รู้จักวันเหมายัน ประเทศซีกโลกเหนือเข้าสู่ “ฤดูหนาว” ซีกโลกใต้เข้าสู่ “ฤดูร้อน”
วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) หรือ Winter Solstice เป็นวันที่ช่วงกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ประเทศในแถบซีกโลกเหนือถือให้เป็นวันที่ย่างเข้าสู่ “ฤดูหนาว” ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ “ฤดูร้อน”
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่าเป็นวันที่ (ดวงอาทิตย์จะขึ้น) ทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และ (ดวงอาทิตย์ตก) ทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงกลางวันสั้นและช่วงกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ส่วนประเทศไทยเรา เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ตะวันอ้อมข้าว” และสำหรับในปี 2562 ตรงกับ วันที่ 22 ธันวาคม 2562 โดยในวันนี้ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06.36 น. และตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 17.56 น. (เวลากรุงเทพฯ) รวมระยะเวลากลางวัน 11 ชั่วโมง 20 นาที
ซึ่งโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ในรอบหนึ่งปี โลก จึงมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) และช่วงไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะทางใกล้-ไกล ในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์แล้ว ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก จึงไม่มีผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด แต่การที่แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา จากแนวตั้งฉากของระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจึงรับแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน ส่งผลให้ระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ใน “ฤดูร้อน” เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนใน “ฤดูหนาว” เวลากลางคืนจะยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว
ซึ่งผู้คนในประเทศอังกฤษ รวมถึงกลุ่ม ลัทธิ “ดรูอิด” ที่เชื่อในเรื่องภูตผี จิตวิญญาณ นับถือเทพเจ้า และธรรมชาติ มีความเชื่อที่เกี่ยวพันธ์กับปรากฎการณ์ทางธรรมชาตินี้ ว่าในยุคโบราณ เมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว สโตนเฮนจ์เป็นศูนย์กลางที่ใช้ประกอบพิธีกรรมตามลัทธิความเชื่อของพวกเขา และจะไปชุมนุมกันที่สโตนเฮนจ์ อนุสรณ์สถานยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทางตอนใต้ของประเทศ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
ที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ | ฺBBC Thai