรสามารถต่อยอดสร้างอาชีพให้คนที่เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแล นอกจากนี้ยังส่งต่อแรงบันดาลใจและส่งเสริมช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย แม้ผู้คนที่รอความช่วยเหลือจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจก็ตาม แต่สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นมนุษย์ หากแต่อีกสิ่งของความเสมอภาคทางอาชีพ นั่นคือ การเคารพในอาชีพไม่ว่าเค้าเหล่านั้นทุกคนจะอยู่ในอาชีพใดก็ตาม แพรว่ามันสำคัญมาก การใช้คำสุภาพแสดงถึงการเคารพในคุณค่าของความเป็นคนด้วยกัน มันคือความเสมอภาคทั้งความเป็นมนุษย์และอาชีพค่ะ”
เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น
“สำหรับเป้าหมายของแพรคือการไม่หยุดค่ะ ไม่ใช่ทำโปรเจ็กต์เดียวแล้วจบไป ความมุ่งมั่นที่ต้องการส่งเสริมพลังผู้หญิง แพรคิดว่าผู้หญิงถ้าต้องการจะทำอะไรทำได้ทุกอย่าง เพียงแต่ด้วยเคาว์เจอร์ของไทยเรา ผู้หญิงต้องเป็นช้างเท้าหลัง แต่ในความคิดของแพรที่จริงไม่จำเป็นนะ เพราะผู้หญิงมีศักยภาพทำได้ทุกอย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับผู้ชาย การช่วยขับเคลื่อนให้ผู้หญิงทั่วโลกสามารถแสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจของตัวเอง พร้อมส่งเสริมผู้หญิงให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค และให้ผู้หญิงมีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั้น เป็นความตั้งใจของแพรที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ กลุ่มผู้หญิงที่เราช่วยเหลือก็จะกว้างขึ้นเรื่อยๆ”
รูปแบบของเงินที่จะเข้ามาสู่โปรเจ็กต์
“จะไม่มีรูปแบบตายตัวค่ะ โปรเจ็คต์จะมีความหลากหลายในการระดมทุน แพรกำลังมีอีกโปรเจ็กต์ที่กำลังจะเข้าไปคุย ซึ่งเป็นของออฟฟิตแพรเองที่กำลังอยากทำ อยากจะบรอดแคสต์เรื่องความเท่าเที่ยมในการทำงาน ผู้หญิงหลายคนมีความคิดต่อการเดินทางไปต่างประเทศ ด้วยมีความเชื่อที่ว่าถ้าได้เดินทางไปต่างประเทศแล้ว จะได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้ค่าแรงตอบแทนเยอะขึ้น ได้สามีต่างชาติที่ดูแลคุ้มครองปกป้อง แต่ 50% ที่โชคดี และอีก 50% อาจจะไม่ได้รับความโชคดีแบบนั้น แต่กลับโดนทำร้ายหรือไม่ก็โดนยาและไม่สามารถออกมาพูดได้ แพรอยากจะช่วยบรอดแคสต์การไม่ถูกล่อลวง ถ้าเราใช้กระบอกเสียงของเราในวงการแฟชั่นหรือสื่อที่เรามี นำเสนอให้น่าสนใจ ให้เป็นอีกช่องทางช่วยให้เข้าใจและระวังตัวในการประกอบอาชีพ ดีกว่าไปแก้ไขที่ปลายเหตุ”
หัวใจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“ทีมช่างของ VATANIKA เราอยู่ด้วยกันมานานค่ะ เป็นครอบครัวเดียวกันดูแลซึ่งกันและกัน สมาชิกทีมเราผู้หญิงล้วน ต่างตื่นเต้นกับโปรเจ็กต์ที่เราได้ร่วมกับ UN Women เป็นอย่างมาก และพวกเค้าก็เข้าใจโกลด์ที่เราจะร่วมเดินทางไปให้ถึงจุดหมายด้วยกันค่ะ”
UN Women
เป็นองค์กรที่มุ่งส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศของผู้หญิงอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้ผู้หญิงและเด็กหญิงมีความเสมอภาค และได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง โดยมีพันธกิจสำคัญในการดำเนินงาน 5 ด้าน ได้แก่ 1) การเพิ่มบทบาทการเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมของผู้หญิง 2) การยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง 3) การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานเกี่ยวกับวาระด้านผู้หญิง สันติภาพ และความมั่นคง 4) การเพิ่มพลังทางเศรษฐกิจของผู้หญิง และ 5) การส่งเสริมให้ความเสมอภาคระหว่างเพศเป็นประเด็นสำคัญในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น นอกจากนี้แนวทางการดำเนินธุรกิจที่เล็งเห็น สนับสนุน สร้างสภาพแวดล้อม และดึงเอาศักยภาพที่แท้จริงของผู้หญิงออกมา ช่วยให้สังคม ผู้บริหาร ตระหนักถึงประเด็นท้าทายในสถานที่ที่ทำงาน ร่วมวางแผนแก้ไขและพัฒนาคุณภาพชีวิตทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร อาทิ 1) มีผู้หญิงในตำแหน่งระดับผู้บริหารเพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียม ซึ่งไม่ใช่การการสืบทอดธุรกิจ 2) ทบทวนค่าตอบแทนผู้บริหารหญิงให้เท่ากัน รวมถึงผลตอบแทนอื่นๆ ไม่ให้เหลื่อมล้ำ 3) ให้หลักประกันว่าผู้หญิงกลับเข้าทำงานหลังจากการหยุดพักงาน ไม่ว่าจะลาคลอด หรือลาผ่าตัด 4) เพิ่มแผนประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงสุขภาพของผู้หญิงในทุกมิติ โดยเฉพาะระบบภายในของผู้หญิง 5) ประเมินเนื้อหาโฆษณาและการตลาด สำหรับความเสมอภาคทางเพศก่อนเผยแพร่ ให้มั่นใจว่าไม่มีเนื้อหาเหยียดเพศหรือเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ 6) รับประกันความปลอดภัย และสวัสดิภาพในที่ทำงานและหลังเลิกงาน เวลาวิกาล เช่นจัดรถรับส่งสำหรับพนักงานหญิงที่ทำงานกะดึก 7) ซื้อเสาะหาผลิตภัณฑ์ หรือแหล่งกำเนิดของผลิตที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของ หรือแหล่งที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเป็นผู้รับรายได้ตรง
การเข้าเป็นภาคีลงนามใน WEPs แล้ว คุณมณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการองค์การสหประชาชาติและ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก พร้อมด้วย คุณวิปัญจิต เกตุนุติ ผู้ประสานงาน UN Women ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน และคุณมณฑิรา ได้กล่าวถึง การร่วมลงนามในครั้งนี้ว่า “UN Women ได้เล็งเห็นความมุ่งมั่นของคุณวทานิกา ในฐานะผู้ก่อตั้ง วทานิกา กรุ๊ป ในการร่วมเป็นผู้สนับสนุนการระดมทุนช่วยเหลือ ให้กับ “ศูนย์อเนกประสงค์ (Multi-Purpose Women’s Centre) สำหรับผู้หญิงในประเทศบังคลาเทศ เพื่อให้ผู้หญิงทุกช่วงวัยได้มีความคล่องตัวในการดำเนินการฝึกอบรมอาชีพ โภชนาการ การกินอยู่อย่างปลอดภัย และเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ภัยพิบัติของตนเองและครอบครัว รวมถึงสอนทักษะชีวิตด้านอื่นๆ บริเวณศูนย์ฯ ที่อยู่ท่ามกลางเนินทรายผืนกว้าง แออัดด้วยผู้ลี้ภัยหลายครัวเรือน ที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือจากเพื่อนมนุษย์ทั่วโลกด้วยแววตาแห่งความหวัง จนถึงปัจจุบันทาง UN Women ได้ให้ความช่วยเหลือพร้อมฝึกทักษะชีวิต และฝึกให้ผู้หญิงได้มีอาชีพเลี้ยงตัวอย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรีไปแล้วกว่า 17,000 คน และ ‘คุณวทานิกา’ จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ UN Women สามารถขยายความช่วยเหลือไปยังผู้หญิง และเด็กหญิงอีกหลายหมื่นคนให้มีอาชีพติดตัว สร้างกำลังทางเศรษฐกิจของผู้หญิง ให้ผู้หญิงได้ยืนหยัดอย่างแข็งแกร่ง ลดความเหลื่อมล้ำในครอบครัวและสังคม ลดการพึ่งพา ส่งเสริมให้ได้ใช้เสียงในการเสนอความคิดเห็นของตนเองอย่างเสรี พลังหญิงที่ได้มีวิชาชีพด้วยการตัดเย็บเสื้อผ้า พวกเธอมีความภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น เสื้อผ้าสีสันที่ถูกปกคลุมภายใต้ชุดดำที่เผยให้เห็นเพียงดวงตาที่พวกเธอเย็บขึ้นด้วยสองมือ ความช่วยเหลือและการศึกษาที่ได้รับการหยิบยื่น ได้จุดประกายความหวังใหม่ให้กับพวกเธอ รวมถึงการฝึกอบรมตำรวจหญิง 24 ชั่วโมง เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของทุกคนในค่ายผู้ลี้ภัยที่บังคลาเทศ”
พวกเราทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมอบความช่วยเหลือสตรี ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ผ่านการบริจาคกับ UN Women ได้ทาง https://www.simplygiving.com/vatanikaforunwomen
Photo Credit: UN Women/Allison Joyce
UN Women Asia and the Pacific