‘วทันยา อมตานนท์’ เปิดคาเฟอัตโนมัติ “เต่าบิน” หอมฟิน 24 ชั่วโมง
ตลาดตู้กดสินค้าอัตโนมัติเติบโตสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ย่อมหนีไม่พ้นแบรนด์ “เต่าบิน” ที่เหมือนยกร้านกาแฟมาอยู่ในตู้ ขนาดเพียง 1 ตารางเมตร ให้ลูกค้าเลือกเครื่องดื่มอย่างเพลิดเพลินได้กว่า 170 เมนู ทั้งเมนูร้อน เมนูเย็น และเมนูปั่น โดยเลือกระดับความหวาน หรือเพิ่มชอตพิเศษก็ได้ ด้วยรสชาติระดับพรีเมียมราวกับมีบาริสตามาชงให้เอง ทำให้เต่าบินครองใจผู้คนได้อย่างรวดเร็ว
“เต่าบิน” เป็นธุรกิจล่าสุดของ บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด บริษัทในเครือ บมจ. ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น โดยวางตัวเองเป็น “คาเฟอัตโนมัติ” ที่มี “บาริสตาบอต” เป็นผู้ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีของเต่าบินได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจตู้ขายเครื่องดื่มไปอย่างสิ้นเชิง ความละเอียดของระบบเครื่องภายในที่บริษัทเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมเอง 100% โดยมีกลไกที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว 30 – 50 สิทธิบัตร กลายเป็นจุดแข็งแกร่งเสริมศักยภาพให้กับตู้เต่าบิน ที่ คุณวทันยา อมตานนท์ ในฐานะ Chief Product Officer ถึงกับกล่าวติดตลกว่า “เพราะใช้ชื่อเล่นของผู้ก่อตั้งบริษัท (คุณพงษ์ชัย อมตานนท์) มาเป็นชื่อแบรนด์ เราจึงต้องทำให้ธุรกิจอยู่รอดให้ได้”
ธุรกิจตอบโจทย์ชีวิตคนรุ่นใหม่
โมเดลธุรกิจเต่าบิน เกิดขึ้นด้วยการเล็งเห็นการเติบโตของธุรกิจตู้กดอัตโนมัติ ที่ค่อย ๆ เปลี่ยนพื้นที่จากร้านขายของเป็นเครื่องจักรมากขึ้น สินค้าจากเดิมที่มักเป็นเครื่องดื่มกระป๋อง ขนมขบเคี้ยว เริ่มเป็นสินค้าราคาสูงขึ้น ที่สำคัญ ค่าแรงที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ประกอบการต่างมองหาธุรกิจที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่ม ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตแบบ 24 ชั่วโมงมากขึ้น ทำให้ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติมีแนวโน้มที่สดใส
แต่ใช่ว่าอยู่ ๆ เต่าบินจะสามารถผลิตตู้ขายเครื่องดื่มอัจฉริยะนี้ขึ้นมาได้ทันที ตรงกันข้าม ทีมวิศวกรของบริษัทต้องใช้เวลา 2 – 3 ปี ในการพัฒนาระบบและกลไกเคลื่อนไหวต่าง ๆ จนล้ำหน้ากว่าตู้กดจากต่างประเทศ ที่นำมาใช้ในช่วงเริ่มต้น โดยสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนการสั่งเครื่องดื่มในร้านขายเครื่องดื่มทั่วไป ตลาดเครื่องดื่มจึงเปิดรับคาเฟ่อัตโนมัติแห่งนี้อย่างอบอุ่น โดยตู้มียอดขายสูงสุดอย่างน้อยถึง 200 แก้วต่อตู้ต่อวัน เลยทีเดียว
“เดิมทีเราทำธุรกิจตู้ขายน้ำกระป๋องก่อน แต่เนื่องจากเราไม่ใช่ผู้ผลิตเครื่องดื่มเอง จึงได้กำไรค่อนข้างน้อย เลยคิดว่างั้นมาลองทำเครื่องดื่มที่ชงได้เองในตู้เป็นแบรนด์เราเอง โดยตอนแรกเอาตู้จากต่างประเทศเข้ามาทดสอบการขาย เห็นว่ามีช่องทางทำกำไรได้ แต่ตัวตู้มีปัญหามากมายโดยเฉพาะเรื่องความชื้นที่ไม่เหมาะกับภูมิอากาศในบ้านเรา จึงเริ่มพัฒนาเครื่องเอง แก้ปัญหาไปทีละนิด จนกลายเป็นว่าเราสามารถทำให้เครื่องทำงานได้อิสระมากขึ้น สามารถชั่งน้ำหนักส่วนผสม เช่น น้ำตาล ผงนมได้ ตอบโจทย์การสั่งซื้อได้มากขึ้น แล้วพัฒนามาเรื่อยจนเป็นที่มาของ 170 เมนู ที่ชงด้วยระบบหุ่นยนต์อัจฉริยะของเต่าบินในปัจจุบัน”
เติมความอร่อยในใจลูกค้า
รายละเอียดต่าง ๆ ของเครื่องดื่มภายในแก้ว ที่มีโลโก้ภาพเต่าน้อยแหวกกระดองส่งยิ้มน่ารักน่าเอ็นดูนั้น ผ่านกระบวนการคิดในแบบ “design thinking” มาอย่างดี ตั้งแต่ชื่อแบรนด์และโลโก้ที่อยากให้ผู้บริโภครู้สึกสะดุดตา เกิดความอยากรู้อยากเห็น จนต้องเข้ามาลองสัมผัสกับรสชาติเครื่องดื่ม “เต่าบิน”
“เหตุผลที่เราใช้ชื่อนี้ในทางธุรกิจคือ ความจริงแล้วกาแฟแต่ละแก้วที่ออกจากตู้ เราจะทำให้เสร็จภายใน 5 วินาทีเลยก็ได้ แต่เราไม่ทำ เพราะจุดพีกของความอร่อยต้องปล่อยน้ำให้ไหลผ่านผงกาแฟอย่างน้อย 20 วินาที เลยช้าเป็นน้องเต่าหน่อยหนึ่ง แต่รับรองได้ว่าดื่มแล้วจะอร่อยเหาะเป็นเต่าบิน” คุณวทันยาอธิบายอย่างออกรส พร้อมเล่าถึงเหตุผลที่เต่าบินมีเมนูให้เลือกมากมาย ตั้งแต่ชา กาแฟ นมสด โกโก้ น้ำโซดา ไปจนถึงเมนูอินเทรนด์อย่าง โปรตีนเชก และที่คาดไม่ถึงอย่างกาแฟกลิ่นวิสกี้ อเมริกาโนกัญชา ฯลฯ
“เราตั้งใจให้เต่าบินตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกไลฟ์สไตล์ เช่น น้ำขิงร้อนสำหรับผู้สูงอายุ เวย์โปรตีนสำหรับผู้ออกกำลังกาย มีตัวเลือกระดับความหวานสำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญกับปริมาณน้ำตาล ส่วนเมนูแปลก ๆ เช่น กาแฟกลิ่นวิสกี้ เกิดจากการดูเทรนด์ผู้บริโภคว่านิยมอะไรกัน ต้องยอมรับว่าผู้บริโภคชาวไทยมีความรู้เรื่องกาแฟมากขึ้น เราก็อยากนำเมนูแปลกใหม่มาเป็นจุดเด่นของเต่าบิน นำเสนอเทรนด์เครื่องดื่มให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น”
นอกจากนี้ เครื่องดื่มแต่ละแก้วที่ออกจากตู้เต่าบิน ยังต้องผ่านชิ้นส่วนกลไกภายในเครื่องถึง 7,000 ชิ้น เพื่อให้ได้รายละเอียดตามการกดสั่ง ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมอัจฉริยะนี้ คือทีมวิศวกรขนาดใหญ่ที่ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการพัฒนา จนกลายเป็นข้อได้เปรียบในตลาดตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ ด้วยความสามารถที่ไม่ได้มีเฉพาะความหลากหลายของเมนู แต่ยังเป็นการบำรุงรักษาที่ตู้เต่าบินมีระบบทำความสะอาดเองภายในระดับหนึ่งแล้ว
“อื้อหือแฟกเตอร์” กลยุทธ์กดเพลิน ๆ
นับจากวันเริ่มเปิดตัวในปี 2562 สิ่งที่เต่าบินให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ความคุ้มค่าที่ผู้บริโภคจะได้รับในราคาที่จับต้องได้ กับเรื่องของรสชาติและความสม่ำเสมอ “ปัจจัยสร้างความสำเร็จของเรา คือการมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า อย่างกาแฟสเปเชียลที่เต่าบินขายในราคาแก้วละ 50 – 60 บาท เรากล้าพูดได้เต็มปาก ว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะซื้อในราคาเดียวกันนี้จากที่อื่น ส่วนเรื่องรสชาติ เครื่องดื่ม เรามีบาริสตาระดับมือรางวัลมาเป็นที่ปรึกษา เราละเอียดกับการชั่งตวงวัดแม้แต่กับเรื่องอุณหภูมิของน้ำและแรงดันไอน้ำ เพราะอยากให้ถูกปากคนส่วนใหญ่ในราคาที่เข้าถึงได้ ดื่มได้ทุกวัน มากี่ครั้งความอร่อยต้องคงเดิม ในยุคอินเทอร์เน็ตที่ผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย หากเราอยากเป็นตัวเลือกของเขา เราก็ต้องมีอะไรพิเศษขึ้นมาระดับหนึ่ง เขาต้องมาซื้อเราได้เรื่อย ๆ โดยทำเครื่องดื่มให้ตอบโจทย์จุดนั้น”
คุณวทันยาย้อนความหลังถึงช่วงแรกของการเปิดตัวตู้เต่าบินตามจุดต่าง ๆ เช่น ใต้อาคารสำนักงาน หอพัก ธนาคาร คอนโดมิเนียม และโรงพยาบาล ว่าสิ่งที่กังวลมากที่สุดคือการรับรู้ (perception) ของคนที่จะมากดซื้อกาแฟ เพราะคนมักคิดว่ากาแฟตู้ไม่อร่อย แต่หลังจากเริ่มเห็นว่ามีลูกค้ามากดซื้อ ซึ่งเธอก็มีโอกาสไปยืนเฝ้าสังเกตการณ์ด้วย ก็เริ่มสบายใจว่าเต่าบินน่าจะไปได้ดี
“เรามั่นใจว่าถ้าดื่มแล้วเขาจะรู้ว่าทำไมควรจะราคานี้ เพราะเราเลือกใช้แต่ของพรีเมียม คิดว่าต้องขายได้แน่ แต่ไม่คิดว่ากระแสจะแรงขนาดนี้ เราไม่ใช้อินฟลูเอนเซอร์ในการประชาสัมพันธ์แบรนด์เลย เป็น organic marketing ล้วน ๆ พอเริ่มชนะความคาดหวังของลูกค้าได้ มันก็เกิด ‘อื้อหือแฟกเตอร์’ แบบปากต่อปาก” อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่าผู้บริโภคทุกวันนี้เบื่อง่าย การจะสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ เต่าบินจึงต้องปรับตัวอยู่เสมอ
“อย่างน้อยสิ่งที่เราทำอยู่แล้วคือเปลี่ยนเมนูให้เข้ากับความนิยม มีการนำเสนอเมนูสเปเชียลตามเทรนด์เครื่องดื่ม โดยเฉพาะช่วงโควิด 19 ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า เมื่อโลกเปลี่ยนไป ผู้บริโภคก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตตามโลก เราจึงต้องปรับตัวให้ทันกับผู้บริโภคด้วย ซึ่งข้อดีของตู้เต่าบินคือเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เราปรับเปลี่ยนอะไรได้ง่าย อย่างเรื่องเมนูทุกอย่างมันออนไลน์ ทำให้เรามีข้อมูลเพียงพอที่จะทราบว่าลูกค้าเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ความเป็นตู้ยังทำให้เราโยกย้ายและเปลี่ยนพื้นที่ได้ทุกเมื่อ ดังนั้น การปรับตัวให้เร็วจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำธุรกิจยุคนี้”
ขยายพื้นที่ส่งต่อความฟิน
ปัจจุบันเต่าบินมีตู้ให้บริการ 800 ตู้ กระจายอยู่ตามห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ กว่า 90% ขณะที่ต่างจังหวัดเริ่มขยับขยายไปที่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ บ้างแล้ว โดยมีแผนขยายบริการในปีนี้ให้ได้กว่า 3,500 ตู้ และอย่างน้อย 20,000 ตู้ทั่วประเทศภายใน 3 ปี
“โลเคชันที่เรานำตู้ไปวางต้องมีคนสัญจรไปมาตลอดเวลา ถ้าเป็นสถานที่เปิด – ปิดเป็นเวลา อย่างน้อยก็ต้องมีคนเห็นตู้ 500 คน เพราะเราตั้งใจให้ตู้ขายได้ 50 แก้วต่อวัน ส่วนเมนูจะไหวตัวตามผู้บริโภคและตามช่วงเวลาหรือฤดูกาลไปเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนี้ทุกตู้ยังค่อนข้างมีเมนูเหมือนกัน แต่เราเริ่มปรับไม่ให้เหมือนกันแล้ว เช่น ที่โรงพยาบาลจะมีการทดสอบขายโจ๊ก เพื่อให้คนมีอะไรรับประทานตอนดึก ๆ ส่วนในโรงงานอาจไม่มีพวกกาแฟสเปเชียลหรือเวย์โปรตีนขาย เพราะคนไม่ค่อยดื่มกัน แต่เน้นน้ำโซดาให้มากขึ้น นอกจากนี้เรายังกำลังพัฒนาตู้อีกเวอร์ชันที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ใส่วัตถุดิบได้มากขึ้น โดยมีฟังก์ชันขายขนมชิ้นเล็ก ๆ อย่างคุกกี้ผูกไปกับกาแฟด้วย” Chief Product Officer แบรนด์เต่าบิน กล่าวต่อไปว่า โมเดลธุรกิจตู้เต่าบินจะเน้นการนำตู้ไปวางในลักษณะการเช่าพื้นที่ ไม่มีระบบแฟรนไชส์ แต่จะมีระบบตัวแทนซึ่งต้องนำตู้ไปอย่างน้อย 50 ตู้โดยมีข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่อรักษาคุณภาพมาตรฐานบริการ และการบำรุงรักษา
“เนื่องจากตู้มีความละเอียดอ่อน ต้องควบคุมมาตรฐานให้ดี จึงไม่อยากรับตัวแทนที่มองเต่าบินเป็นรายได้เสริม เราต้องการคนที่จริงจัง มีความตั้งใจทำเต่าบินเป็นอาชีพหลัก ที่สำคัญคือ เต่าบินจะไม่มีการขายตู้ แต่มีความเป็นไปได้ในการทำ co-branding จำหน่ายสินค้าให้กับแบรนด์อื่น เช่นที่ทำอยู่ทั้งกับโค้กและเป๊บซี่” คุณวทันยายังกล่าวเพิ่มเติม ถึงการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศว่า เริ่มมีการพูดคุยกันบ้างแล้วคือประเทศอังกฤษ แต่เนื่องจากมาตรฐานในยุโรปมีกฎระเบียบค่อนข้างมาก จึงต้องใช้เวลาในการเดินเรื่องอยู่บ้าง จึงอาจง่ายกว่าหากเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
“เราตั้งใจไปต่างประเทศให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่การไปต่างประเทศ เราก็ต้องพัฒนาเมนูให้เหมาะกับประเทศที่เราจะไป และต้องพัฒนามาตรฐานของตู้ให้ดีขึ้นอีกนิด เพราะในประเทศ หากตู้เสียเราส่งช่างไปซ่อมได้ง่าย แต่ต่างประเทศก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขณะเดียวกันก็มีเรื่องการจดสิทธิบัตรในประเทศต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการ จึงต้องเตรียมความพร้อมอีกนิดก่อนจะเริ่มส่งตู้ออกไปนอกประเทศ”
ทั้งนี้จากรายงาน “Vending Machine Market: Global Opportunity Analysis and Industry Forecast, 2021–2027”1 จัดทำโดย Allied Market Research หน่วยวิจัยของ Allied Analytics LLP บริษัทที่ปรึกษาทางการตลาดในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในปี 2570 ตลาดตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทั่วโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 2.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 6.7% ในระหว่างปี 2564 – 2570 และคาดว่าตั้งแต่ปี 2562 – 2570 ตลาดตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ จะมีศักยภาพในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 6.97 พันล้านเหรียญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตู้เต่าบินยังสามารถบินสูงกว่าในปัจจุบันได้อีกในอนาคต
ที่มา : https://www.alliedmarketresearch.com/vending-machine-market-A09486
——————————————————————–
เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ BOT พระสยาม MAGAZINE
ที่มา : BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม – มีนาคม 2565